ต้อกระจกสุขภาพทั่วไป

ต้อกระจก

Close-up of Old Man's eye. High Technologies in the future
Views

เลนส์ตา (lens)  เป็นอวัยวะสำคัญมีหน้าที่รวมแสง ให้ตกกระทบที่จอประสาทตา (retina) เพื่อให้เกิดสัญญาณไปยังสมอง และแปลให้เกิดเป็นภาพออกมา ดังนั้นหากเลนส์ตามีการขุ่นเกิดขึ้น จะทำให้การมองเห็นลดลงไป โดยเรียกภาวะ เลนส์ตาขุ่น  ว่า โรคต้อกระจก (cataract)  ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายชนิด  เช่น  nuclear sclerosis, cortical, posterior subcapsular, anterior subcapsular และ polar เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น ต้อกระจก

อาการของต้อกระจก

  1. การมองเห็นลดลง ผู้ป่วยมักมีอาการตามัวลง จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถ การอ่านป้าย อ่านหนังสือ หรือแม้แต่กิจวัตรประจำวันง่ายๆ เช่น การเดินขึ้นลงบันได การทำงาน การเดินออกนอกบ้าน ทั้งนี้หากผู้ป่วยได้รับการตรวจวัดระดับการมองเห็น (visual acuity) จะมีระดับการมองเห็นที่ลดลง

อย่างไรก็ตามต้อกระจกแต่ละชนิด  มีผลกระทบต่อระดับการมองเห็นที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับระดับแสง และขนาดของรูม่านตา เช่น ต้อกระจกชนิด posterior subcapsular cataracts (PSCs) ซึ่งแม้มีต้อกระจกชนิดนี้เพียงเล็กน้อย ก็จะมีผลอย่างมากต่อการมองระยะใกล้ เช่น การอ่านหนังสือ โดยที่การมองไกลอาจมีผลเพียงเล็กน้อย และการมองเห็นสีอาจจะเป็นปกติ ในขณะที่ ต้อกระจกชนิด nuclear cataracts มักมีผลต่อการมองระยะไกลมากกว่าระยะใกล้ และอาจมีผลต่อสีที่มองเห็น

  1. เห็นแสงจ้า (glare) มากขึ้น ผู้ป่วยโรคต้อกระจกจะมองเห็นแสงจ้ามากกว่าปกติ เวลาออกแดด หรือเวลาไฟรถยนต์ส่องสวนมาขณะขับรถ โดยต้อกระจกชนิด posterior subcapsular cataracts (PSCs) จะมองเห็นแสงจ้ามาก
  2. ความคมชัดเสียไป หรือแย่ลง
  3. ระดับค่าสายตาเปลี่ยนแปลงในลักษณะสายตาสั้นมากขึ้น  โดยเฉพาะผู้ป่วยต้อกระจกชนิด nuclear sclerosis  ซึ่งแต่เดิมเคยมีระดับสายตาปกติ ไม่สั้น ไม่ยาว และไม่ต้องใส่แว่นเพื่อมองระยะไกล แต่เมื่อเป็นต้อกระจกจะทำให้มองไกลได้ไม่ชัดเหมือนเดิม เกิดภาวะสายตาสั้น ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยเคยมีภาวะสายตายาว และต้องใช้แว่นเพื่อมองไกล ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพบว่ามีสายตากลับมาปกติได้ โดยไม่ต้องใส่แว่น
  4. ภาพซ้อน บางครั้งต้อกระจกสามารถทำให้เห็นภาพซ้อนได้ ภาพซ้อนคือ ภาวะที่มองเห็นวัตถุหนึ่งชิ้น เป็นสองชิ้น อย่างไรก็ตาม การเห็นภาพซ้อน อาจเป็นโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรงได้มากกว่า เช่น โรคอัมพาตของเส้นประสาทสมอง ดังนั้น หากมีภาวะมองเห็นภาพซ้อน ควรปรึกษาจักษุแพทย์

