ภูมิคุ้มกันสุขภาพกายสุขภาพทั่วไปอะอุเรโอะ บาซีเดียมโควิด-19

“ชวนคิดโลกหลังโควิด -19 (2)

Views

เมื่อได้ติดตามข่าวสารและข้อคิดของหลายๆท่านในโลกอย่างต่อเนื่อง ผมรู้สึกว่าผู้สันทัด กรณีทั้งหลายอาจเห็นต่างกันว่าโลกหลังโควิดจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกัน คือจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากโลกก่อนโควิด

ผมนั่งคิดวิเคราะห์ในช่วงWork from Home ต่อมาอีกระยะ แล้วจึงชวนท่านคิดต่อถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพิ่มเติมจากบทความก่อนหน้านี้ครับ (ดูหลังโควิด 19 : โลกจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน 4 เมษายน 2563  https://www.matichon.co.th/article/news_2123365

1) ด้านการต่างประเทศ: 

1.1 ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 จะถูกผลักห่างออกไป

เพราะต่างคนต่างมองว่าปัญหาไม่เหมือนกัน และจะดูแลคนของตนก่อนจะยื่นมือช่วยเหลือคนอื่น ไม่ว่าเป็นประเทศมั่งมีหรือยากจน จนเกิดการแย่งหน้ากากอนามัย การแย่งชิงเวชภัณฑ์ในสนามบินหลายแห่งในโลก กรณีประเทศตะวันตกมีการห้ามจำหน่ายเวชภัณฑ์สำคัญเพราะจะต้องดูแลผู้ป่วยในประเทศก่อนก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

1.2 สถาบันพหุภาคี(Multilateral Institutions) มีความอ่อนแอ  และไม่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดระดับโลกและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาในทุกประเทศทั้งรวยและจน องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ไม่สามารถช่วยกระชับความร่วมมือช่วยเหลือกันของสังคมระหว่างประเทศในด้านสาธารณสุข หรือทางด้านเศรษฐกิจได้ดีพอ เมื่อเทียบกับวิกฤติอื่นๆที่ผ่านมาในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก(WHO), องค์การอาหารและการเกษตร(FAO) องค์การการค้าโลก(WTO),ธนาคารโลก(World Bank),กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) รวมไปถึงองค์กรแม่คือสหประชาชาติ(UN)เองด้วย

สิ่งที่องค์กรเหล่านี้ทำคือให้ข้อมูล แจ้งเตือน   ขอความร่วมมือ ให้กำลังใจ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรมในยามวิกฤตโรคระบาด ที่ทุกประเทศต่างเอาตัวรอดกันก่อน

1.3) องค์กรระดับภูมิภาค ดูจะเป็นความหวังของผู้คนได้บ้าง อาเซียนเพิ่งประชุมสุดยอดระดับผู้นำและผู้นำอาเซียน+3(จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) ไปเมื่อ14 เมษายนนี้ โดยมีความพยายามในการตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยกันในเรื่องโควิด การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูล (Big Data) การหารือเชิงนโยบาย การส่งเสริมพาณิชย์ อีเล็คโทรนิคและมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนได้หารือตกลงกัน เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในภูมิภาค

มองไปภูมิภาคอื่น เช่น องค์กรความร่วมมือของเอเชียใต้(SAARC)มีการประชุมไปเมื่อ15 มีค. เพื่อตั้งกองทุนฉุกเฉินในการรับมือกับโรคระบาด สหภาพอัฟริกัน(African Union) ก็มีประชุมระดับรัฐมนตรีไปเมื่อ22 กุมภาพันธ์และประชุมร่วมกับFAO วันที่16 เมษายนนี้

องค์กรรัฐอเมริกัน(OAS)ในทวีปอเมริกาก็มีการประชุมระดับสูงเมื่อ 3 เมษายน เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการรับมือกับโควิด

ต้นแบบความร่วมมือระดับภูมิภาคเช่นสหภาพยุโรป แม้ยังไม่เห็นความสามารถในการกระชับความร่วมมือในยามยากในมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและเพียงพอ แต่ทางด้านเศรษฐกิจธนาคารกลางของอียู(ECB) ก็มีมาตรการทางการเงินออกมาช่วยด้านสภาพคล่อง และอียูมีการกำหนดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ(QE) แม้จะถูกมองว่ายังห่างไกลความเพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจขาลงทั้งในช่วงระบาดและหลังการระบาดได้ก็ตาม

ความร่วมมือระดับภูมิภาคต่างๆนี้ แม้อาจถูกมองว่ายังเน้นการพูดมากกว่าทำ ยังขาดความรวดเร็วทันสถานการณ์ และยังขาดความเพียงพอที่จะรองรับวิกฤตครั้งนี้ และหลายองค์กรก็มีสมาชิกที่สะบักสะบอมจากโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจ จะร่วมมือกันได้แค่ไหน เพียงใด แต่อย่างน้อยก็ดูจะมีความหวังในด้านการต่างประเทศ มากกว่าองค์กรระดับโลก

ความเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาคนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามขององค์กรระดับภูมิภาคที่จะรับมือปัญหาโรคระบาดและเศรษฐกิจขาลง แม้อาจจะช้าไป และอาจยังไม่เพียงพอ…

แต่แนวโน้มนี้ชี้ถึงอนาคตของโลกาภิวัตน์ ว่าคงเป็นโลกาภิวัตน์ที่เป็นเสี่ยงเสี้ยว (Fragmented Globalization) คือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ของโลกที่แบ่งเป็นส่วนๆ แบ่งเป็นรายกลุ่มประเทศ เป็นแต่ละเรื่องๆไป คงไม่ใช่ความร่วมมือช่วยเหลือระดับโลก แต่จะมาจากแต่ละภูมิภาคพยายามร่วมมือกัน หรือบางประเทศเช่นจีนช่วยบางประเทศข้ามภูมิภาคเป็นกรณีๆไป โลกเราจะเดินไปทางนี้หรือเปล่า

การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งว่า ความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านสาธารณสุข และสุขภาพและจะมาแทนความร่วมมือระดับโลกในด้านดังกล่าวจริงหรือไม่ องค์กรภูมิภาคจะดึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่ถูกผลักห่างออกไปเพราะสถานการณ์โควิด ให้กลับมาได้จริงหรือไม่…

หรือในที่สุดอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ ที่เรียกร้องกดดันโดยเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะทำให้แต่ละประเทศมองไม่พ้นพรมแดนของตน ช่วยเหลือแต่คนชาติของตน ในขณะที่เชื้อโรคไม่รู้จักพรมแดน ไม่เลือกเขื้อชาติและสัญชาติหรือเปล่า?

1.4) การแข่งขันกันเป็นผู้นำโลกทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจะต่อเนื่องจากเดิมหรือไม่

สหรัฐเองก็ประสบปัญหาโควิดมีคนติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงระดับต้นๆของโลก ใช้มาตรการทั้งการเงินและการคลังอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศหลักในอียูเองก็บอบช้ำจากปัญหาโควิดและเศรษฐกิจ

จีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่พึ่งได้มาตลอด ก็ลดความช่วยเหลือประเทศต่างๆลงไป เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาโควิดจนหนี้ภาครัฐและเอกชนรวมกันเพิ่มขึ้นถึง 300% ของGDP จะทำให้บทบาทการนำโลกทางเศรษฐกิจลดลงหรือไม่ ส่วนรัสเชียเองก็ประสบปัญหาเช่นกัน แม้จะมีระดับไม่หนักหนานัก ส่วนอาเซียน10 ประเทศ คงจะอ่อนเปลี้ยไปจากปัญหาโควิดที่ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะยืนทรงตรงขึ้นมาได้

การเป็นผู้นำโลกจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือจะไม่แข่งกันด้านการทหาร ด้านการค้า หรือด้านเทคโนโลยีอย่างที่เป็นมาแต่จะเป็นการมีบทบาทการเป็น ผู้นำด้านอาหารปลอดภัย ผู้นำด้านสาธารณสุข ยา เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์

สิ่งเหล่านี้หรือเปล่าที่ทุกประเทศ โหยหา และวิ่งเข้าหาประเทศที่จะเป็นผู้นำเรื่องเหล่านี้ได้   จะเป็นเกมส์ใหม่ของโลกหรือไม่ แต่ละประเทศมหาอำนาจ จะต้องทุ่มเทงบประมาณไปที่ใด เพื่อให้มีบทบาทนำในเรื่องดังกล่าว แล้วประเทศไทยเราจะอยู่ตรงไหนในสมการใหม่นี้

ดังนั้น โลกหลังโควิด จะเป็นโลกของพหุอภิรัฐพิภพ (Multi-Polarity World) หรือเปล่า คือเป็นโลกที่มีผู้นำหลายๆขั้ว ไม่ใช่ประเทศเดียว หรือสองมหาอำนาจแข่งกัน   หากแต่เป็นผู้นำกันคนละเรื่องหรือไม่ โดยไม่มีใครมีบทบาทนำใครในทุกเรื่อง สหประชาชาติก็มีบทบาทในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์น้อยลงไปเรื่อยๆหรือเปล่า รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปลายปีนี้จะ ได้ผู้นำคนเดิมหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้ก็จะทำให้การต่างประเทศยุคหลังโควิด น่าคิดและท้าทายรัฐบาลทุกรัฐบาลในโลกเป็นอย่างยิ่ง

2) ด้านความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข (Food and Health Security)

โลกหลังโควิดคงเน้นความเพียงพอของอาหารมากขึ้น เมื่อเร็วๆนี้WHO,FAO,และWTO ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ห่วงใยการขาดแคลนอาหารในโลก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปิดพรมแดนจากการล๊อคดาวน์ของประเทศต่างๆ ทำให้การขนส่งอาหารถูกกระทบ

จากปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ  ผมจึงคิดว่าหลังโควิด-19 เรื่องอาหารจะเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นจริงๆ ประเทศไทยจึงมีสถานะที่ดี มีข้อได้เปรียบหลายชาติเพราะเรามีแหล่งอาหารที่มากมาย แทบจะเป็นคลังอาหารของโลก แต่เราเองก็คงจะต้องดูแลให้อาหารเพียงพอต่อคนในประเทศก่อน ให้พอเพียง ยืนบนขาตัวเองได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าคนมี คนจน ไม่ว่าคนตกงานหรือคนมีงานทำ ไม่ว่าคนที่ธุรกิจต้องเสียหาย หรือคนที่ธุรกิจใหม่ๆเฟื่องฟู   ต้องมีอาหารกินเพียงพอ และปลอดภัย ต้องมีการผลิตอาหารที่ทันสมัย มีผลิตผลที่ดี ถึงเวลาแล้วที่เราจะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่9 พระราชทานแนวทางไว้ มาประยุกต์ใช้ ทำทุกอย่างอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล มีความรู้   ไม่ทำอะไรที่มากเกินไป  หรือน้อยเกินไปจนไม่มีภูมิคุ้มกันยามวิกฤต ให้เรายืนบนขาตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้ในการผลิตอาหาร และการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ มีความเพียงพออย่างพอเพียง จากนั้นจึงส่งออก ค้าขายกับนานาประเทศ

ความมั่นคงทางอาหารยังเกี่ยวโยงกับความมั่นคงทางสุขภาพ สาธารณสุข เช่น เรื่องการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย อาหารปลอดสารพิษ อาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค อาหารที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง อาหารที่ฟื้นฟูสุขภาพ อาหารที่กระบวนการผลิตปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีที่อันตรายต่างๆ เหล่าที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องมีการศึกษา การวิจัย การเรียนการสอน การปฏิบัติ การรับเอานวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้อย่างมากในเวลาอันสั้น   เรื่องเทคโนโลยีการผลิตยา วิตามิน เวชภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ น่าจะเป็นทิศทางของกิจกรรมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ประเทศต่างๆคงพัฒนานักเทคโนโลยีของตนให้มากที่สุด

