โรคผิวหนัง

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ มีอะไรบ้าง ผื่นคันแบบนี้ป่วยโรคอะไร

Views

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ มีอะไรบ้าง แล้วเกิดจากอะไร รักษาได้ไหม ลองรู้จักอาการเหล่านี้ให้มากขึ้น

          ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผิวหนังของเรา บางทีเราก็รับรู้อยู่ลึก ๆ ว่าเป็นโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ แต่จะให้บอกว่า ผื่นแดง ๆ อาการคันที่ผิวหนัง เป็นโรคอะไรนั้นก็อาจเดายากหน่อย เพราะโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อมีอยู่หลายโรคเลยทีเดียวค่ะ ดังนั้นเพื่อความรู้ในเบื้องต้น เรามาทำความรู้จักโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อกันดีกว่าว่ามีโรคอะไรบ้าง…

          ทั้งนี้เราจะแยกโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้ 

1. โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย 

          โดยปกติร่างกายของเราจะมีเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่ ที่เรียกกันว่าเชื้อเจ้าถิ่น ไม่ว่าจะในร่างกายหรือบนผิวหนังก็ตาม ซึ่งเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดโรค หรือสร้างความเดือดร้อนให้ร่างกาย จนกว่าเราจะมีบาดแผล มีรอยโรคผิวหนังอื่น ๆ อยู่ก่อน หรือมีระดับภูมิต้านทานของโรคต่ำ เจ้าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจทำให้เกิดโรคได้ และทางการแพทย์จะเรียกว่าโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งแยกเป็นโรคได้ ดังนี้ 

  * โรคแผลพุพอง (Impetigo)

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          โรคแผลพุพองเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเจ้าถิ่นที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากการที่เราดูแลสุขอนามัยได้ไม่ดี ความชื้นในอากาศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย อากาศร้อน หรือเป็นผลมาจากแผลเล็ก ๆ ที่ลุกลามจนทำให้เกิดแผลเป็นตุ่มหนองหรือตุ่มน้ำใส ก่อนแผลนั้นจะค่อย ๆ ตกสะเก็ดและก่อตัวเป็นแผลแห้งติดแน่น 

          โดยส่วนใหญ่แผลพุพองจะเกิดขึ้นที่หน้า แขน ขา และสามารถติดต่อจากแผลลามไปยังบริเวณอื่นได้จากการแคะ แกะ เกา อย่างไรก็ดีโรคแผลพุพองเกิดได้บ่อยในเด็กก่อนวัยเรียน และพบในผู้ใหญ่น้อยมาก ส่วนวิธีรักษาโรคแผลพุพองทำได้โดยใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดทา ร่วมกับการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ 

* รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis)

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          รูขุมขนอักเสบเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่รูขุมขนจนเป็นผื่นแดง ซึ่งอาจไม่แสดงอาการคันใด ๆ โดยโรคนี้มักจะพบได้บ่อยในบริเวณที่มีขนเยอะ เช่น หนวด เครา รักแร้ และมักจะหายได้เอง แต่หากมีการอักเสบที่รุนแรง จะมีตุ่มหนอง แดง และเจ็บ หรือที่เรียกกันว่าฝี และหากฝีแตกก็จะมีหนองไหลออกมา มีอาการไข้ จากการอักเสบของผิวหนัง 

          ในด้านการรักษาอาจต้องรักษาด้วยยาทาฆ่าเชื้อในระยะเริ่มต้น แต่หากเป็นแผลอักเสบ มีฝีหนอง อาจต้องผ่าระบายหนองออก และรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย 

* ผื่นผิวหนังอักเสบรูปเหรียญ (Nummular Eczema)

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          จัดเป็นโรคผิวหนังอักเสบที่มีสาเหตุจากความแห้งของผิวหนัง หรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศแห้ง นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจากแผลอื่น ๆ ที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ลักษณะอาการจะเป็นผื่นนูนหนาสีแดง เป็นขุย หรือมีสะเก็ดหนองในลักษณะรูปวงกลมคล้ายรูปเหรียญบาท และมีอาการคันร่วมด้วย ทั้งนี้จุดที่เป็นมักจะเป็นบริเวณขาส่วนล่าง แขน มือ และลำตัว หรืออาจจะเกิดบนใบหน้าได้ด้วย 

          ในด้านวิธีการรักษา แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ทาในจุดที่มีผื่นขึ้น ซึ่งการใช้ยาสเตียรอยด์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องได้ 

* ฝี

          ฝีอาจจะมีลักษณะคล้าย ๆ สิว แต่มีขนาดใหญ่กว่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ร่างกายได้รับเมื่อมีสุขอนามัยไม่ดี ประกอบกับร่างกายอ่อนเพลีย มีภูมิคุ้มกันต่ำ แบคทีเรียดังกล่าวก็จะก่อให้เกิดฝีขึ้นได้ นอกจากนี้คนที่เป็นโรคเบาหวานก็มีโอกาสเกิดฝีได้ง่ายกว่าคนทั่วไปด้วย เนื่องจากแบคทีเรียชอบกินน้ำตาลนั่นเอง 

          บริเวณที่เกิดฝีมักจะเป็นส่วนที่อับชื้น เช่น คอ ข้อพับ รักแร้ เป็นต้น ทั้งนี้ฝีจะเป็นลักษณะก้อนแดง ๆ ปวด แสบร้อน กดแล้วเจ็บ และนานวันฝีจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกระทั่งฝีแตกเอง ซึ่งโดยปกติฝีจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็จะหาย แต่หากฝีมีขนาดใหญ่มาก แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือบางเคสก็ต้องผ่าเอาหนองที่ฝีออก ซึ่งการรักษาก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์

* โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas)

          โรคไฟลามทุ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเฉพาะที่ของชั้นผิวหนัง โดยเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลัน ทำให้เกิดการอักเสบ และมีอาการบวม แดง แสบร้อน โดยอาจจะมีไข้ร่วมด้วย ทั้งนี้ลักษณะอาการที่เห็นชัดคือจะมีตุ่มแดงแล้วกระจายลามออกไปอย่างรวดเร็ว ตุ่มที่ขึ้นมีสีแดงจัด และกดเจ็บ 

          วิธีรักษาโรคไฟลามทุ่ง ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะมารับประทาน และแนะนำให้ประคบร้อนที่ผิวหนังร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม โรคไฟลามทุ่งถือเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังอย่างรุนแรง มีความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจายสู่กระแสเลือดได้ง่าย ดังนั้นควรต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

* ผิวหนังอักเสบ ชนิด Cellulitis

          ผิวหนังอักเสบชนิด Cellulitis มักพบได้บ่อยในผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งมีแผลอยู่ก่อนแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลได้ง่าย ผู้ที่มีโรคอ้วน และผู้ติดสุรา โรคนี้จะคล้าย ๆ โรคไฟลามทุ่ง แต่จะเป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อในชั้นหนังแท้ ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนัง ลักษณะผื่นจะขึ้นอย่างไม่มีขอบเขต โดยมีลักษณะแผลเป็นผื่นแดงจัด เกิดแล้วลุกลามได้อย่างรวดเร็ว กดเจ็บ และแสบร้อน นอกจากนี้ยังมักจะพบว่ามีไข้และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย 

          วิธีรักษาโรคผิวหนังอักเสบชนิด Cellulitis แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการรักษาแผลด้วยวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะโรคนี้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่กระแสเลือดได้

2. โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา

          โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อจากเชื้อราพบได้ในทุก ๆ สภาวะอากาศ โดยเฉพาะในสภาวะอับชื้น และจะพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือผู้ป่วยที่กินยาปฏิชีวนะนาน ๆ หรือกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น โดยโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อจากเชื้อรา แบ่งออกได้ ดังนี้

