มะเร็งมะเร็งปอดรู้ทัน-โรค

การตรวจหามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น

Views

การตรวจหามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น

การตรวจบริการการหามะเร็งของปอดในระยะเริ่มต้น (Early Detection of Lung Cancer)ก่อนคริสศตวรรษที่ 20 มะเร็งปอด (Lung Cancer) เป็นโรคที่พบน้อยมาก หลังจากเริ่มรู้จักการสูบบุหรี่ การเกิดมะเร็งปอดก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในปัจจุบันเป็นสาเหตุการตายที่สูงสุด จากมะเร็งทั้งในผู้ชายและผู้หญิงเมื่อเทียบกับมะเร็งที่อวัยวะอื่น เช่น ที่ลำไส้ เต้านม และต่อมลูกหมาก

ในเพศหญิงอัตราผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งของปอดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับมะเร็งจากอวัยวะอื่น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และ มะเร็งรังใข่ ซึ่งมีแนวโน้มไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ถึงแม้การรักษาจะก้าวหน้าไปไกลมากก็ตาม แต่อัตราการตายจากมะเร็งปอดก็ยังไม่ลดลง ในปี 2493 อัตราการมีชีวิตอยู่ได้ 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีเพียง 5-10% เท่านั้น การหายขาดของโรคนั้นพบได้น้อย แม้แต่ในปัจจุบันอัตราการมีชีวิตยืนยาวของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งของปอดก็ยังไม่ดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก ในปี 2542 อัตราการมีชีวิตอยู่ได้ 5 ปีของผู้ป่วยมีเพียง 14% ต่างจากมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ได้ถึง 63% มะเร็งเต้านม 85% และมะเร็งต่อมลูกหมาก 93% มะเร็งปอดที่รักษาให้หายขาดได้ต้องพบในระยะแรกเริ่ม และตัดเอาก้อนมะเร็งออกไปได้โดยยังไม่มีการแพร่กระจายไปที่อื่นๆ แต่ก็ยังคงมีคงมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่สามารถตรวจพบโรคได้ในระยะแรก และรักษาทันเวลาซึ่งผู้ป่วยสามารถที่จะอยู่ได้ 5 ปี ถึงกว่า 60-70% และมีรายงานว่ามีโอกาสหายขาดได้ถึง 15%

มะเร็งปอดคืออะไร

ปกติเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเมื่อทำงานไปถึงอายุขัยก็จะเสื่อมลงและตายไป ร่างกายจะสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไป การสร้างเซลล์ใหม่อยู่ใต้การควบคุมของร่างกายเรา เมื่อไหร่เราคุมไม่ได้เซลล์นั้นจะเติบโตไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นก้อนเนื้อที่ผิดปกติ เราเรียกก้อนเนื้อส่วนนั้นว่าเนื้องอก (Neoplasm) ถ้าเนื้องอกนั้นโตขึ้นโดยเบียดอวัยวะของเราแต่ไม่แทรกออกไปทำลายอวัยวะใกล้เคียงเราก็เรียกว่า เป็นเนื้องอกธรรมดาไม่ใช่เนื้อร้าย (Benign Tumor) แต่ถ้ามันทำลายอวัยวะของเราที่อยู่ใกล้เคียงกับมัน เราก็เรียกว่าเนื้อร้ายหรือมะเร็ง (Cancer) นอกนั้นมะเร็งส่วนใหญ่ยังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายทางกระแสน้ำเหลืองและกระแสเลือด การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เป็นเพราะเซลล์ที่ปกติถูกกระตุ้นหรือถูกพิษทำให้ส่วนประกอบของเซลล์ (DNA หรือ Gene) เปลี่ยนไปกลายเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ

โดยทั่วไปเราแบ่งมะเร็งของปอดเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มซึ่งเซลล์ของมะเร็งเป็นเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) และกลุ่มที่เซลล์ของมะเร็งไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC)

