น้ำตาล ที่ให้ความหวานกับเรา อาจจะไม่หวานอีกต่อไปหากได้รู้ถึง โทษของน้ำตาล เพราะในอาหารหวาน ๆ ที่เรากินกันเป็นประจำทุกวันทั้งอาหารคาวหวาน เครื่องดื่ม กลับมาทำร้ายสุขภาพของเราอย่างช้า ๆ โดยไม่รู้ตัว
น้ำตาล ถือว่าเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้พลังงานกับร่างกาย เหมือนกินข้าว กินแป้ง น้ำตาลยังช่วยกระตุ้นการหลั่งของสารเคมีบางชนิดในสมอง ทำให้รู้สึกสดชื่น อารมณ์ดี และช่วยให้วงจรต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้น้ำตาลจะให้พลังงานกับร่างกาย แต่ร่างกายต้องการเพียงน้อยนิดเท่านั้น เพราะหากได้รับน้ำตาลมากเกินไป จากประโยชน์อาจกลายเป็นโทษได้
มารู้จักโครงสร้างของน้ำตาล
น้ำตาลที่เรากินกันประจำคือ น้ำตาลทราย แต่จริง ๆ แล้วน้ำตาลมีหลายประเภท เราสามารถแบ่งประเภทของน้ำตาลตามคุณสมบัติทางโครงสร้างได้ ดังนี้
น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คือน้ำตาลที่มีโมเลกุลของคาร์โบไฮเดรตที่เล็กสุด เมื่อกินเข้าไป กระเพาะและลำไส้เล็กสามารถดูดซึมได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อย มีรสหวาน สามารถละลายน้ำได้ ได้แก่
- กลูโคส คือน้ำตาลที่เป็นผลสุดท้ายของการย่อยคาร์โบไฮเดรตก่อนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย พบได้ในผักและผลไม้ทั่วไป
- ฟรุกโตส พบในผักผลไม้ที่มีรสหวานทั่ว ๆ ไป และในน้ำผึ้ง
- กาแลกโตส คือน้ำตาลที่ได้จากการสลายตัวของแลกโทสในน้ำนม พบได้ในน้ำนม
น้ำตาลโมเลกุลคู่ เป็นคาร์โบไฮเดรตที่เกิดจากการรวมตัวกันของน้ำตาลเชิงเดี่ยวสองโมเลกุล มีรสหวาน ละลายน้ำได้ เมื่อรับประทานเข้าไป น้ำตาลประเภทนี้ไม่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทันที จะต้องผ่านกระบวนการย่อยให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวก่อน จึงจะสามารถนำไปใช้งานได้ ได้แก่
- ซูโครส ได้จากน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลอ้อย เป็นน้ำตาลที่เรากินกันเป็นประจำ กินมากกว่าคาร์โบไฮเดรตอื่น ๆ เมื่อน้ำตาลซูโครสแตกตัวหรือถูกย่อยจะให้น้ำตาลกลูโคสกับน้ำตาลฟรุกโตสอย่างละ 1 โมเลกุล
- มอลโตส เป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่เกิดจาการรวมตัวของกลูโคส 2 โมเลกุล เป็นน้ำตาลที่มีอยู่ในเมล็ดพืชที่กำลังงอก เช่น น้ำตาลมอลต์ที่ได้จากข้าวมอลต์
- แลกโตส เกิดจากการรวมตัวกันของกลูโคสกับกาแลกโตส อย่างละ 1 โมเลกุล ไม่พบในพืช มักพบอยู่ในน้ำนม เราจึงรู้จักในชื่อ น้ำตาลนม
โทษของน้ำตาล อันตรายอย่างไร?
