เบาหวานโรคหลอดเลือดสมองตีบ

โรคหลอดเลือดแดงตีบในผู้เป็นเบาหวาน

Views

จากสถิติของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) พ.ศ. 2558 รายงานจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกประมาณ 415 ล้านคน และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานมากถึง 5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่มากกว่าโรคติดเชื้อ เช่น ไวรัสเอดส์ หรือวัณโรคปอด ส่วนสถิติของประเทศไทย สำรวจประชากรที่อายุมากกว่า 50 ปี พบว่าโรคเบาหวานเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในเพศหญิงและอันดับ 7 ในเพศชาย 

      ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ เสียชีวิตจากโรคของหลอดเลือดต่าง ๆ (cardiovascular disease) (2-27 ราย ต่อประชากร 1,000 คนต่อปี) เช่น โรคหัวใจ (1-7:1000/ปี) โรคหลอดเลือดสมอง (1-9:1000/ปี) และโรคหลอดเลือดที่ขาตีบตัน เป็นต้น

การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติเป็นระยะเวลานาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ในผู้เป็นเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (atherosclerosis) โดยเกิดได้ในทุก ๆ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เนื่องจากน้ำตาลที่สูงทำให้เกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญพลังงานในระดับเซลล์ เกิดการสร้างสารเคมีและสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ (reactive oxygen species, inflammatory cytokines, advanced glycation end products) ส่งผลให้หลอดเลือดแดงเสียความยืดหยุ่น เปราะ และฉีกขาดง่าย เกิดการเปลี่ยนแปลงการเเข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดจับตัวกันง่ายขึ้น นอกจากนี้น้ำตาลที่มีปริมาณมากยังทำให้เกิดการจับตัวเป็นก้อน (plaque) เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลงเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง

      นอกเหนือจากน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลเสียต่อการตีบตันของหลอดเลือดแดงดังกล่าวแล้ว การที่ผู้เป็นเบาหวานมีระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และ/หรือสูบบุหรี่ร่วมด้วย จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมอง หัวใจ ไต และเท้า ทำให้การทำงานของอวัยวะเหล่านี้เสียหน้าที่ เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้

  ผู้เป็นเบาหวานมีความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้มากถึงร้อยละ 14.8-41 โดยผู้เป็นเบาหวานเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน 3-4 เท่า ทำให้หลอดเลือดแดงโคโรนารีที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดการตีบแข็ง เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง ทำให้หัวใจต้องออกแรงทำงานมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประกอบกิจวัตรประจำวันหรือการออกกำลังกาย ส่งผลทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยเวลาออกแรงหากเป็นมากขึ้น ทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้

      ผู้เป็นเบาหวานยังมีโอกาสเกิดปัญหาหลอดเลือดแดงตีบแข็งที่สมอง ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้มากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน 3-4 เท่า เมื่อหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจน เนื้อสมองตาย ผู้เป็นเบาหวานอาจมีอาการชาครึ่งซีก หรืออ่อนแรงแขนขาครึ่งซีก หากสมองขาดเลือดเป็นบริเวณกว้างหรือส่งผลต่อศูนย์ควบคุมการหายใจ ทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ต้องนอนติดเตียง เกิดโรคติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่ายและเสียชีวิตได้เช่นกัน  


การป้องกันโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง ได้แก่

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ (น้ำตาลสะสมหรือ HbA1c น้อยกว่า 6.5-7%)
  • ควบคุมไขมันในเลือดให้ปกติ (ไขมัน LDL-cholesterol น้อยกว่า 100 มก./ดล.)
  • ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ (น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท)
  • ควบคุมอาหาร เลี่ยงอาหารหวานและอาหารที่มีไขมันสูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
  • งดดื่มเหล้าและงดสูบบุหรี่

ขอขอบคุณข้อมูล:foryoursewwtheart.org

Leave a Reply