  • กลุ่มมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) พบราวๆ 15-20% มะเร็งพวกนี้แพร่ไปเร็ว แม้ว่าเมื่อแรกพบมะเร็งจะยังมีก้อนเล็กแต่ก็มักแพร่กระจายไปแล้ว การรักษามะเร็งพวกนี้จึงมักเป็นการรักษาทางยา
  • กลุ่มมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC) พบประมาณ 80% ของมะเร็งปอด พวกนี้การพยากรณ์โรคดีกว่าและมีชีวิตอยู่ได้นานกว่ากลุ่มมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็กมาก แบ่งเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มมะเร็งชนิดไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็กตามลักษณะของเซลล์ได้คือ
    • เป็นเซลล์ชนิด Squamous Cell Carcinoma ประมาณ 40-45% มะเร็งพวกนี้สัมพันธ์กับการสูบบุหรี่มาก มักพบในปอดส่วนกลางใกล้ๆ ขั้วปอด
    • เป็น Adenocarcinoma ประมาณ 25-30% มักพบในปอดส่วนนอก และอาจพบได้ในคนที่ไม่สูบบุหรี่ และอาจเกิดจากแผลเป็นในปอด เช่น แผลเป็นวัณโรค แผลเป็นจากปอดบวม เป็นต้น
    • เป็น Large Cell Undiferentiated Cancer ประมาณ 5-10% เป็น Bronchioloalveolar Carcinoma น้อยกว่า 5%
    • เป็นชนิดอื่นๆ น้อยกว่า 5% มะเร็งของเยื่อหุ้มปอด หรือ Mesothilioma พบได้ในพวกทำงานอุสาหกรรมหรือเหมืองแร่โดยเฉพาะเกี่ยวกับผง Abestos

สาเหตุของมะเร็งปอด

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมีหลายอย่าง ที่สำคัญคือ การสูบบุหรี่ ประมาณ 80% ของมะเร็งปอดเกิดในผู้ที่สูบบุหรี่ ยิ่งสูบวันละมากๆ และสูบมานานยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น

ที่สูบบุหรี่วันละ 20 มวนเป็นเวลา 20 ปี (20 pack–years) มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ประมาณ 8-20 เท่า ผู้ป่วยที่เคยสูบบุหรี่หลังเลิกสูบ เซลล์ในปอดจะค่อยๆ กลับคืนมาปกติ โอกาสเกิดเป็นมะเร็งปอดลดลง การสูบกล้อง (Pipe) และซิการ์ก็เหมือนกับการสูบบุหรี่ ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการสูบบุหรี่ที่มีน้ำมันดิบ (Tar) ในบุหรี่น้อยจะลดอัตราการเกิดมะเร็งปอดในผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่แต่หายใจเอาควันบุหรี่เข้าไป เพราะอยู่ใกล้เคียงกับผู้สูบ เช่น ภรรยาที่มีสามีสูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งในปอดเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับภรรยาที่สามีไม่สูบ ผู้ที่ทำงานในที่มีควันบุหรี่มาก เช่น ในบาร์ก็มีผลเช่นเดียวกัน Hookah Smoking ซึ่งแม้จะมีเส้นบุหรี่น้อยกว่าแต่ก็ยังมีอันตราย สมาคมโรคมะเร็งของสหรัฐฯ แนะว่าไม่ควรสูบบุหรี่เลยแม้แต่น้อย

  • ผงแอสเบสตอส (Asbestos) เป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ ผู้ที่ทำงานในโรงงานที่มีการใช้ แอสเบสตอสในอุตสาหกรรมนั้นๆ รวมทั้งใช้เป็นส่วนประกอบของๆ ที่ใช้ในบ้านด้วยทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ คนงานที่ทำงานในโรงงานอุสาหกรรมนั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งในปอดมากกว่าคนปกติถึง 7 เท่า และถ้าสูบบุหรี่ด้วยโอกาสเป็นมากกว่าถึง 50-90 เท่า นอกนั้นอาจทำให้เกิดมะเร็งของเยื่อหุ้มปอด (Mesothelioma)
  • เรดอน (Radon) เป็นก๊าซกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของยูเรเนี่ยม ซึ่งหลายแห่งมีสารยูเรเนี่ยมอยู่ในดินจะมีก๊าซเรดอนสูงกว่าปกติรวมทั้งในเหมืองบางแห่ง โอกาสที่มีเรดอนสูงกว่าปกติจะทำให้คนเป็นมะเร็งได้โดยเฉพาะถ้าสูบบุหรี่ด้วยยิ่งเป็นมากขึ้น
  • สารในที่ทำงานที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ และเราควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ยูเรเนี่ยม (Uranium), สารหนู (Arsenic), พลาสติก (Vinyl), คลอไรด์ (Chloride), นิเกิล (Nickel Chromates), ผลิตภัณท์จากถ่านหิน (Coal Products), ควันพิษมัสตัส (Mustard Gas), อีเธอร์ (Chloromethyl Ethers), น้ำมันเบนซิน (Gasoline), ควันท่อไอเสียจากน้ำมันดีเซล (Diesel Exhaust) 
  • กัญชา (Marijuana) บุหรี่กัญชาจะมีน้ำมันดิบปนมากกว่าบุหรี่ธรรมดา และยังมีสารอื่นที่ทำให้เกิดมะเร็งร่วมอยู่ด้วย ยิ่งกว่านั้นผู้สูบกัญชามักสูดควันเข้าไปลึกและกลั้นหายใจค้างไว้ทำให้ควันถึงปอดได้มากกว่า
  • รังสีรักษามะเร็ง (Radiotherapy) ผู้ที่ต้องฉายแสงรังสีเพื่อรักษาโรคในทรวงอกด้วยรังสีรักษาอาจเกิดมะเร็งของปอดได้ โดยเฉพาะถ้าสูบบุหรี่ยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น
  • โรคอื่นๆ โรคที่ทำให้เกิดมีแผลเป็นในปอด เช่น วัณโรค ปอดบวมบางอย่าง อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งในปอด บางโรคที่เกิดจากการหายใจเอาสารแร่เข้าไปในปอดอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น เช่น โรคซิลิโคซีส
  • ประวัติครอบครัว ถ้ามีบุคลในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันเป็นมะเร็งปอด เรามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 
  • อาหาร มีรายงานแนะว่า ผู้ที่ทานอาหารที่มีผลไม้และผักน้อยมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น และมีผู้เชื่อว่าอาหารพวกนี้อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งของปอด
  • มลภาวะเป็นพิษ อาจทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าสูบบุหรี่ ผู้ที่อยู่ในเมืองมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่อยู่ในชนบท  1.2-2.3 เท่า

ผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร

ผู้ป่วยเป็นมะเร็งของปอดจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร แล้วแต่เวลาที่ตรวจพบและเริ่มรักษาว่ามะเร็งนั้นอยู่ในระยะไหน

การแบ่งระยะของมะเร็งจึงมีความสำคัญในการพยากรณ์โรคโดยเฉพาะมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC) ส่วนมะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) นั้นการแบ่งระยะของโรคมีความสำคัญน้อยกว่าเพราะโรคแพร่เร็วและผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ระยะสั้นๆ หลังเป็นโรค การรักษาก็ยังไม่ได้ผลดี

มะเร็งชนิดที่มีเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer หรือ SCLC) นั้นการแบ่งระยะของโรคเราแบ่งออกเป็นเพียง 2 ระยะเท่านั้นคือ

  1. ระยะโรคจำกัดที่ (Limited Stage) หมายถึง มะเร็งอยู่ในปอดข้างหนึ่งและถ้าไปที่ต่อมน้ำเหลืองก็ไปที่ทรวงอกด้านเดียวกัน ผู้ป่วยพวกนี้มีชีวิตอยู่ได้ 2 ปีราวๆ 20%
  2. ระยะที่โรคกระจายไปแล้ว (Extensive Stage) หมายถึง โรคกระจายไปยังปอดด้านตรงข้ามแล้ว หรือกระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว ผู้ป่วยพวกนี้อยู่ได้ 2 ปีประมาณ 5%

สำหรับมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer หรือ NSCLC) นั้นการพยากรณ์โรคดีกว่ามากโดยเฉพาะผู้ป่วยที่พบในระยะแรก (Stage I)

การแบ่งระยะของมะเร็งพวกนี้ที่นิยมกันใช้เรียกว่า TNM System (T คือ ขนาดของก้อนมะเร็ง, N คือ ไปต่อมน้ำเหลืองแล้วหรือไม่ ไปที่ต่อมไหน, M คือ มีการกระจายไปอวัยวะอื่นแล้วหรือยัง)

Occult Stage คือ เซลล์ของมะเร็งพบในเสมหะหรือน้ำลาย แต่ไม่พบก้อนมะเร็งในปอด

  • Stage 0 : มะเร็งพบในหลอดลมแต่ไม่กินลึกลงไปในปอด อยู่เฉพาะที่ และไม่กระจายไปที่ใด (Carcinoma in Situ)
  • Stage I : มะเร็งจำกัดอยู่ในปอด ยังไม่กระจายแพร่ออกไป ก้อนมะเร็งจะโตเท่าไรก็ได้
  • Stage II : มะเร็งแพร่กระจายไปในต่อมน้ำเหลืองในปอดข้างเดียวกันแล้ว
  • Stage IIIA : มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบๆ หลอดลม อาจลามไปถึงทรวงอก และกระบังลมข้างเดียวกัน
  • Stage IIIB : มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ปอดด้านตรงข้าม และที่คอ
  • Stage IV : มะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นในร่างกายแล้ว

