ต้อกระจก

ต้อกระจก ภัยร้ายของดวงตา ถึงไม่ใช่วัยชราก็ต้องระวัง !

Views

ต้อกระจก โรคทางตาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จะมีอาการยังไง มีสาเหตุมาจากไหน ควรรักษาด้วยวิธีใด และสามารถป้องกันได้ไหม มาไขคำตอบกันค่ะ

          บ่อยครั้งที่เราได้ยินผู้สูงอายุในบ้านบ่นว่า ตามัว ๆ มองเห็นไม่ค่อยชัด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า หรืออยู่ ๆ คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า กลับอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น ทั้งที่เมื่อก่อนต้องใส่แว่นสายตาถึงจะมองเห็น ถ้ามีอาการแบบนี้แล้วก็อย่าเพิ่งคิดว่าสายตาดีขึ้นนะคะ เพราะนั่นคือสัญญาณเตือน “โรคต้อกระจก” โรคฮิตที่พบมากในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่รักษา อาจทำให้ตาบอดได้ ดังนั้น ต้อกระจก จึงถือเป็นโรคอันตรายอีกโรคหนึ่งที่เราควรทำความรู้จักและเข้าใจให้มากขึ้นค่ะ 

ต้อกระจก


ต้อกระจก คืออะไร

          ต้อกระจก ภาษาอังกฤษคือ Cataract  เป็นอาการผิดปกติอย่างหนึ่งของดวงตา จัดอยู่ในประเภทตาต้อ ที่มีด้วยกัน 4 แบบ คือ ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก และต้อหิน ส่วนมากเกิดในผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยต้อกระจกจะเป็นภาวะที่เลนส์แก้วตาเสื่อมสภาพ จากที่เคยใสกลายเป็นขุ่นมัว ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด แต่จะไม่มีอาการอักเสบหรือเจ็บปวดใด ๆ และไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าหากเป็นข้างใดข้างหนึ่งแล้วจะลุกลามไปอีกข้าง

ต้อกระจก


ต้อกระจก สาเหตุมาจากอะไร

          สาเหตุที่หลักที่ทำให้เกิดภาวะต้อกระจก ก็คือ ความเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เลนส์แก้วตาเสื่อม มีดังนี้

          1. เสื่อมตามวัย เป็นปัจจัยอันดับหนึ่งของโรคต้อกระจก 

          2.
 เป็นตั้งแต่กำเนิด เช่น เด็กแรกเกิดที่มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์

          3.
 อุบัติเหตุทางตา เช่น ตาได้รับการกระแทกอย่างรุนแรงหรือถูกของแหลมทิ่ม

          4.
 แสงแดด แสงจากจอคอม และรังสีจากการเอกซเรย์ หรือฉายแสง

          5.
 ยาบางชนิด เช่น ยาลดความอ้วนหรือยาสเตียรอยด์

          6.
 โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติ

          7.
 เกิดจากความผิดปกติของตา เช่น  ภาวะม่านตาติดเชื้อ ตาอักเสบ ต้อหิน

          8.
 สาเหตุอื่น ๆ เช่น ทานอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เช่น ขาดโปรตีนหรือวิตามิน รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัด

ต้อกระจก ใครเสี่ยงเป็นบ้าง

          อย่างที่บอกไปแล้วว่าโรคนี้เกิดจากเลนส์ตาเสื่อมสภาพ ซึ่งเหตุผลที่เลนส์ตาเสื่อมสภาพนั่นก็เพราะถูกใช้งานอย่างหนักหรือเสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งานนั่นเอง ฉะนั้นแล้วผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นต้อกระจกสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ แต่เดี่ยวก่อนค่ะ คนที่อายุน้อย ๆ ก็อย่าพึ่งดีใจ เพราะต้อกระจกก็อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ หรือวัยทำงานได้ ถ้ามีพฤติกรรมหรือปัจจัยดังที่กล่าวไปด้านบน

ต้อกระจก


ต้อกระจก อาการแบบไหน สังเกตได้ !

          อาการหลักของต้อกระจก คือ ตาพร่ามัว ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดเจน ซึ่งจะค่อย ๆ เป็นหนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจมองเห็นเป็นภาพซ้อน เนื่องจากความขุ่นของตาทำให้การหักเหของแสงไม่เท่ากัน มองเห็นสีไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะสีเหลือง มองเห็นแสงไฟกระจายเวลาขับรถตอนกลางคืน มองเห็นฝ้าสีขาวบริเวณกลางรูม่านตา มองเห็นไม่ค่อยชัดเมื่ออยู่ในที่ที่มีแสงสว่างจ้า และมองเห็นในระยะใกล้ได้ดีขึ้น แต่ระยะไกลไม่ค่อยชัด จนต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ๆ(ที่คนส่วนมากมักเข้าใจว่าแก่แล้วสายตาดีขึ้นเอง) บางคนอาจเห็นเหมือนมีจุดดำ ๆ ลอยไปมาอยู่ข้างหน้า ส่วนบางคนที่มีอาการหนักมาก ๆ อาจรู้สึกปวดตาร่วมด้วยก็ได้

          อย่างไรก็ตาม ต้อกระจกสามารถเป็นได้กับดวงตาทั้งสองข้าง โดยที่ข้างหนึ่งอาจเป็นเร็วกว่าอีกข้างหนึ่ง หรือแต่ละข้างอาจมีความขุ่นมัวไม่เท่ากัน ซึ่งหากเป็นมาก ๆ ควรทำการรักษา เพราะหากปล่อยให้แก้วตาขุ่นขาวจนหมด หรือที่เรียกว่า ต้อสุก อาจตาบอดได้ในที่สุด

ต้อกระจก รักษายังไง

          การทานยา หรือใช้ยาหยอดตา ไม่สามารถรักษาโรคต้อกระจกให้หายได้ เพราะโรคต้อกระจกมีเพียงวิธีเดียวที่จะรักษาได้ คือ การผ่าตัด ซึ่งเมื่อผ่าเสร็จแล้ว ยังสามารถใช้งานได้เกือบปกติเลยด้วย แต่อย่างไรก็ตามหลาย ๆ คนอาจจะกังวลเมื่อพูดถึงการผ่าตัดใช่ไหมละคะ? จริง ๆ แล้วการผ่าตัดต้อกระจกเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงเลย เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากมาย ทำให้การผ่าตัดต้อกระจกเป็นเรื่องง่าย ถ้างั้นเราไปดูกันดีกว่า ว่าการผ่าตัดรักษาโรคต้อกระจกมีแบบไหนกันบ้าง

          – การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ (ECCE) คือ การผ่าตัดทั่วไปแบบดั้งเดิมที่ทำกันมานาน โดยจะฉีดยาชาเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บก่อนอันดับแรก จากนั้นเปิดกระจกตาดำ แล้วดันเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน เสร็จแล้วก็ปิดแผลด้วยไหมเส้นเล็ก

          – การรักษาต้อกระจกด้วยเลเซอร์ (Femto Laser Cataract) คือ วิธีที่ใช้แสงเลเซอร์ให้แยกเลนส์แก้วตาออกเป็นชิ้น ๆ แล้วสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง

          – การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูง (Phacoemulsification / Ultrasound) คือ วิธีที่ทันสมัยที่สุด โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงดูดต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งเป็นวิธีที่มีรอยแผลเล็กมากเพียงแค่ 1.8-3 มิลลิเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ ต้อกระจกสุกมากหรือแข็งตัวมาก แพทย์อาจไม่สามารถใช้วิธีนี้ผ่าตัดให้ได้ ซึ่งจะต้องใช้การผ่าตัดแบบดั้งเดิมรักษาแทน

ต้อกระจก


ผ่าตัดต้อกระจก ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

1. ลองนอนราบไม่หนุนหมอบมีผ้าคลุมหน้า เนื่องจากตอนผ่านตัดต้องนอนแบบนี้เป็นเวลานาน จึงควรฝึกไว้ให้ชิน

2. งดยาบางชนิดก่อนผ่าตัด 1 สัปดาห์ เช่น ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาหยอดตาบางชนิด

3. ทานอาหารได้ปกติ ยกเว้นผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องวัดระดับน้ำตาลในเลือดก่อน

4. ไม่แต่งหน้า ไม่ทาปาก ไม่ทาเล็บ

5. หาเสื้อผ้าที่สวมแล้วสบาย เน้นใส่และถอดง่าย

6. ก่อนจะผ่าตัดควรอาบน้ำ สระผมให้สะอาด แต่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพื่อไม่ให้ฟองเข้าตา เพราะอาจทำให้แสบตาหรือระคายเคืองได้

7. ถ้ามีอาการไม่สบาย ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่และพยาบาลทราบ หรือหากทานยา ก็ควรนำยาที่ทานมาด้วย  

8. ในวันผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องวัดความดันเลือด และอาจหยอดตาฆ่าเชื้อหรือขยายม่านตา โดยบางรายอาจได้ดัดขนตาด้วย

ผ่าตัดต้อกระจกแล้ว ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

1. เมื่อผ่าตัดเสร็จวันแรก ห้ามเปิดตาหรือใช้ยาหยอดตา จนกว่าหมอจะตรวจและได้รับอนุญาตแล้ว

2. เช็ดตาวันละครั้งในตอนเช้า หรืออาจจะเช็ดอีกครั้งหากมีอาการคัน

3. ทานยาหรืออาหารได้ตามปกติ หลังผ่าตัดเสร็จหนึ่งวัน

4. เน้นนอนหงายเป็นหลัก หากเมื่อยอาจตะแคงได้บ้างบางครั้ง

5. จะใช้ผ้าปิดตาแค่ในช่วง 2-3 วันแรก และควรเปลี่ยนผ้าทุกครั้งที่ล้างแผลด้วย

6. ใช้ฝาครอบตาในตอนนอนด้วย เพราะจะช่วยป้องกันการเผลอขยี้ตาหรือป้องกันตาโดนกระแทกได้

 7. สามารถใช้แว่นตากันแดดแทนได้ในตอนกลางวัน

8. ระวังไม่ให้น้ำเข้าตาโดยเด็ดขาด ยกเว้นจากยาหยอดตาเท่านั้น

9. ให้ล้างหน้าโดยการนำผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ มาเช็ด

10. ควรสระผมด้วยการนอนบนเตียงแล้วให้ผู้อื่นสระให้

11. ไม่เกร็งและไม่ยกของหนัก หากอยากออกกำลังกายให้ออกเบา ๆ แบบไม่กระทบกระเทือนตา

12. หลีกเลี่ยงการก้มเก็บของ

13. ระมัดระวังในการเดิน เพราะอาจกะระยะสายตาผิด ทำให้หกล้มได้

14. ห้ามขยี้ตา ไอ จาม และเบ่งแรง ๆ

15. ป้องกันไม่ให้ลม ฝุ่น และควันเข้าตา

16. ดูหนัง อ่านหนังสือได้ปกติ แต่ควรพักสายตาบ้างเป็นระยะ

17. หากมีอาการตาผิดปกติ เช่น ตาแดง ปวดตา น้ำตาไหล ให้รีบพบแพทย์ทันที

18. ถึงแม้จะรักษาหายแล้ว แต่ก็ควรตรวจตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ต้อกระจก ป้องกันได้ไหม

          ในความเป็นจริงแล้ว ต้อกระจกไม่สามารถป้องกันได้ เพราะต้อกระจกส่วนใหญ่ที่เป็นเกิดมาจากความเสื่อมของเลนส์ตาตามสภาพอายุ และไม่มียาหยอดหรือทานเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมด้วย แต่บางครั้งสาเหตุของต้อกระจกก็มาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน การใช้ยาสเตียรอยด์ การได้รับรังสี การกระแทกหรือการอักเสบของดวงตา ซึ่งหากเราป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็สามารถช่วยป้องกันไม่ให้ดวงตาเป็นต้อกระจกก่อนจะถึงวัยชราได้

          อย่างไรก็ตาม เราสามารถดูแลสุขภาพตาของเราให้ดีขึ้นได้ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ สวมแว่นกรองแสง ไม่มองดวงอาทิตย์โดยตรง ระวังไม่ให้ดวงตาโดนกระแทกหรือได้รับบาดเจ็บ พักสายตาบ่อย ๆ ถ้าต้องใช้ดวงตาติดกันเป็นเวลานาน ๆ และหมั่นตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ  เพียงง่าย ๆ แค่นี้ก็จะช่วยถนอมดวงตาของเราให้มีสุขภาพดี ชะลอการเกิดต้อกระจกได้แล้วค่ะ ส่วนใครที่ต้องทำงานหน้าคอมหรือ เล่นสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน ๆ เราขอแนะนำให้ไปดูวิธีดูแลสุขภาพตาเพิ่มเติมที่นี่

          –  ติดหน้าจอ เสี่ยงต้อกระจก

          – 6 ท่าบริหารดวงตา คลายความเมื่อยล้าเมื่อจ้องจอนาน

          – 10 ซูเปอร์ฟู้ดบำรุงสายตา คนติดหน้าจอ ติดโซเชียล กินให้ไว

ต้อกระจก

โรคต้อกระจก ในผู้สูงอายุ อันตรายไหม

          อย่างที่บอกไปแล้วว่าผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่เกิดโรคต้อกระจกได้มากที่สุด มากถึง 80% เลยทีเดียว และส่วนมากมักจะเป็นทั้งสองข้างเลยด้วย ฉะนั้นลูกหลานจึงควรใส่ใจและดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวให้มาก ๆ และหากพบว่าผู้สูงอายุท่านใด เริ่มมีสายตาฝ้าฟางให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าคิดว่าไม่เป็นไรหรือเป็นเรื่องปกติของคนแก่ เพราะหากปล่อยไว้เฉย ๆ อาจทำให้ต้อกระจกรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้นะคะ 

เห็นไหมคะว่าต้อกระจกถือเป็นโรคที่อันตรายอีกโรคหนึ่งเลย แต่อย่างไรก็ตาม อย่ากังวลกันเกินไป แต่เราก็สามารถชะลอการเสื่อมสภาพของดวงตาได้ตั้งแต่วันนี้ ด้วยการสวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ มะละกอ ผักบุ้ง ผักคะน้า เพื่อบำรุงดวงตา และหมั่นพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ทุก ๆ 1 ชั่วโมง ที่สำคัญคือ คนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อย่าลืมไปตรวจสุขภาพตาทุกปีเป็นประจำด้วยนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
โรงพยาบาลพญาไท
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ

ขอขอบคุณข้อมูล:kapook.com

Leave a Reply