SLEสุขภาพทั่วไป

เอสแอลอี – โรคภูมิแพ้ต่อตัวเอง

Views

เอสแอลอี – โรคภูมิแพ้ต่อตัวเอง

ข้อน่ารู้

1. เอสแอลอี ชื่อโรคประหลาดนี้เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษจากคำว่า SLE ซึ่งย่อมาจาก “Systemic lupuserythematosus” (ซิสเตมิก-ลูปัส-อีริทีมาโตซัส) เนื่องจากชื่อเต็มนี้ยาวและเรียกยาก ฝรั่งจึงนิยมเรียกว่า SLE แทน ไทยเรายังหาคำที่เหมาะๆไม่ได้ จึงเรียกทับศัพท์ว่า เอสแอลอี ซึ่งเป็นคำที่คุ้นกันในหมู่หมอของเรามานานแล้วแต่อาจยังไม่คุ้นสำหรับชาวบ้านทั่วไป

2. โรคเอสแอลอี เป็นโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบภายในร่างกายพร้อมกัน เช่น ผิวหนัง ข้อต่อกระดูก ไต ปอด หัวใจ เลือด สมอง เป็นต้น การอักเสบที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับการติดเอาเชื้อโรคอะไรเข้าไป กล่าวคือ ไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อ จึงไม่ติดต่อหรือแพร่ระบาดให้คนอื่น แต่เกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานหรืออิมมูน (immune) ขึ้นมาต่อต้านเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายของตัวเอง โดยปกติทั่วไป ภูมิต้านทานหรืออิมมูนนี้ จะสร้างต่อเมื่อมีสิ่งแปลกปลอม (เช่น เชื้อโรค สารเคมี) เข้าไปในร่างกาย เพื่อต่อต้านมิให้มันทำอันตรายต่อร่างกาย เปรียบเหมือนยามรักษาความปลอดภัยมิให้ผู้ร้ายบุกรุกเข้ามาในบ้าน ภูมิต้านทานจึงเป็นสิ่งที่คุ้มกันภัยให้ร่างกายคนเรา

แต่คนบางคน มีการสร้างภูมิต้านทานที่ผิดปกติขึ้นต่อต้านเนื้อเยื่อของตัวเอง เปรียบเหมือนยามรักษาการณ์ที่จำคนในบ้านไม่ได้ ทึกทักหาว่าเป็นผู้ร้าย จึงเข้าทำร้าย ภูมิต้านทานที่ผิดปกตินี้จะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ เกิดการอักเสบ เกิดอาการไม่สบายต่างๆ พร้อมกันหลายอย่างการสร้างภูมิต้านทานต่อตัวเองแบบนี้ ภาษาหมอเรียกว่า “โรคภูมิแพ้ต่อตัวเอง” หรือออโตอิมมูน (autoimmune)

3. สาเหตุที่ทำให้คนพวกนี้มีการสร้างภูมิต้านทานต่อตัวเองยังไม่เป็นที่ทราบกันแน่ชัด จึงกล่าวได้ว่า เอสแอลอีเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ปริศนานี้ทำให้เราไม่อาจพยากรณ์ว่าใครบ้างที่จะเป็นเหยื่อของโรคนี้ หรือจะหาทางป้องกันตัวเราเองไม่ให้เป็นโรคนี้ได้อย่างไร แต่สำหรับคนที่เป็นโรคเอสแอลอีอยู่แล้ว พบว่า อาจมีสาเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น ยาบางชนิด การถูกแดด การตั้งครรภ์ การกระทบกระเทือนทางจิตใจ (ความเครียด) การเป็นโรคติดเชื้อนำมาก่อน เป็นต้น

4. โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะเป็นเรื้อรัง ต้องคอยรักษาเป็น 5-10 ปี หรือตลอดชีวิต อาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไป บางคนเป็นไม่มาก ก็อาจหายขาดได้ แต่บางคนอาจเป็นมาก เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ไตอักเสบ ปอดอักเสบ หัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ไตวาย หัวใจวาย ซึ่งอาจทำให้พิการหรืออายุสั้นได้

5. โรคนี้พบได้ประปรายในหมู่คนไทย ก็อาจเป็นในเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ พบมากในช่วงอายุ 20-45 ปี และจะเป็นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 10 เท่า (เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มโรคออโตอิมมูน เช่น โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ , โรคคอพอกเป็นพิษ มักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเสมอ)


รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

เนื่องจากเอสแอลอีจะมีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ จึงมักมีอาการได้ต่างๆนานา ที่พบบ่อยคือ เป็นไข้ (ตัวร้อน) , ปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้าทั้ง 2 ข้าง (ทุกข้อ) , ผมร่วง อาการเหล่านี้มักจะเป็นติดต่อกันเป็นแรมเดือน นอกจากนี้คนไข้ยังมักจะมีผื่นหรือฝ้าแดงๆ ขึ้นที่โหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง ทำให้มีลักษณะเหมือนปีกผีเสื้อ เรียกว่า ผื่นปีกผีเสื้อ (butterfly rash) จะเห็นชัดเมื่อถูกแดด