* เกลื้อน

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          โรคเกลื้อนเกิดจากเชื้อราที่อยู่บนผิวหนังเราตามปกติ แต่ในสภาวะผิวมันและมีความชื้นเหมาะสม เชื้อราเหล่านี้อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนสามารถก่อโรคได้ ทั้งนี้เกลื้อนมักจะเกิดขึ้นได้บ่อยในคนที่มีผิวมัน เหงื่อออกมาก ทำให้ผิวหนังมีความชื้นอยู่เสมอ 

          ลักษณะเกลื้อนจะเป็นผื่นวงเล็ก ๆ มีตั้งแต่สีขาว แดง ไปจนสีน้ำตาล มักจะขึ้นตามคาง ใบหน้า หู หน้าอก หลัง ไหล่ ต้นคอ และต้นแขน โดยผื่นจะเริ่มจากรอบรูขุมขน แล้วจึงขยายรวมกันเป็นบริเวณใหญ่ขึ้น ทั้งนี้บนผื่นเกลื้อนจะมีขุยละเอียดอยู่บนนั้น หากใช้เล็บขูดจะเห็นขุยชัดขึ้น ร่วมกับมีอาการคันเล็กน้อย

          วิธีรักษาเกลื้อนส่วนใหญ่จะรักษาด้วยแชมพูกำจัดเชื้อรา ในลักษณะทาและพอกทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จากนั้นก็ล้างออก เพราะแชมพูกำจัดเชื้อรามีฤทธิ์ค่อนข้างแรง หากพอกทิ้งไว้นานอาจระคายเคืองต่อผิวหนังได้

          –

* กลาก 

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          กลากคือโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง เล็บ และเส้นผม อันเกิดจากการใช้สิ่งของร่วมกับคนเป็นโรค ติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน หรือจากสัตว์เลี้ยง ร่วมกับมีสภาวะผิวหนังชื้น ทั้งนี้โรคกลากจะมีชื่อเรียกแยกไปตามบริเวณที่เกิดอีกด้วย คือ

          – สังคัง คือ กลากที่ขึ้นในร่มผ้า 

          – ฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า คือ กลากที่ขึ้นบริเวณฝ่าเท้า และง่ามนิ้วเท้า 

          – ชันนะตุ คือ กลากที่ขึ้นบริเวณหนังศีรษะ มีลักษณะเป็นผื่นสีเทา และมีอาการผมร่วง หัก หรือหากอักเสบมากจะมีตุ่มฝีหนอง พอฝีแห้งแล้วจะเป็นแผลเป็น

          ลักษณะกลากจะเป็นตุ่มแดง ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายออกไปเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน ตุ่มมีลักษณะนูน แดง และมีสะเก็ด ขอบผื่นอาจมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มน้ำหนอง ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและภูมิต้านทานของผู้ป่วย ทั้งนี้ผื่นอาจลามติดต่อกันหลายวงจนมีลักษณะเป็นวงแหวนซ้อนกัน และจะมีอาการคันร่วมด้วย

          ส่วนการรักษากลากแพทย์จะวินิจฉัยจากเชื้อแล้วจึงจะตัดสินใจให้ยาสเตียรอยด์ หรือยาฆ่าเชื้อราชนิดทา แต่หากมีอาการมาก แพทย์อาจสั่งยาฆ่าเชื้อราชนิดกินมาให้ด้วย 

3. โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อไวรัส

          เชื้อไวรัสมีอยู่มากมายหลายชนิด จึงไม่น่าแปลกที่อาจจะก่อให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบขึ้นได้เหมือนกัน ยิ่งเมื่อไรที่ร่างกายเราอ่อนแอ ภูมิต้านทานไม่ค่อยดี เชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในร่างกายก็จะบุกจู่โจมจนเราป่วยด้วยโรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อไวรัสได้ ซึ่งก็มีโรคดังต่อไปนี้

    *เริม

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          เริมเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักจะเป็นบริเวณปากและอวัยวะเพศ โดยเริมจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เริมที่เป็นครั้งแรก และเริมชนิดที่เป็นซ้ำ ลักษณะของเริมจะเป็นตุ่มน้ำเล็ก ๆ หลายตุ่มขึ้นเป็นกลุ่มก้อน ขนาดของตุ่มที่เกิดจะอยู่ที่ 2-3 มิลลิเมตร และอาจเกิดขึ้นเพียงครึ่งวันแล้วแตกไป หรืออาจเห็นเป็นแผลตื้น ๆ หรืออาจไม่เห็นตุ่มน้ำเลยในบางคน 