- โทษของน้ำตาล ทำให้อ้วน ถ้ากินน้ำตาลที่มากเกินความต้องการของร่างกาย เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดจะเป็นพลังงานส่วนเกิน และเปลี่ยนเป็นไขมันเก็บสะสมในร่างกายเป็นสาเหตุของ ภาวะอ้วน ซึ่งทำให้เกิดโรคเรื้อรังหลาย ๆ โรคตามมา เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ
- ร่างกายติดเชื้อง่าย คนที่ชอบกินน้ำตาล กินหวานจัดบ่อย ๆ จะทำให้ระบบความสมดุลแร่ธาตุในร่างกายเสีย ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง ทำให้ติดเชื้อง่าย เจ็บป่วยง่าย
- ทำให้ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง การเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายบ่อย ๆ ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระ เมื่อกินน้ำตาลเป็นเวลานาน จะทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น
- ร่างกายเซื่องซึม เมื่อกินน้ำตาลซูโครสมากเกินแทนที่จะสดชื่น แต่จะทำให้กรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ทริปโตฟาน ถูกเร่งเข้าสู่สมองมากเกินไป ทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนในสมอง ผลที่ตามมาก็คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึม เหนื่อย ไม่กระฉับกระเฉง ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เรียนไม่รู้เรื่อง
- สาเหตุโรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง เลือดเป็นกรด ร่างกายไม่สมดุล ทำให้ตับอ่อนให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพื่อที่จะได้เปลี่ยนระดับน้ำตาลให้กลายเป็นไกลโคเจน และไขมัน ทำให้ตับอ่อนล้าหรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ และผลที่ตามมาก็คือการเกิดโรคเบาหวาน
10 โรคร้าย ที่แฝงมากับ “น้ำตาล”
- โรคเบาหวาน การกินหวานมากเกินไป ทำให้มีโอกาสเกิดโรคเบาหวานที่เกิดจากการสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายดื้อต่ออินซูลิน โดยเมื่อกินอาหารที่มีน้ำตาลสูงเป็นเวลานานก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป็นเบาหวานได้ หากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาเพียงพอ
- โรคอ้วน เมื่อกินหวาน กินน้ำตาลมากเกินความต้องการ ร่างกายจะเผาผลาญไม่หมด ทำให้น้ำตาลกลายเป็นไขมันส่วนเกินในร่างกาย จนเกิดภาวะอ้วน เป็นโรคอ้วนได้
- โรคผิวหนัง เมื่อเกิดภาวะอ้วนขึ้นจากการกินน้ำตาลมากเกินไป ทำให้ร่างกายมีโอกาสติดเชื้อราได้ง่าย มักพบบริเวณขาหนีบหรือรอยพับของผิวหนัง และอาจเกิดเส้นเลือดขอดตามแขนขาได้อีกด้วย รวมทั้งทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น แก่ก่อนวัยด้วย
- โรคมะเร็ง เมื่อกินน้ำตาลมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะอ้วน ซึ่งความอ้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งในอวัยวะบางส่วนของร่างกาย เช่น มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อลูกหมาก มะเร็งหลอดอาหาร หรือมะเร็งปอดในผู้ที่ไม่สุบบุหรี่ เป็นต้น
- โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยจากความอ้วน และ น้ำตาลในเลือดสูงเพราะโรคเบาหวาน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงให้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน
- กระดูกพรุน เมื่อเป็นเบาหวานไม่ว่าจะชนิดใด ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงอยู่เป็นเวลานานจนเกิดผลเสียต่อร่างกายรวมถึงกระดูกด้วย ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงอย่างมากแม้ว่าความหนาแน่นของกระดูกอาจไม่ลดลง
- ไขมันพอกตับ เกิดจากร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนทำให้เกิดการสะสมอยู่ที่ตับ ซึ่งไขมันส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งมาจากอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน และ น้ำตาล นั่นเอง
- ความดันโลหิตสูง สาเหตุของโรคความดันโลหิตอาจจะไม่แน่ชัด แต่น้ำหนักตัวเกินและภาวะอ้วน อาจทำให้เกิดความเสี่ยง เพราะโรคหลอดเลือดต่าง ๆ ที่ตีบจากภาวะไขมันเกาะผนังหลอดเลือด เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมาได้
- โรคซึมเศร้า มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ทำการทดลองเรื่องระดับน้ำตาลกับภาวะซึมเศร้ากับหนู แสดงให้เห็นว่าการได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เกินขนาด จะทำให้การผลิตโปรตีนที่ชื่อว่า BDNF ในสมองลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการควบคุมระดับความเครียด และนำไปสู่ภาวะอารมณ์แปรปรวนขั้นรุนแรงได้
- ฟันผุ น้ำตาลทรายเป็นน้ำตาลประเภทซูโครส เป็นน้ำตาลที่อันตรายที่สุดต่อฟัน เพราะเป็นน้ำตาลที่จุลินทรีย์ ซึ่งอยู่ในจุลินทรีย์ชอบมากที่สุด หากกินหวานมาก ๆ โดยไม่ดูแลช่องปากให้สะอาด โดยเฉพาะในเด็ก ๆ มีโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายมาก ซึ่งฟันผุนั้นหากไม่รักษาก็อาจส่งผลให้เกิดโรคเหงือกและช่องปากร้ายแรงตามมาได้