มะเร็ง

“มะเร็ง” กับวิธีรักษาที่แตกต่างไปตามแต่ละชนิดของโรค

Views
 
  • หลายครั้งที่พบว่า ผู้ป่วยและญาติมักมีความสับสนและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคมะเร็ง เพราะมะเร็งชนิดเดียวกันอาจรักษาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยและการดำเนินของโรคมะเร็งว่าไปถึงระยะใดแล้ว

  • การรักษามะเร็งแบบพุ่งเป้า (Targeted Cancer Therapy) มีบทบาทในการรักษามะเร็งอย่างมาก ด้วยประสิทธิภาพในการรักษาสูงเมื่อเทียบกับการให้เคมีบำบัด แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการเลือกใช้

  • ปัจจุบันมียารักษาชนิดภูมิคุ้มกันบำบัด โดยเพิ่มความสามารถของเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายให้กำจัดเซลล์มะเร็ง สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังและมะเร็งปอดได้

มะเร็งคืออะไร ?

“มะเร็ง” เกิดจากเซลล์ในร่างกาย ที่มีความเปลี่ยนแปลงของยีนและรหัสพันธุกรรมที่ผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  ในครั้งแรกถ้าเซลล์มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ร่างกายสามารถตรวจจับได้ เม็ดเลือดขาวก็จะทำหน้าที่เป็นหน่วยคุ้มกัน เข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งเหล่านั้นออกจากร่างกาย แต่สำหรับบางคนเซลล์มีความผิดปกติมากจนควบคุมไม่ได้และเม็ดเลือดขาวไม่สามารถจะต่อสู้หรือกำจัดออกไปจากร่างกายได้ เซลล์จะแบ่งเซลล์อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย หรือมะเร็งนั่นเอง

มะเร็งแพร่กระจายได้อย่างไร ?

เซลล์มะเร็งตั้งต้นมาจากเซลล์ปกติ หากมีการเจริญเติบโตมากพอ จะแทรกซึมเข้ากระแสเลือด หรือทางเดินน้ำเหลือง ทำให้ลอยไปสู่อวัยวะอื่นที่เป็นเป้าหมายได้

อาการที่สังเกตได้ หากสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ?

โรคมะเร็งหลายชนิด มักไม่มีสัญญาณเตือนในครั้งแรก แต่ถ้าสงสัยว่ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์

  • พบความผิดปกติของระบบขับถ่าย เช่น ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะลำบาก มีเลือดปน ท้องผูกสลับกับท้องเสีย
  • แผลหายช้า
  • มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกจากบริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างผิดปกติ
  • คลำก้อนได้ที่เต้านมหรือบริเวณอื่นของร่างกาย
  • รู้สึกอาหารไม่ย่อย หรือกลืนอาหารลำบาก
  • พบหูดหรือไฝที่โตผิดปกติ หรือมีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม
  • ไอเรื้อรังหรือมีเสียงแหบโดยไม่ทราบสาเหตุ

มะเร็งแต่ละชนิด รักษาอย่างไร ?

ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยและญาติมักมีความสับสนและขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรค มะเร็งชนิดเดียวกันอาจรักษาไม่เหมือนกัน บางคนได้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัด บางคนผ่าตัดอย่างเดียว บางคนได้ทั้งยาเคมีบำบัด ผ่าตัด และฉายรังสีซ้ำ  บางคนได้ยาชนิดพุ่งเป้าในมะเร็งบางชนิด เหล่านี้ทำให้การเข้าใจวิธีการรักษาคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบแผนการรักษาของแพทย์ในที่ต่างๆ ซึ่งอันที่จริงแล้ว หลังจากที่วินิจฉัยมะเร็ง (Diagnosis) ต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อทราบระยะของการดำเนินโรค (Staging) พร้อมปรึกษาแพทย์สาขาอื่นๆ เช่น แพทย์ผ่าตัด แพทย์ด้านรังสี เพื่อพิจารณาแนวทางการรักษา การวางแผนและกำหนดเป้าหมายการรักษาร่วมกัน โดยในปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่สรุป ได้ดังนี้

การผ่าตัด (Surgery)

การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษามะเร็งเฉพาะที่ ปัจจุบันการผ่าตัดมีความก้าวหน้ามาก ศัลยแพทย์มีการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านมะเร็งมากขึ้น  มีการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery) เช่น การผ่าตัดผ่านกล้องในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น และหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายอาจมีการรักษาเสริม (Adjuvant therapy) เช่น การให้ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ตามแต่ระยะของมะเร็งนั้นๆ  หรือในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถผ่าตัดได้ทันที เนื่องจากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจวางแผนให้ผู้ป่วยฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งเล็กลงก่อน เราเรียกวิธีนี้ว่า Neoadjuvant Therapy หรือมะเร็งเต้านมในบางกรณีสามารถผ่าตัดโดยไม่ทำให้เสียรูปทรงได้ด้วยเทคนิคพิเศษ คือผ่าตัดเฉพาะก้อน (Lumpectomy) ไม่ต้องตัดนมทั้งเต้า (Mastectomy) เป็นต้น

รังสีรักษา (Radiotherapy)

การรักษาด้วยรังสีบำบัด หรือ การฉายแสง เป็นการรักษามะเร็งเฉพาะตำแหน่งโดยใช้รังสีขนาดสูง (High Dose of Radiation) จากแหล่งกำเนิดรังสี โดยแสงนี้จะผ่านผิวหนังไปยังตำแหน่งที่ต้องการ โดยมีจุดประสงค์ต่างๆ เช่น

  • เพื่อการรักษาให้หาย เช่น มะเร็งบริเวณศีรษะและคอ ในระยะแรก หรือมะเร็งปอดในกรณีมีข้อห้ามในการผ่าตัด
  • การฉายแสงเสริม อาจพบในมะเร็งเต้านมหลังการผ่าตัดไปแล้ว  หรือมะเร็งกล่องเสียงที่มักให้การรักษาร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด
  • การฉายแสงเพื่อลดอาการปวด เช่น มะเร็งที่กระจายไปกระดูก
  • การฉายแสงเพื่อหยุดเลือดออกจากก้อนมะเร็ง ในมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่ผู้ป่วยมีปัสสาวะเป็นเลือดตลอดเวลา
  • การฉายแสงเพื่อยับยั้งการลุกลาม เช่น ก้อนมะเร็งลามไปกดไขสันหลัง จนทำให้ขาไม่มีแรงหรือเดินไม่ได้
 

เคมีบำบัด (Chemotherapy)

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาด้วยสารเคมีที่มีผลทำลายเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกติ โดยที่กลไกการออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัดนั้น จะขัดขวางการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง โดยสามารถกวาดล้างมะเร็งที่หลบซ่อนตามจุดต่างๆ ของร่างกายได้ดี แต่เซลล์ดีในร่างกายจะได้รับผลกระทบไปด้วย ส่งผลข้างเคียงทำให้ผมร่วง แผลในปาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น ในปัจจุบันการให้ยาเคมีบำบัด มีประโยชน์ในการรักษามะเร็งเกือบทุกชนิดและมีความปลอดภัยสูง

ยาฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy)

การใช้ยาฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) มักจะให้ในเซลล์มะเร็งที่ตอบสนองต่อยาฮอร์โมนบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งให้ประสิทธิภาพดีและผลข้างเคียงน้อย

การรักษามะเร็งแบบพุ่งเป้า (Targeted Cancer Therapy)

ปัจจุบันยา Targeted Cancer Therapy มีบทบาทในการรักษามะเร็งอย่างมาก ด้วยประสิทธิภาพในการรักษาสูงเมื่อเทียบกับการให้เคมีบำบัด แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เป็นมะเร็งจะสามารถรับการรักษาด้วยยา Targeted Cancer Therapy ได้ มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาเป็นรายๆ ไปตามความเหมาะสม

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Cancer Immunotherapy)