อัตราการตายขึ้นอยู่กับระยะของโรค รายงานจากสมาคมโรคมะเร็งของสหรัฐฯ ประมาณว่าผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ 5 ปี ถ้าผู้ป่วยอยู่ใน : Stage I = 47%, Stage II = 26%, Stage III = 8%, Stage IV = 2% ผู้ป่วยใน Stage I นั้นขนาดของก้อนมะเร็งมีความสำคัญมาก ก้อนเล็กมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าก้อนโต ดังนั้นการรักษาที่จะได้ผลดีที่สุดสำหรับมะเร็งปอดคือ วินิจฉัยและเริ่มรักษาแต่ระยะแรกๆ และก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก  

อาการของมะเร็งปอด

อาการของมะเร็งปอดเป็นอาการของปอด ของตัวมะเร็งเองและจากการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น

  • อาการทางปอด มี ไอ ไอมีเสมหะ ไอเป็นเลือด เหนื่อย เจ็บหน้าอก ไข้อาจเป็นจากการติดเชื้อหรือจากมะเร็งก็ได้ 
  • อาการจากมะเร็ง มี เพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • อาการจากการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น เช่น ไปต่อมน้ำเหลืองจะมีต่อมน้ำเหลืองโต บางคราวอาจอุดหลอดเลือดที่พบบ่อยคือ อุดหลอดเลือดดำที่คอทำให้เลือดคั่งบวมที่หน้า อาจร่วมกับอาการอื่น ไปที่เยื่อหุ้มปอดทำให้มีน้ำในช่องเยื่อบุหุ้มปอด (Pleural Effusion) ไปที่สมอง มีปวดหัว ชัก อัมพาต ซึม หมดสติ ไปที่กระดูก มีปวดกระดูก กระดูกหัก ไปที่ตับ มีตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ผู้ป่วยบางรายมีอาการที่เรียกว่า Paraneoplastic Syndrome ซึ่งเรายังไม่รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการพวกนี้แน่นอน เช่น มีไข้หนาวสั่น ปวดข้อและกล้ามเนื้อ ข้อบวม ระดับแคลเซี่ยมในเลือดสูง และระดับฮอร์โมนบางตัวในเลือดสูง อาการเหล่านี้จะหายไปถ้าเราตัดก้อนมะเร็งออกไป และถ้าโรคกลับมาอาการก็จะกลับมาใหม่ได้

การวินิจฉัยโรคในระยะแรกๆ

จากที่กล่าวมาแล้วโรคนี้ถ้าจะหายขาดได้ต้องเป็นการตรวจพบระยะแรกๆ เมื่อผู้ป่วยยังไม่มีอาการ ถ้ามีอาการแล้วมักจะสายไป เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดส่วนใหญ่มาหาแพทย์เมื่อมีอาการแล้ว ซึ่งผู้ป่วยพวกนี้มีโอกาสหายขาดน้อยมาก มีไม่ถึง 30% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มาหาแพทย์เมื่อยังไม่มีอาการ ซึ่งส่วนมากพบโดยบังเอิญที่แพทย์หรือผู้ป่วยไปขอฉายเอกซเรย์ปอดแล้วพบว่ามีก้อนในปอด ในสมัยก่อนเราใช้การตรวจเสมหะแล้วพบมีเซลล์มะเร็ง หรือส่องกล้องลงไปดูในหลอดลม (Bronchoscopy) แล้วพบมีก้อนในหลอดลม  เมื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจพบว่าเป็นก้อนมะเร็ง

เนื่องจากอัตราตายของมะเร็งในปอดสูงและพบบ่อย จึงมีผู้พยายามที่จะหาวิธีที่จะวินิจฉัยโรคในระยะแรกๆ เมื่อประมาณ 30-40 ปีมาแล้วได้มีการตรวจหามะเร็งปอดในระยะแรกเริ่ม โดยใช้การตรวจด้วยเอกซ์เรย์ทรวงอกและมีการตรวจซ้ำทุก 6-12 เดือน ผลพบว่ามีการตรวจพบมะเร็งปอดโดยเฉพาะระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้น แต่อัตราตายจากมะเร็งปอดไม่ลดลง จึงเสื่อมความนิยมไป ทั้งนี้เพราะการตรวจเอ็กซ์เรย์ธรรมดามีข้อจำกัด มีความไวในการตรวจก้อนเนื้อในปอดราวๆ 68% เท่านั้น โดยเฉพาะก้อนที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และตำแหน่งของมะเร็งที่มีอวัยวะอื่นบังอยู่ เช่น หัวใจ กระดูกซี่โครง คงตรวจได้ชัดในผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งโตแล้ว

ขอขอบคุณhttps://www.bangkokhospital.com/th

Leave a Reply