ต้อกระจก

ต้อกระจก รู้เท่าทัน ก่อนสายเกินแก้

Views

บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่ในบ้านมักบ่นว่ามองไม่ค่อยชัด รู้สึกตามัวๆ โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่ที่แสงสว่างจ้า คนใกล้ชิดอย่างเราก็ต้องดูแลเอาใจใส่ สังเกตอาการให้ดี เพราะนั่นอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของ “โรคต้อกระจก” โรคฮิตที่พบได้บ่อยในคนสูงวัย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ และไม่ทำการรักษาอาจส่งผลถึงขั้นตาบอดได้

รู้จักกับโรคต้อกระจก

ต้อกระจก คือ ภาวะที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวเกิดขึ้น ทำให้แสงไม่สามารถเข้าไปในตาได้ตามปกติ หรือทำให้แสงผ่านเข้าไปในตาได้น้อยลง ทำให้การมองเห็นลดลง ภาพที่เห็นไม่ชัดเจน และการมองเห็นสีอาจเปลี่ยนไป โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดจากมารดาติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์

อาการของต้อกระจกที่สังเกตได้

  • โดยปกติแล้วอาการเด่นของต้อกระจกในผู้สูงวัยคือ จะมีอาการตาค่อยๆ มัวลงอย่างช้าๆ กินระยะเวลานานเป็นปี โดยจะไม่มีอาการเจ็บปวด การมองเห็นจะแย่ลงเมื่อแสงไม่พอ แต่ต้อกระจกบางชนิดก็ทำให้เกิดอาการตามัว และจะเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า เช่น เมื่อออกแดด แต่กลับมองเห็นเกือบเป็นปกติในที่มืดสลัวๆ หรือเวลาพลบค่ำ เนื่องจากเมื่ออยู่ในที่แจ้งม่านตาจะหดแคบลง ทำให้แสงสว่างที่จะเข้าตาเข้ายากขึ้น ตรงกันข้ามกับเมื่ออยู่ในที่มืด ซึ่งม่านตาจะขยายทำให้แสงเข้าตาได้มากขึ้น จึงเห็นชัดขึ้นในที่มืด
  • ในคนทั่วไปที่อายุมากกว่า 40 ปี โดยปกติแล้วเวลาอ่านหนังสือต้องใช้แว่นสายตาช่วยอยู่แล้ว แต่อยู่ๆ ก็อาจอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น หากเป็นเช่นนั้นอย่าเพิ่งดีใจไปว่าท่านมีสายตาดีขึ้น เพราะนั่นเป็นอาการจากเริ่มมีการเสื่อมของแก้วตาทำให้การหักเหแสงเปลี่ยน จึงกลับมาเป็นคนสายตาสั้นเมื่อแก่ (Secondary myopia) แต่มองเห็นระยะไกลไม่ชัด ถ้าท่านมีอาการเช่นนี้ ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าเริ่มเป็นต้อกระจกหรือไม่
  • มีการมองเห็นภาพซ้อน เช่น ในตอนกลางคืนเห็นพระจันทร์สองดวง หรือ หลายดวง แม้ดูด้วยตาข้างเดียวก็ยังเห็น 2 ดวง ทั้งนี้เพราะแก้วตาที่ขุ่นมัว มีการเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสงไม่เท่ากัน
  • เห็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตาในผู้ที่ต้อกระจกสุกเต็มที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากผู้ป่วยสามารถเข้าตรวจกับจักษุแพทย์ได้สะดวกขึ้น

6 ข้อสังเกต สัญญาณเตือนต้อกระจก

  1. เห็นภาพมัว ตาพร่า เลือนลาง โดยค่อยๆ เป็นช้าๆ
  2. มองไกลไม่ค่อยชัด สายตาสั้นมากขึ้น จนต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย
  3. มองไม่ชัดเมื่ออยู่ในที่แสงจ้า
  4. ตาข้างใดข้างหนึ่งอาจเห็นภาพซ้อน
  5. มองเห็นสีเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะสีเหลือง
  6. ปวดตามากบ่อยๆ

โรคต่อกระจกกับการรักษา….