สำหรับยาภูมิคุ้มกันบำบัดมีกลไกการออกฤทธิ์ ทำให้เม็ดเลือดขาวมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้ผลที่ดีเหมือนยา Targeted  Cancer Therapy คือ มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แต่การที่เม็ดเลือดขาวมีความสามารถมากเกินไปบางครั้งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวเป็นผื่น  ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย  ปอดอักเสบ รวมถึงอาจส่งผลกระทบให้ไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป หรือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้  แต่ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวได้เอง ก่อนการรักษาแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาตามชนิดของมะเร็งและระยะของมะเร็ง ปัจจุบัน ยาภูมิคุ้มกันบำบัดเหมาะสำหรับการใช้รักษามะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด มะเร็งปอด มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะและระบบทางเดินปัสสาวะ มะเร็งไต มะเร็งตับ มะเร็งเต้านมบางชนิด มะเร็งกระเพาะอาหารที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด และมะเร็งลำไส้บางชนิด

การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น หรือใช้เดี่ยวๆ ก็ได้ ขึ้นกับอาการของโรคมะเร็ง จากสถิติการรักษาพบว่า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด เพิ่มอัตราการอยู่รอด 3 ปี ของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาจาก  5% เพิ่มขึ้นเป็น 42% และเพิ่มอัตราการอยู่รอด 5  ปี ในผู้ป่วยมะเร็งปอดจาก 6% เพิ่มขึ้นเป็น 15%  นอกจากนั้นยังสามารถชะลอการกลับมาของมะเร็งปอด ตับ และกระดูก ได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง สามารถควบคุมให้โรคสงบ โดยไม่มีผลข้างเคียง และกลับไปใช้ชีวิตปกติได้

โอกาสรอดเมื่อเป็นมะเร็ง

  • โรคมะเร็งระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด หรือเสริมด้วยการฉายรังสี หรือการให้ยาเคมีบำบัด
  • โรคมะเร็งบางชนิดที่แพร่กระจายแล้ว อาจสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาเคมีบำบัด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลูกอัณฑะ มะเร็งไข่ปลาอุก
  • โรคมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมี ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก มะเร็งช่องปากและคอ มะเร็งทวารหนัก


การป้องกันมะเร็ง

หลายคนเคยตั้งคำถามว่า ต่อให้เราทำตัวดีแค่ไหน ปรับพฤติกรรมไปในทางที่ดีอย่างไร ก็ยังเป็นมะเร็งได้อยู่ดี ซึ่งในแต่ละคนมีปัจจัยภายในที่แตกต่างกัน บางบ้านเป็นมะเร็งทั้งบ้าน หรือมีญาติสายตรงเป็นมะเร็ง จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งมากกว่าคนทั่วไป จึงควรหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พฤติกรรมและสภาวะบางอย่างส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ จึงควรปรับพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ได้แก่  งดการสูบบุหรี่  งดการดื่มแอลกอฮอล์ ลดความอ้วน ลดการรับประทานเนื้อแดงแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูแฮม แหนม  เพิ่มการออกกำลังกาย ทานผักผลไม้ให้มากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และดูแลจิตใจให้มีความสุข ไม่เครียดจนเกินไป

อยู่กับมะเร็งอย่างมีสติ

ผู้ป่วยมะเร็งหลายคน ต้องการความเข้าใจ ไม่ใช่ความสงสาร  ผู้ป่วยบางคนเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็ง จะเกิดความกังวลในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบในครอบครัว อาจมีความรู้สึกกังวล เครียด ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น หลายครั้งที่บุคคลในครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ในระยะแรก ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้  สมาชิกในครอบครัวควรหา ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น โดยการสอบถามจากแพทย์ หรือค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพื่อช่วยดูแลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด อาจแสดงความเป็นห่วงอย่างจริงใจ แต่ต้องไม่แสดงอาการเกินพอดี เคยพูดคุยกันอย่างสนุกสนานอย่างไรสามารถทำได้เช่นเดิม  เพื่อลดทอนความเครียด ตั้งใจรับฟังผู้ป่วยให้มากขึ้นเพราะระยะแรกเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันสามารถรักษามะเร็งให้หายขาดได้ หากเรารู้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่ว่าหญิงหรือชาย ควรส่องกล้องเพื่อตรวจมะเร็งลำไส้ ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และสิ่งสำคัญควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังที่กล่าวมา เพราะถึงแม้จะมียาในการรักษามะเร็งที่ดีแค่ไหน แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราไม่เป็นมะเร็ง