          การรักษาเริมในปัจจุบันจะรักษาด้วยยาต้านไวรัสทั้งชนิดกินและทา ขึ้นอยู่กับประเภทของเริมที่เป็นและอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ทั้งนี้การดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เครียด ก็เป็นการช่วยป้องกันการเกิดเริมได้ 

          

* อีสุกอีใส 

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

           อีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ (Varizella-zoster) โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ก่อน จากนั้นผื่นจะขึ้นใน 1 วันหลังมีไข้ ในระยะแรกผื่นจะขึ้นบริเวณไรผม ลามไปใบหน้า ลำตัว แผ่นหลัง หรือบางคนจะมีตุ่มขึ้นในช่องปากร่วมกับอาการลิ้นเปื่อย 

           ทั้งนี้ลักษณะผื่นอีสุกอีใสจะเป็นผื่นแดงราบ ก่อนจะค่อย ๆ พองเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ และค่อนข้างคัน ผ่านไปสัก 2-3 วัน แผลจะเริ่มตกสะเก็ด โดยอาการของโรคจะเป็นประมาณ 6-7 วัน ส่วนการรักษาก็ต้องรักษาไปตามอาการ หากปวดหัว มีไข้ แพทย์จะให้ยาพาราเซตามอล และห้ามไม่ให้ใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและตับจนอันตรายได้ แต่ส่วนใหญ่อีสุกอีใสจะไม่มีความรุนแรง หากไม่มีอาการแทรกซ้อนก็จะหายได้เอง แต่แม้จะหายจากอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสก็อาจแฝงตัวเนียน ๆ อยู่ในปมประสาทเรา และเมื่อร่างกายอ่อนแอ ก็จะทำให้เป็นงูสวัดได้

           อย่างไรก็ตาม โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อผ่านทางลมหายใจ และละอองตุ่มน้ำบนแผลของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจึงควรระมัดระวังในการเช็ดตัว หรือทำแผลให้ผู้ป่วย และหากสังเกตว่าตัวเองมีไข้หลังจากใกล้ชิดผู้ป่วยอีสุกอีใสไปประมาณ 10-20 วัน ก็ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน 

           – อีสุกอีใส กับความเชื่อมากมายที่เข้าใจผิดกันมานาน
* งูสวัด 

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          งูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับอีสุกอีใส ดังนั้นคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนก็มีโอกาสจะเป็นงูสวัดได้ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เครียดจัด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งแม้จะมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดียวกัน แต่อาการของงูสวัดและอีสุกอีใสค่อนข้างต่างกันนะคะ 

          – งูสวัด โรคผิวหนังจากเชื้อไวรัส ร่างกายอ่อนปั๊บ ต้องระวังเลย

* โรคหัด

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles โดยเชื้อนี้จะปะปนอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย และติดต่อกันได้ทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งหากเชื้อเข้าร่างกายไปแล้วจะฟักตัวอยู่ประมาณ 7-14 วัน จึงจะเริ่มออกอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตาแดง และเกิดผื่นขึ้นบริเวณใบหน้าและคอ ก่อนจะลามไปทั่วตัว แต่บอกก่อนนะคะว่าโรคหัดและโรคหัดเยอรมัน มีอาการต่างกันและเกิดจากเชื้อไวรัสคนละตัวด้วย 

          – โรคหัดและหัดเยอรมัน ภัยสุขภาพที่ต้องระวัง ป้องกันได้ด้วยวัคซีน 

* โรคหัดเยอรมัน 

          หัดเยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัส Rubella จัดเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่เริ่มแรกจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ (ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส) ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ตาแดง ปวดข้อ หลังจากเป็นไข้ 2-3 วันแล้วจะเริ่มมีผื่นสีแดงขึ้นที่ใบหน้า ก่อนที่ผื่นจะค่อย ๆ ลามไปทั้งตัว อย่างไรก็ตาม หัดเยอรมันจะมีผื่นน้อยกว่าและอาการไข้หายเร็วกว่าโรคหัด

          – โรคหัดเยอรมัน อาการเป็นอย่างไร ต้องเช็ก !