เป็นเรื่องปกติที่เมื่อรู้ว่าเป็นโรคต้อกระจกแล้วและจำเป็นต้องผ่าตัด เป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยหรือใครก็ตามเมื่อได้ยินคำว่าผ่าตัดย่อมต้องกลัว แต่เทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางการแพทย์ก้าวมาไกลมากทำให้วิธีการรักษาโรคต้อกระจกหายขาดและได้ผลดี มีการมองเห็นที่ดีเป็นปกติได้ วิธีการผ่าตัดมีอยู่ 3 วิธี โดยอยู่บนหลักการของการเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นมัวออกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมไปทดแทนเลนส์ธรรมชาติ

  1. การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ (ECCE) แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลอันดับแรกและใช้มานาน ปัจจุบันก็ยังเป็นวิธีที่ประหยัดและปลอดภัย ในประเทศที่ไม่มีเครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง วิธีการเริ่มด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อให้ตานิ่งและไม่เจ็บ เปิดกระจกตาดำ กว้าง 8-9 มม. แล้วดันเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออกทางแผล และใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่ ปิดแผลกระจกตาด้วย ไหมเล็กว่าขนตา วิธีการนี้เหมาะสำหรับ สถานที่ ที่ไม่มีเครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ ต้อกระจกทิ้งไว้นานแข็งมากจนเครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง สลายไม่ได้ ข้อด้อยคือ แผลใหญ่ทำให้เกิดสายตาเอียงหลังการรักษาได้ เวลาขณะทำการรักษา 15 -30 นาที (ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความชำนาญของจักษุแพทย์)
  2. การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง(Phacoemulsification / Ultrasound) เป็นวิธีที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านแผลกระจกตา 1.8 – 3 มม. (ขนาดแผลขึ้นอยู่กับเครื่องสลายต้อกระจกและความชำนาญของผู้ใช้) เลนส์แก้วตาจะถูกสลายผ่านหัวดูด ออกจากแผลกระจกขนาดเล็กมาก) ใช้เวลาในการรักษา 5-30 นาที (ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความชำนาญของจักษุแพทย์) ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา ใช้เฉพาะการหยอดยาชาที่ตาก็เพียงพอ หลังสลายเลนส์ต้อกระจก จึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมผ่านแผลชนิดเล็กเข้าไปในตา เนื่องจากแผลเล็กมากจึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้ทันที หลังหมดฤทธิ์ยาขยายม่านตา ข้อด้อยคือ ค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีผ่าตัดแผลใหญ่เล็กน้อย ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกแบบที่เลนส์แก้วตาแข็งมากๆ อาจไม่สามารถใช้เครื่องสลายเลนส์ได้ต้องใช้ทักษะของจักษุแพทย์มากกว่าวิธีผ่าตัดแผลใหญ่
  3. การใช้เลเซอร์แยกเลนส์ต้อกระจก (Femto Laser Cataract) เป็นวิธีใหม่ที่ใช้แสงเลเซอร์แยกเลนส์แก้วตาออกเป็นชิ้นเล็กๆ คล้ายกับการตัดขนม cake แล้วจึงใช้เครื่องสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) สลายเลนส์ที่ถูกแยกออกเป็นชื้น ใช้เพียงยาชาหยอดเฉพาะที่ ลดโอกาสเกิดข้อแทรกซ้อนในรายที่เลนส์ต้อกระจกแข็งมากๆ ข้อด้อยคือ ค่าใช้จ่ายสูงมาก เวลาในการทำผ่าตัดนาน 25 -45 นาที เนื่องจากผู้ป่วยต้องย้ายตัวจากเครื่องเลเซอร์ ไปเครื่องสลายต้อกระจก ผลการรักษาไม่ต่างกับการใช้เครื่องสลายต้อกระจก