ประเทศไทยเองก็คงต้องสร้างระบบนิเวศน์ในการสร้างนวัตกรรม  (Eco-System for Innovation)ของคนไทย ที่ชักชวนให้แรงจูงใจคนให้มาร่วมคิดร่วมประดิษฐ์ ร่วมพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งยาป้องกันโรค ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆที่เรามีประสบการณ์แล้วว่าที่ผ่านมายามคับขันเขาขาดแคลนอะไร เพียงใด และเราควรส่งเสริมนักเทคโนโลยีไทยอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสาธารณสุข

นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์ของข้อมูลสถิติ(Data Science) ปัญญาประดิษฐ์(AI) ที่จะช่วยหาคำตอบในเรื่องต่างๆจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการคาดการณ์และเข้าใจการระบาดของโรค การแก้ไขการระบาด และระบบการติดตามผู้อาจติดเชื้อ(Test and Trace) เป็นข้อมูลใหญ่ที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง(Big Data Analytic) ซึ่งในอดีตหลายประเทศอาจไม่ใด้ให้ความสำคัญพัฒนาระบบเหล่านี้เพราะไม่เคยคาดคิดว่าจะมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน

3) การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน

จากการสร้างระยะห่างทางสังคม  (Social Distancing) และการปิดสถานที่ต่างๆ ตามมาตรการสาธารณสุขในเกือบ200 ประเทศทั่วโลก (ถ้ารวมเขตปกครองพิเศษต่างๆก็จะถึง210 แห่ง)ทำให้เทคโนโลยี เข้ามาบงการชีวิตคนอย่างไม่มีทางเลือก ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม

การเรียนการสอนออนไลน์  การประชุมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมผ่านระบบทางไกล เช่น วีดิโอคอนเฟอเร๊นซ์  การซื้อของ การสั่งอาหาร ออนไลน์ผ่านแพลทฟอร์มและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะลาซาด้า ช้อบปี้ ไลน์แมน แกร๊พ ฟู๊ดแพนด้า เก็ท หรือการใช้เทคโนโลยีในบริการทางการเงินที่เต็มรูปแบบยิ่งขึ้นเป็นต้น ก็กลายเป็นวิถีชีวิตของคน รวมทั้งคนไทยไปแล้ว  แต่ขณะเดียวกับการขนส่ง  ส่งมอบสินค้าที่สั่งออนไลน์ (Delivery Service) ก็กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วและต้องการคนทำงานมากขึ้นอย่างมาก

ที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่อาชีพไม่เอื้ออำนวยให้ใช้เทคโนโลยีที่มาแทนการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่นการนวดเพื่อสุขภาพ กายภาพบำบัด คนขับรถแท๊กซี่         วินมอเตอร์โซด์ เป็นต้น รวมทั้งคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้ฝึกทักษะเตรียมพร้อมไว้ก่อน กลุ่มคนเหล่านี้ เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่แต่ละสังคมต้องมีกระบวนการเพิ่มทักษะ ปรับปรุงทักษะ (Re-Skill และ Up-Skill) ในการทำงานใหม่ๆ ที่เขาต้องการและการเยียวยาช่วยเหลืออาชีพที่อาศัยเทคโนโลยีมาช่วยไม่ได้อย่างเร็วที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ธุรกิจบริการที่สนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก มีการเติบโตหลายร้อยเปอร์เซนต์ ระบบวิดิโอคอนเฟอเร๊นซ์เกิดขึ้นหลายระบบในเวลาอันสั้น และจะมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ความจำเป็นในการเดินทางในธุรกิจระหว่างประเทศลดลง

