อาหาร กับ สุขภาพ

กรมควบคุมโรคแนะ วิธีลดเสี่ยง “โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร” ช่วงหน้าร้อน

Views

อากาศร้อน เสี่ยงโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร กรมควบคุมโรคแนะวิธีเลี่ยงด้วยการรับประทานอาหาร “สุก ร้อน สะอาด”

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อากาศร้อนสลับฝนตก ซึ่งในวันที่อากาศร้อนจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำ ประกอบกับในช่วงนี้  มีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ จึงมีการประกอบอาหารเองหรือออกไปรับแจกจ่ายอาหารจากข้างนอกบ้าน แต่หากทำไม่ถูกวิธีหรือไม่สะอาด โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุกหรือไม่ผ่านความร้อน รวมถึงอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น อาจทำให้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำได้

กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยจากรายงานของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–28 เมษายน 2563 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยด้วย 5 โรคสำคัญที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 271,933 ราย โรคอาหารเป็นพิษ 25,640 ราย โรคบิด 679 ราย โรคอหิวาตกโรค 1 ราย และโรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย 153  ราย

อาการของโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร

สำหรับโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ผู้ป่วยจะมีอาการที่สามารถพบได้ ดังนี้

  • ปวดท้อง ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า
  • อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้
  • ในบางรายมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้


การป้องกันโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร

ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ดังนี้

  1. รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม
  2. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ก่อนหยิบจับอาหารก็ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้
  3. อาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ
  4. อาหารที่กลิ่น รส หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนรับประทาน
  5. ดื่มน้ำและน้ำแข็งที่สะอาด (มีเครื่องหมาย อย.)
  6. เก็บถนอมอาหารอย่างถูกวิธี

หากมีอาการตามข้างต้น สามารถช่วยเหลือเบื้องต้น โดยให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากไม่ดีขึ้น รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบแพทย์  และควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวได้เร็ว ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังอยู่ในร่างกาย หากใช้ยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์  

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ขอขอบคุณ: sanook.com

ข้อมูล :กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ :iStock

Leave a Reply