กระเพาะอาหารอักเสบมะเร็ง

เชื้อเอชไพโลไร แบคทีเรียเหตุโรคกระเพาะอาหาร สู่มะเร็ง

Views

ผศ. นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย
สาขาวิชาทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เชื้อโรคเอชไพโลไรเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร ซึ่งพบว่า ถ้าเราได้รับเชื้อตัวนี้ในระยะยาว มันจะทำให้เกิดกระเพาะอักเสบและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้

เชื้อโรคนี้ติดโดยการกินเชื้อโรคเข้าไป การกินเชื้อโรคเข้าไปก็มีหลายแบบ ตั้งแต่อาหารปนเปื้อนเชื้อโรคตัวนี้ แล้วเรากินเข้าไป หรือติดจากเนื้อเยื่อคัดหลั่ง สารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนแล้วกินเข้าไป เช่น การคลอดลูก แล้วลูกได้รับเชื้อจากแม่ อันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง แต่แน่ ๆ คือ ได้รับเชื้อโรคโดยการกินเข้าไปซึ่งตอบไม่ได้ว่าอาหารเหล่านั้นติดมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญก็คือ ถ้ามีอาหารปวดอึ แน่นท้อง ก็อาจจะมาจากสาเหตุเชื้อโรคตัวนี้ได้

การติดเชื้อโรคเอชไพโลไรใหม่ ๆ อาจจะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบและปวดท้องธรรมดา แต่ถ้าติดไปนาน ๆ จะทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งมะเร็งกระเพาะอาหารมีลักษณะหลายรูปแบบ ตั้งแต่มะเร็งเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งอันนี้รักษาโดยการผ่าตัด และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร พวกนี้เมื่อเกิดการอักเสบ จะทำให้เกิดตัวน้ำเหลืองหรือเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า Lymphocyte ขยายตัวมากขึ้น ก็จะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดไม่รุนแรงของกระเพาะอาหาร ซึ่งรักษาได้โดยการกำจัดเชื้อเอชไพโลไรตัวนี้

โดยปกติ เราต้องได้รับการทดสอบก่อนว่ามีการติดเชื้อโรคตัวนี้หรือไม่ เพราะบางครั้งอาการปวดท้องอาจจะเป็นแค่โรคกระเพาะทั่วไปก็ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการติดเชื้อโรคเอชไพโลไรตัวนี้ แต่ที่สำคัญคือ ถ้าเราปวดท้องมาเป็นระยะเวลานาน รักษาแบบกินยากระเพาะอาหารเพื่อลดกรด หรือยาลดอาการกระเพาะอาหารอักเสบมาประมาณ 8 อาทิตย์ แล้วอาการเหล่านั้นยังไม่ดีขึ้น ไม่หายไป ก็แนะนำว่าอาจจะต้องตรวจเชื้อโรคตัวนี้โดยวิธีการส่องกล้อง วิธีการส่องกล้องเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถตรวจหาเชื้อโรคตัวนี้ได้ และเราจะหาสาเหตุการปวดท้องด้วยว่ามันมาจากสาเหตุอื่นไหม อย่างเช่น เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่ หรือเป็นกรดไหลย้อน มีการอักเสบของหลอดอาหารหรือไม่ หรือกระเพาะที่ผิดปกติไป

เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร จะทำให้เยื่อบุของกระเพาะเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งในบางกรณี เราก็ทำการตัดออกไป หลังจากตัดแล้ว ถ้าเนื้องอกตัวนั้นเป็นเนื้อปกติก็ไม่ต้องทำอะไรต่อ แค่ติดตามอาการ แล้วก็กำจัดเชื้อเอชไพโลไรนั้น แต่ว่าถ้ายังไม่สามารถกำจัดได้ การอักเสบยังดำเนินอยู่ มันก็อาจจะทำให้เกิดเนื้องอกขึ้นมาใหม่ได้ คือการเปลี่ยนแปลงของกระเพาะอาหาร จากกระเพาะอาหารอักเสบกลายเป็นมะเร็ง มันผ่านการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ กว่าจะทำให้เกิดมะเร็ง ใช้เวลานานพอสมควร

การรักษาเบื้องต้นของเอชไพโลไร เนื่องจากมันเป็นเชื้อแบคทีเรีย เราจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียร่วมกับการกินยาลดกรด หลังจากที่เราหายแล้ว เราก็ต้องทดสอบซ้ำว่าเชื้อโรคหายไปหรือยัง และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มันเกิดจากการกินเชื้อโรคเข้าไป มันติดใหม่ได้ คือรักษาแล้ว หายแล้ว มันเป็นซ้ำได้ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงด้วย คือถ้ามีอาการใหม่ทุกครั้ง อาจจะต้องมาตรวจกันทุกครั้ง

การป้องกันค่อนข้างยากเนื่องจากมันเกิดจากการกิน เราไม่มีทางรู้เลยว่า อาหารอันไหนที่สามารถติดเชื้อปนเปื้อนมาได้ หลัก ๆ ที่อาจจะต้องแนะนำก็คือ

1. อย่ากินอาหารดิบ

2. อย่ากินอาหารที่ปนเปื้อนสกปรกมา เช่น ไม่สะอาด ล้างและปรุงไม่ค่อยสะอาดมากนัก อันนี้ควรจะหลีกเลี่ยงแน่นอน

3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่เก็บไว้นาน ๆ อย่างเช่น อาหารแช่แข็งที่กินไม่หมดเอาไปแช่ไว้แล้วเอากลับมากินใหม่ ถ้ามันนานเกินไปหรือเก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม อันนี้ก็ต้องระวัง

สรุป ถ้ามีคนไข้คิดว่าตัวเองอาจจะติดเชื้อเอชใพโลไร ควรมารับการตรวจ การส่องกล้องตรวจเพื่อวินิจฉัยตัวผิวกระเพาะว่ามีลักษณะผิดปกติอย่างไรในคนไข้ที่มีอาการปวดอึ แน่นท้อง เข้าข่ายที่จะต้องได้รับการตรวจก็ควรจะต้องตรวจ เพราะว่าการตรวจไม่ยาก สะดวกและภาวะแทรกซ้อนน้อย ที่สำคัญคือมันรักษาได้ตั้งแต่เริ่มต้น หากตรวจพบมะเร็ง

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.rama.mahidol.ac.th/

Leave a Reply