อาหาร กับ สุขภาพ

สารอาหารกับผู้ป่วยมะเร็ง

Views

คาร์โบไฮเดรต
• ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
• ไม่รับประทานอาหารที่มีค่า glycemic index (ดัชนีน้ำตาล) มากเกินไป
• รับประทานข้าวเป็นหลัก สลับกับขนมปังหรือก๋วยเตี๋ยวบ้างแล้วแต่ความเหมาะสม

โปรตีน
• รับประทานโปรตีน 1.5-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
• รับประทานโปรตีนจากแหล่งโปรตีนคุณภาพดี
• ผู้ที่รับทานมังสวิรัติควรได้รับแหล่งโปรตีนจากพืชที่หลากหลาย โดยควรจะรับประทานธัญพืชทุกวัน โดยมีถั่วเหลืองยืนพื้น แล้วเลือกธัญพืชอื่นประกอบสลับกันไปในแต่ละวัน บางกรณีอาจควรได้รับวิตามินบี ในรูปแบบเม็ดเพื่อเสริมวิตามินบี

ไขมัน
• ไขมันเป็นอาหารหมวดที่ควรให้ความระมัดระวังที่สุด รับประทานน้อยที่สุด
• หลีกเลี่ยงอาหารทอด ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ
• ใช้กรดไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง โดยเฉพาะกลุ่ม omega-3

ผักและผลไม้
• ผักและผลไม้ มีสารสำคัญช่วยต้านมะเร็งหลากหลาย ควรรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 3 ส่วน หรือ 210 กรัม/วัน ขึ้นไป ยกเว้นแต่ในบางกรณี โดยควรคำนึงถึงค่า glycemic index เสมอ

สารสำคัญป้องกันมะเร็ง

Isothiocyanates
• สารเหล่านี้พบมากในพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี คะน้า เป็นต้น
• สารที่พบ benzyl isothiocyanate และ phenethyl isothiocyanate มีข้อมูลในสัตว์ทดลองป้องกันมะเร็ง กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร เต้านม ปอด ตับ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ
• สารที่พบ Sulforaphane ซึ่งมีปริมาณสูงในบร็อคโคลี มีศักยภาพยับยั้งมะเร็งบางชนิดเช่น เต้านม ปอด เป็นต้น

Indoles
• สารเหล่านี้พบได้ในพืชตระกูลกะหล่ำ มีรายงานในการวิจัยในมนุษย์ว่าสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเต้านมได้ และมีงานวิจัยกว่าถึงเซลล์มะเร็งเต้านมที่ได้รับการให้ยา tamoxifen ร่วมกับ สาร indoles มีฤทธิ์ยับยั้งวงจรชีวิตเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าได้รับยา tamoxifen อย่างเดียว

Organosulfur compounds
• สารกลุ่มนี้พบในกระเทียม-หอม กลไกการยับยั้งเซลล์มะเร็งยังไม่แน่ชัด แต่พบว่ามีความสามารถในการป้องกันมะเร็งระบบทางเดินอาหารได้ โดยเฉพาะสาร diallyl disulfide สามารถยับยั้งมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งตับได้

Beta-carotene
• เป็นสารสีเหลืองพบมากใน แครอท ฟักทอง มะละกอสุก มันเทศ มะม่วงสุก แคนตาลูปเป็นต้น โดยมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานถึงผู้ที่มีระดับเบต้าแคโรทีนในเลือดสูง มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดน้อยกว่าผู้มีระดับต่ำ แต่พบว่าเบต้าแคโรทีนสกัดจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งลุกลามได้มากขึ้น

Curcumin
• เป็นสารสีเหลือง พบในพืชตระกูลขมิ้น โดยการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งได้หลายอวัยวะ เช่น ผิวหนัง ลำไส้ ตับ แต่ไม่พบผลป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในหนู อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามข้อมูลงานวิจัยในคนต่อไป

Lycopene
• พบมากในมะเขือเทศ องุ่นแดง แตงโม ฝรั่ง สตรอเบอร์รี่  โดยพบมากที่สุดในมะเขือเทศ อย่างไรก็ตามร่างกายจะสามารถดูดซึมไลโคปีนได้ดีสุดเมื่อผ่านกระบวนการปรุงสุก โดยพบว่าสารนี้มีฤทธิ์ในการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนในมะเร็งอื่นๆ ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจน

Isoflavones (genistein)
• พบในถั่วเหลือง ซึ่งถั่วเหลืองยังมีสารต้านมะเร็งหลายชนิด อาทิ genistein, daidzein, lignans, protease inhibitors, phytosterol, saponin และ phytic acid เป็นต้น
• การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าการรับประทานอาหารแบบเอเชียที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ มีความสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการเป็นมะเร็งหลายชนิด จึงมีผู้สรุปว่าถั่วเหลืองและสารเคมีในถั่วเหลือง สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ถ้ารับประทานตังแต่ช่วงเข้าวัยรุ่น
• กลไกการป้องกันการเกิดมะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งยังไม่ทราบแน่ บางกรณีเชื่อว่ากลไกมาจากการออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือผ่านกระบวนการต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือกระบวนการยับยั้งที่ DNA มะเร็ง การสร้างหลอดเลือดใหม่ เป็นต้น

Monoterpenes
• พบได้ในพืชหลายชนิด เช่น สะระแหน่ ส้ม มะนาวโดยสารที่ออกฤทธิ์ที่แรงที่สุดในกลุ่มนี้คือ l-perillyl ซึ่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติของอเมริกากำลังพิจารณาเป็นสารป้องกันมะเร็งในคน โดยดูที่มะเร็งต่อมลูกหมาก เต้านม ปอด ลำไส้ และตับอ่อน เป็นต้น
ผักพื้นบ้าน
• ดอกสะเดา มะระขี้นก โดยพบว่าหนูทดลอง 21 ตัวถูกให้สารเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งตับ และได้รับสะเดาร่วมด้วยพบว่าหนูเกิดเป็นมะเร็งตับเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น จึงคาดว่าผักพื้นบ้านดังกล่าวมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดมะเร็งชนิดที่เกิดโดยการถูกเหนี่ยวนำด้วยสารเคมี

Catechin
• พบในชาเขียว โดยมีงานวิจัยทางระบาดวิทยาและหลอดทดลองพบว่าการได้รับชาเขียวจะป้องกันการเกิด มะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี ตับ ปอด โพรงหลังจมูก ตับอ่อนกระเพาะอาหาร และมดลูกได้

เอกสารอ้างอิง
www.cancer.org
Chemotherapy and you: A guide to self -help. National cancer institute [Available on., May 2007]
นรินทร์ วรวุฒิ. มะเร็งวิทยา 2 .โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2548
กมล ไชยสิทธิ์. เอกสารประกอบการบรรยายโภชนบำบัดเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ศูนย์มะเร็งมหาวชิราลงกรณ์  2550.

ขอบคุณข้อมูลจาก : feidathai

Leave a Reply