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีจุดแดง (เท่าปลายเข็มหมุด) ขึ้นตามผิวหนัง เมื่อเป็นลมพิษเรื้อรัง ซีดเหลือง ชาปลายมือปลายเท้า เป็นต้น ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการบวมทั้งตัว (จากไตอักเสบ) , หายใจหอบ (จากปอดอักเสบ หรือหัวใจวาย) ชีพจรเต้นเร็วหรือไม่สม่ำเสมอ (จากหัวใจอักเสบ) หรือมีอาการทางสมอง (จากสมองอักเสบ) เช่น เสียสติ เพ้อ ซึม ประสาทหลอน แขนขาอ่อนแรง ตาเหล่ ชัก หมดสติ เป็นต้น อาการอันหลากหลายเหล่านี้ ทำให้ยากแก่การแยกแยะจากโรคอื่นๆมากมาย อาทิเช่น อาการตัวร้อนนานเป็นเดือน อาจเกิดสาเหตุอื่น เช่น วัณโรค ไข้มาลาเรีย มะเร็ง โรคติดเชื้อร้ายแรง เป็นต้น อาการปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้า อาจมีสาเหตุจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) ก็ได้ อาการบวม อาจมีสาเหตุจากโรคไตโดยตรงก็ได้ อาการจุดแดงขึ้นตามผิวหนัง อาจเกิดจากโรคเลือดก็ได้ เหล่านี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอาการเจ็บป่วยเหล่านี้จะเกิดจากโรคเอสแอลอีหรือโรคอื่นๆ ก็ล้วนแต่จะต้องหาหมอทั้งสิ้น
เมื่อไรควรไปหาหมอ

เมื่อมีอาการไม่สบายที่ชวนให้สงสัยว่าเป็นโรคเอสแอลอี เช่น ไข้เรื้อรัง ปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้าเรื้อรัง ผมร่วงผิดสังเกต มีจุดแดงขึ้นตามผิวหนัง ควรไปหาหมอโดยเร็ว
แพทย์จะทำอะไรให้

นอกจากการซักถามอาการและตรวจร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วแพทย์จะทำการตรวจเลือด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสิ่งที่เรียกว่า “เซลล์แอลอี” จะช่วยยืนยันว่าเป็นโรคนี้) ตรวจปัสสาวะ (ดูว่ามีไตอักเสบร่วมด้วยหรือไม่) และอาจตรวจเอกซเรย์ ตรวจคลื่นหัวใจ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ การรักษา ถ้าเป็นรุนแรงจะต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล ในรายที่เป็นไม่รุนแรง แพทย์จะให้กินยาลดการอักเสบ ได้แก่ ยาสตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) ทุกวัน เริ่มแรกอาจให้กินขนาดสูงแล้วค่อยๆลดลงจนเหลือวันละ 1-2 เม็ด ซึ่งอาจต้องกินติดต่อกันไปเป็นแรมปี จนกว่าจะแน่ใจว่าโรคทุเลาลงแล้ว

ยานี้อาจทำให้หน้าอูม บวมฉุ สิวขึ้นขนอ่อนขึ้น หรือทำให้เป็นโรคกระเพาะ (อาจต้องกินยาลดกรดควบด้วย เพื่อป้องกันโรคนี้) ยานี้ถือว่าช่วยควบคุมโรคนี้ได้ดี และใช้ภายใต้การกำกับของแพทย์ ก็นับว่าใช้ได้ปลอดภัย หลังจากใช้ยา แพทย์จะต้องนัดคนไข้มาตรวจเป็นช่วงๆ เพื่อประเมินผลการรักษาและปรับขนาดของยา ผลการรักษาไม่แน่นอน ขึ้นกับความรุนแรงของโรค บางคนอาจมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง บางคนอาจมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ถ้าคนไข้สามารถมีชีวิตรอดพ้นจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้เกิน 5 ปี โรคก็จะไม่กำเริบรุนแรง และจะค่อยๆ สงบไปได้ นานๆ ครั้งอาจมีอาการกำเริบ แต่มักจะไม่รุนแรง และคนไข้สามารถมีชีวิตเยี่ยงคนปกติได้

โดยสรุป เอสแอลอีเป็นโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ เนื่องจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตัวเอง โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน มีอาการได้ต่างๆ นานา ซึ่งมักเป็นเรื้อรังในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรงได้ คนไข้จะต้องกินยาและตรวจกับแพทย์ตามนัด และต้องหมั่นรักษาสุขภาพกายและจิตใจให้ดี
การดูแลรักษาตนเอง

หากมีอาการเป็นไข้ ปวดข้อและผมร่วง (พร้อมกันทั้ง 3 อย่าง) หรือมีจุดแดงขึ้นตามผิวหนัง หรือบวมทั่วตัว หรือเหนื่อยหอบ หรือน้ำหนักลด หรืออ่อนเพลียผิดสังเกต หรือเป็นลมพิษเรื้อรัง ควรปรึกษาหมอโดยเร็ว

สำหรับคนที่แพทย์ตรวจพบว่า เป็นโรคเอสแอลอี ควรปฏิบัติตัวดังนี้

1. กินยา และตรวจรักษากับแพทย์เป็นประจำ อย่าได้ขาด อย่าเปลี่ยนหมอเปลี่ยนยา (ยาสมุนไพรยังไม่มีการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลต่อโรคนี้โดยตรง นอกจากผลทางด้านจิตใจ หากต้องซื้อหาด้วยราคาแพง ก็ไม่แนะนำให้ซื้อมาใช้)

2. อย่าตรากตรำทำงานหนัก

3. ทำจิตใจให้สบาย อย่าท้อแท้สิ้นหวัง หรือวิตกกังวล ด้วยการออกกำลังพอประมาณ ทำสมาธิ หรือสวดมนต์ภาวนา ยอมรับและเผชิญกับโรคอย่างรู้เท่าทัน

4. หลีกเลี่ยงการออกกลางแดด ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด ควรกางร่ม สวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาว

5. หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อย่าเข้าไปในที่ๆมีคนแออัด หรือเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย เพราะการติดเชื้ออาจทำให้โรคกำเริบได้

ข้อมูลสื่อ

157-003

นิตยสารหมอชาวบ้าน 157

พฤษภาคม 2535
แนะยา-แจงโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