เตรียมตัวอย่างไรถ้าต้องรับการตรวจ

หากต้องการมาตรวจต้อกระจกผู้ตรวจไม่ต้องมีความกังวล การตรวจต้อกระจกไม่จำเป็นต้องงดยา งดน้ำ หรืออาหาร ขั้นตอนการตรวจไม่มีเจ็บปวด ไม่ควรขับรถมาเองหรือหาคนขับรถมาด้วยเนื่องจาก การหยอดยาขยายม่านตาทำให้สู้แสงไม่ได้ ตาพร่ามัว โดยเฉพาะการมองที่ใกล้ เป็นเวลา 5 ชั่วโมง การขยายม่านตาเพื่อตรวจว่าไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อนทางตา ผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยเหล่านี้จักษุแพทย์บางท่านอาจขอให้ท่าน นำผลน้ำตาลในเลือดครั้งล่าสุดมาดู หรือ อาจให้ท่านงดยาละลายลิ่มเลือดก่อนมารักษาต้อกระจก

การเตรียมตัวก่อนรักษาต้อกระจก

โดยทั่วไปเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าสมควรผ่าตัด แพทย์จะตรวจตาอย่างละเอียด รวมทั้งวัดความดันตาและ ตรวจประสาทตา ให้แน่ใจว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่ ถ้าประสาทตายังดีอยู่ หลังผ่าตัดก็จะมองเห็นได้ดี แต่ถ้าประสาทตาเสียแล้ว การผ่าตัดก็ไม่ช่วยให้ตาเห็นดีขึ้น นอกจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายทั่วๆ ไป เพื่อดูว่ามีโรคอื่นๆ อันจะเป็นอุปสรรคในระหว่าง หรือหลังผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งโรคที่สำคัญ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคปอด ซึ่งเมื่อเป็นโรคดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ดีก่อนจึงค่อยทำผ่าตัด

แต่ทั้งนี้ก็ยังมีหลายคนเข้าใจว่า เป็นโรคเบาหวานผ่าตัดต้อไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นเบาหวานก็ทำผ่าตัดได้ แต่ต้องควบคุมเบาหวานให้ดีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อหลังผ่าตัด หากมีการอักเสบบริเวณตา เช่น กุ้งยิง เปลือกตาอักเสบ หรือ ถุงน้ำตาอักเสบ ก็ต้องได้รับการรักษาให้ดีก่อน เพราะดวงตาติดเชื้อได้ง่ายจากความต้านทานต่อการติดเชื้อมีน้อยกว่าอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นหากมีการติดเชื้อใกล้เคียงกับบริเวณแผลผ่าตัด ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อหลังผ่าตัดต้อกระจกได้

ส่วนเรื่องยาละลายลิ่มเลือดนั้น คนไข้ไม่มีความจำเป็นต้องงดยาละลายลิ่มเลือดทุกครั้ง เนื่องจากวิธีการรักษามีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกน้อยมาก ใช้เพียงยาชาหยอดตา แต่ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของจักษุแพทย์ที่ทำการรักษาท่านเป็นหลัก

เพราะดวงตาเป็นเสมือนประตูสู่โลกกว้าง ที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข อย่าละเลยที่จะดูแลดวงตาให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มสูงวัยขึ้น ดวงตาที่เราใช้มาตลอดชีวิตก็ย่อมเสื่อมถอยเป็นธรรมดา ดังนั้นการตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำทุกปี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถรักษาดวงตาคู่นี้ให้อยู่กับเราได้ตลอดไป

“ต้อกระจกรักษาหาย ป้องกันได้ด้วยการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี”

นพ.จิรพล สุโภคเวช
จักษุแพทย์
โรงพยาบาลพญาไท 3
โทร 02-4671111 ต่อ 4415

ขอขอบคุณข้อมูล:phyathai.com

Leave a Reply