เทคโนโลยีในชีวิตของโลกหลังโควิค คงไม่กลับมาสู่ระดับการใช้เทคโนโลยีก่อนโควิดอีกแล้ว แต่จะไปไกลขนาดไหน เทคโนโลยีออนไลน์จะกระทบอาชีพใดบ้าง กระทบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อาชีพอิสระ อาคารสำนักงาน  จะกระทบธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว, การเดินทางมากขนาดไหน จะมีรูปโฉมแตกต่างไปอย่างไร คงต้องชวนคิดกันต่อไปครับ

4) เศรษฐกิจ

ผมคงไม่ต้องชวนคิดอะไรมาก เพราะมีผู้สันทัดกรณีได้แสดงความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 และหลังโควิด-19กันมามากแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่น่าคิดเพิ่มเติมคือ ถ้าปัญหาการระบาดของโควิด-19 เนิ่นนานกว่าที่คิด และคนตกงานมากกว่าที่ประมาณการ ธุรกิจเสียหายมากกว่าที่คิด สังคมในแต่ละประเทศจะเริ่มเดินถึงจุดที่  “ความกลัวความอดอยากจะชนะความกลัวการติดโรค” คือคนจะออกมาทำงาน ไม่กลัวติดเชื้อ ไม่ฟังมาตรการของรัฐ ดังนั้นรัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องหาสมดุลย์ระหว่างการรักษาระยะห่างทางสังคม กับการพยุงเศรษฐกิจของคนกลุ่มต่างๆ ให้พอเหมาะพอเพียง อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่อดตายและไม่ติดโรคไปพร้อมๆกัน

การทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อพยุงภาคเอกชนและเยียวยาบุคคลต่างๆทำให้รัฐต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งในอนาคตอันใกล้ รัฐต่างๆก็จะต้องคิดวิธีหาเงินเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ใช้ไป หรือชำระเงินกู้กรณีที่กู้เงินมา บางรัฐบาลอาจต้องขึ้นภาษีแต่จะขึ้นภาษีอย่างไรที่จะไม่ซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว  บางรัฐบาลต้องเฉือนงบการพัฒนาที่อาจจำเป็นในยามปกติ มาใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งก็จะทำให้หลายประเทศที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือพัฒนาการศึกษาให้ทันโลก ต้องสะดุดหยุดอยู่ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่เพราะขาดงบประมาณ และผลที่จะตกต่อสังคมนั้นคืออะไร

บทส่งท้าย

ความจริงยังมีอีกหลายอย่างที่จะเปลี่ยนไป มีผู้รู้เห็นกันว่า การใช้คำว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อใด ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ “การฟื้นตัว” (Recovery) มักหมายถึงฟื้นกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนการล้มลุกคลุกคลาน แต่สถานการณ์โควิด-19 นั้นหนักหนากว่าวิกฤตทางการระบาดของโรค และหนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจทุกครั้งที่ผ่านมา

ดังนั้น การฟื้นตัวคงเป็นการปรับตัวไปข้างหน้า ไม่ใช่กลับไปสู่สถานะเดิม เป็นข้างหน้าที่ไม่เหมือนเมื่อวาน เป็นพรุ่งนี้ที่ได้แต่คาดเดา…

ให้ความเปลี่ยนแปลงผลักมนุษย์เราไปเรื่อยๆ เป็นชีวิตที่เปลี่ยนไป  เป็นสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป และการบริหารรัฐที่ต้องเปลี่ยนไป ผู้ใดไม่ปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนไม่ทัน ก็จะถูกธรรมชาติบังคับให้เปลี่ยน หรือมิฉะนั้นก็จะถูกทิ้งไว้ที่ชานชลาเพราะไม่มีตั๋วขึ้นรถไฟสายหลังโควิด!

ในอนาคตหากคิดประเด็นชวนคิดได้อีก ก็จะมาขอเชิญชวนท่านทั้งหลายช่วยกันคิดเพื่อการเตรียมความพร้อมของทุกองคาพยพในสังคมไทย สู่สังคมที่เราปรับตัวได้อย่างเพียงพอ โดยการมีสัมมาสติที่จะดำรงตนรอบด้านอย่างพอเพียงครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :

มติชนออนไลน์มติชนออนไลน์

Leave a Reply