สาเหตุและการป้องกันโรคต้อกระจก

การป้องกันไม่ให้เป็นย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับโรคทุกๆ โรค เราจึงควรเรียนรู้สาเหตุของโรคต้อกระจกที่พบได้บ่อยๆ เช่น

  1. อายุ เมื่อเราอายุมากขึ้น เลนส์ตาก็แก่ตามไปด้วย เลนส์จะมีการอ้วนขึ้นและแข็งขึ้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของ โปรตีนในเนื้อเลนส์
  2. ยาบางชนิด เช่น
    • สเตียรอยด์รวมไปถึงยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน หรือสมุนไพรที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบ
    • ยาออกฤทธิ์ทางจิตประสาทกลุ่ม phenothiazines
    • ยาหดม่านตา
    • ยากลุ่มควบคุมการเต้นของหัวใจ
    • ยาลดระดับไขมันในเส้นเลือด statins ถ้าได้ปริมาณยามากเกินไป
    • ยา tamoxifen

ดังนั้นควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคภัยต่างๆ ที่ทำให้เราอาจต้องได้รับยารักษาที่มีผลต่อการเกิดต้อกระจกได้

  1. แสงอัลตราไวโอเลต หรือ แสง UV การได้รับแสงแดดมากๆ เป็นระยะเวลานาน จะพบโรคต้อกระจกชนิด cortical ได้มากขึ้น ดังนั้น การใส่แว่นกันแดดและหมวกปีกกว้างจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงข้อนี้ได้
  2. สูบบุหรี่ ยาสูบ
  3. ดื่มสุราปริมาณมากๆ
  4. โรคทางกายที่พบว่าสัมพันธ์กับภาวะต้อกระจก เช่น
    • โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง การคุมเบาหวานที่ไม่ดี จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นต้อกระจก
    • โรค Galactosemia
    • โรค Wilson
    • ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
    • โรค myotonic dystrophy
    • โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis)
    • โรค Takayasu arteritis
  1. อุบัติเหตุ ได้แก่ การกระแทกต่อตา โดนหิน   หรือเศษเหล็กกระเด็นเข้าตา นอกจากต้อกระจกแล้ว อาจทำให้ตาแตก สูญเสียการมองเห็นได้
  2. การฉายแสง ผู้ป่วยบางโรค เช่น โรคมะเร็งที่ต้องได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อกระจกได้
  3. สารเคมีเข้าตา โดยเฉพาะสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่าง สามารถกัดทะลุดวงตา ไปหาเลนส์ตา ทำให้เกิดต้อกระจกตามมาได้
  4. ไฟฟ้าช๊อต
  5. โรคทางตาที่ทำให้มีต้อกระจกมากขึ้น เช่น โรคผนังชั้นกลางของตาอักเสบ (uveitis)
    • โรค exfoliation syndrome
    • ตาที่เคยผ่าตัดวุ้นตา หรือจอประสาทตามาก่อน
    • โรคลูกตาส่วนหน้าขาดเลือด (anterior segment ischemia)
    • โรคจอประสาทตาอักเสบและเสื่อมแบบ RP (Retinitis pigmentosa)
    • ภาวะความดันลูกตาต่ำกว่า 6 มิลลิเมตรปรอทเป็นระยะเวลานานๆ

เมื่อเราทราบถึงปัจจัยเสี่ยง และสาเหตุต่างๆ แล้ว จะเห็นว่าอายุเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สาเหตุอื่นๆ เราสามารถเลี่ยงได้ เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราปริมาณมากๆ เลี่ยงแสงแดด ใส่แว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ให้มีโรคประจำตัว ถ้าหากเป็นเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมายอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และหากมีโรคตาใดๆ ควรตรวจกับจักษุแพทย์เป็นประจำ

การวินิจฉัยโรคต้อกระจก

การวินิจฉัยภาวะต้อกระจกที่แม่นยำจำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์ เพื่อการวางแผนวิธีการรักษาต่อไป