* ผื่นกุหลาบ (Pityriasis Rosea)

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          ผื่นกุหลาบคืออาการภูมิแพ้อย่างหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งคาดว่าจะเป็นเชื้อไวรัสในอากาศ โดยโรคนี้มักจะเกิดได้บ่อยในช่วงปลายฝนต้นหนาว โดยอาการผื่นกุหลาบจะคล้าย ๆ กับโรคหัด คือมีผื่นคันขึ้นทั่วตัว โดยเริ่มจากกลางลำตัว ลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่มักจะไม่ขึ้นที่หน้า ลักษณะผื่นเป็นวงกว้างสีชมพู ตรงกลางของผื่นเป็นตุ่มแดงคล้ายยุงกัด มีลักษณะเป็นขุย ดูคล้ายกับกลีบดอกกุหลาบ จึงเรียกกันว่า ผื่นกุหลาบ

          อย่างไรก็ดี อาการผื่นกุหลาบจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทาน และปริมาณของเชื้อไวรัสที่ร่างกายได้รับเข้าไปด้วย แต่โดยปกติแล้วผื่นกุหลาบจะมีระยะเวลาในการดำเนินโรคประมาณ 30-45 วัน 

          ส่วนการรักษาผื่นกุหลาบมักจะใช้ยาแก้แพ้ ร่วมกับให้ยาสเตียรอยด์สำหรับทาผื่น และแม้โรคผื่นกุหลาบจะหายได้เองหลังจากหมดระยะเวลาของโรค แต่การรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์นะคะ 

 * โรคมือ เท้า ปาก

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          ระบาดกันทุกปีกับโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Enterovirus ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ พร้อมกับตุ่มน้ำใสในช่องปาก มือ และเท้า โดยโรคมือ เท้า ปาก มักจะระบาดได้ง่ายในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งการดำเนินโรค และการรักษาโรคมือ เท้า ปาก ต้องทำยังไงบ้าง มาติดตามกันต่อได้เลย 

          – โรคมือ เท้า ปาก ที่ควรรู้จักให้ดี 

* หูด (Warts)

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          หูดเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) และหากติดเชื้อ ผิวหนังจะเกิดการแข็งตัวหรือหนาตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หูดมีหลายขนาดและหลายลักษณะด้วยกัน และสามารถเกิดได้ตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกายเลยล่ะค่ะ 

          หูดจะติดต่อจากการสัมผัสทางผิวหนัง และการมีเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่ถลอก มีรอยขีดข่วน มีแผล หรือการสัมผัสกับผิวหนังที่เป็นหูด หรือแม้แต่การหยิบจับสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหูดอยู่ก็สามารถเป็นหูดได้เลย 

          ทั้งนี้หูดจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็ง ผิวขรุขระ สีเหมือนผิวหนังหรือสีดำ โดยอาจขึ้นเม็ดเดียวหรือหลายเม็ดพร้อมกันก็ได้ ส่วนการรักษาหูดสามารถรักษาได้ด้วยยาชนิดทา การจี้ด้วยความเย็น จี้ด้วยไฟฟ้า เลเซอร์ ผ่าตัด และยากกระตุ้นภูมิ (DCP) 

* หูดข้าวสุก

          หูดข้าวสุกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum จัดเป็นโรคติดเชื้อเฉพาะผิวหนังชั้นนอก ผู้ป่วยโรคหูดข้าวสุกจึงไม่มีไข้ ไม่อ่อนเพลีย เหมือนอาการติดเชื้อโดยทั่วไป โดยหูดข้าวสุกจะเริ่มจากมีจุดแดง ๆ ต่อมาเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดง และอาจสังเกตว่ามีตุ่มเล็ก ๆ สีขาวคล้ายเม็ดข้าวสารอยู่ข้างใน บ้างก็มีลักษณะคล้ายสิวอักเสบ แต่ไม่มีอาการเจ็บ และหากบีบหูดจะได้สารสีขาวข้นเป็นเม็ดคล้ายข้าวสุก

          ทั้งนี้หูดข้าวสุกพบได้บ่อยในเด็ก โดยหูดข้าวสุกจะขึ้นที่ลำตัว แขน ขา หน้าอก หลัง หรืออาจพบหูดข้าวสุกในผู้ใหญ่ซึ่งมักจะติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หูดข้าวสุกจึงมักจะขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ส่วนการรักษาหูดข้าวสุกก็มีหลายวิธีด้วยกัน ตั้งแต่การจี้ไฟฟ้า พ่นไนโตรเจนเหลว ทายา แต่วิธีรักษาที่ได้ผลที่สุดคือแพทย์จะหนีบเอาสารสีขาวในตุ่มออกให้หมด เพื่อทำลายเชื้อไวรัสภายใน ทั้งนี้โรคหูดข้าวสุกไม่ใช้โรคอันตราย แม้จะไม่ได้รักษาก็อาจหายไปได้เอง แต่อาจใช้เวลานานมากกว่าจะหาย 

* หูดหงอนไก่ 

          หูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) และจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง และแม้จะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ แต่ก็อาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสเชื้อที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผม ซอกเล็บ หรือหากนำของใช้ส่วนตัวของคนเป็นหูดหงอนไก่มาใช้ต่อก็เสี่ยงเป็นโรคหูดหงอนไก่ได้เหมือนกัน เอาเป็นว่ามาลองทำความรู้จักโรคหูดหงอนไก่กันค่ะ 

          – หูดหงอนไก่…ของฝากตัวร้ายที่ติดต่อได้จากเพศสัมพันธ์

4. โรคผิวหนังอักเสบจากปรสิต

          นอกจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราแล้ว เชื้อปรสิตก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ด้วย โดยสามารถก่อให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบ ดังนี้

* โรคหิด  

          โรคหิดเกิดจากไรชนิดหนึ่ง ที่ติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้เป็นโรค ลักษณะอาการของหิดจะเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มแดงทั่วตัว แต่ผื่นจะขึ้นมากในพื้นที่อุ่น อับ เช่น ข้อพับ ง่ามนิ้วมือ ง่ามนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า รักแร้ หัวนม สะดือ ก้น และอัณฑะ ซึ่งตุ่มที่ขึ้นจะคันมาก โดยเฉพาะเวลากลางคืน

          วิธีรักษาหิดแพทย์จะให้ทายาฆ่าเชื้อให้ทั่วทั้งตัว เน้นหนัก ๆ ที่บริเวณซอกพับ แต่เว้นช่วงศีรษะและใบหน้า พอกทิ้งไว้แล้วล้างออก แต่หากผู้ป่วยเกาจนแผลถลอกและมีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียด้วย อาจต้องใช้วิธีรักษาอื่นด้วยตามอาการ 

* เหา

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ

          เหาก็จัดเป็นปรสิตชนิดหนึ่ง ที่มักจะเกิดได้บ่อยในวัยเด็ก แถมยังติดต่อกันได้ง่ายมาก ๆ และแม้เหาจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่ก็สร้างความรำคาญให้ได้ไม่น้อย เรามาทำความรู้จักโรคเหากันเลย

          – รู้จักเหาและวิธีกำจัดเหาให้สิ้นซาก จบปัญหากวนใจบนผิวหนัง

          อย่างไรก็ตาม หากมีอาการคัน หรือมีความผิดปกติกับผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างตรงจุด ดีกว่าไปซื้อยามาทา มารับประทานเองทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไร เพราะโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อมีอยู่หลายโรคด้วยกันเลยนะคะ 

***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttps://health.kapook.com

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลโรงพยาบาลผิวหนัง อโศกคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,โรงพยาบาลวิภาวดีวงการแพทย์รามา ชาแนลสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยสถาบันโรคผิวหนัง

Leave a Reply