การรักษาโรคต้อกระจก

ปัจจุบันยังไม่มียากินหรือยาหยอดใดที่สามารถรักษาให้ต้อกระจกลดลงหรือหายได้ การผ่าตัดต้อกระจก ยังเป็นวิธีการรักษาหลักที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับข้อบ่งชี้ในการ ผ่าต้อกระจก ได้แก่

  • ต้อกระจกเป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน
  • ต้อกระจกเป็นมากจนอาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อนตามมาโดยเฉพาะต้อหิน
  • ต้อกระจกที่บดบังการตรวจลูกตาส่วนหลัง เช่น กรณีเป็นเบาหวานต้องการตรวจจอประสาทตาว่ามีภาวะเบาหวานจอประสาทตาหรือไม่ ถ้าเลนส์ตาขุ่นมาก ก็จะทำให้ตรวจไม่ได้ จำเป็นต้องผ่าตัดต้อกระจกออกก่อน

วิธีการ ผ่าต้อกระจก

ปัจจุบัน มาตรฐานการผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เป็นการใช้อุปกรณ์เข้าไปสลายต้อกระจกออก ผ่านทางแผลบริเวณกระจกตา และใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปทดแทน การผ่าตัดโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ระหว่างผ่าตัดจะมีผ้าคลุมหน้า และได้ยินเสียงเครื่องสลายต้อกระจกดังเป็นระยะๆ  การตรวจตาอย่างละเอียดก่อนผ่าตัดเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ป่วยทุกคนควรได้รับ ได้แก่ การตรวจตาโดยจักษุแพทย์ การตรวจขยายม่านตา การวัดความดันลูกตา การตรวจความโค้งกระจกตา การวัดความยาวลูกตา การวัดเบอร์เลนส์ตาเทียม ในบางกรณีอาจมีการวัดจำนวนเซลล์ของกระจกตาชั้นใน การวัดความหนากระจกตา เป็นต้น

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดต้อกระจก

เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การงดรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด 7 วันก่อนผ่าตัด แต่ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ควรรักษาความสะอาดของร่างกายและใบหน้าในเช้าวันผ่าตัด แนะนำให้อาบน้ำ สระผม ไม่ควรแต่งหน้า

การปฏิบัติตัวหลัง ผ่าต้อกระจก

ตาข้างที่ผ่าตัดจะได้รับการปิดตาไว้ มีฝาครอบตาครอบ ไม่ควรให้ตาข้างที่ผ่าตัดโดนน้ำอย่างน้อย 7 วัน  คืนแรกให้ปิดตา จะเริ่มหยอดยาหลังจากตรวจตาในวันรุ่งขึ้น

  • ใช้ผ้าสะอาดเช็ดใบหน้า ไม่ควรโดนน้ำ ห้ามว่ายน้ำ 1 เดือน
  • ระวังมิให้เศษผุ่น เศษดิน ควัน เข้าตาโดยเด็ดขาด
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแรงๆ ห้ามไอ จาม เบ่งแรงๆ ห้ามขยี้ตา
  • ให้ใช้ฝาครอบตาครอบตาไว้อย่างน้อย 7 วันแรก โดยเฉพาะตอนนอน ส่วนตอนกลางวันอาจใช้แว่นกันแดดใส่แทนได้
  • ผู้ป่วยยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หยอดยา กินยา ตามแพทย์สั่ง และนำยาทุกตัวมาในวันนัด
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตามัวลง ปวดตา ตาแดงขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนนัดได้เลย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกหลายปัจจัยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ทั้งอายุที่มากขึ้น และการเจ็บป่วยบางชนิดที่ส่งผลต่อการเกิดต้อกระจก ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยอีกมากมายที่สามารถปฏิบัติเพื่อป้องกันภาวะต้อกระจกได้  รวมถึงการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และหมั่นพบแพทย์ตามนัด หรือเมื่อเกิดความผิดปกติทางสายตา

นอกจากนี้ หากเป็นต้อกระจกแล้ว หรือพบภาวะผิดปกติทางการมองเห็น ควรเข้ารับการวินิฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ทั้งก่อนและหลังการรักษา เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย