สุขภาพผู้สูงอายุเบาหวาน

เบาหวานในผู้สูงอายุ

Views

โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และพบมากถึงร้อยละ 20 ในคนไทยที่อายุมากกว่า 60 ปี สาเหตุที่ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าคนที่อายุน้อยเนื่องจากอายุที่มากขึ้นจะมีการเสื่อมของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินสุลินที่ใช้ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้การที่อายุมากขึ้นยังอาจทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินสุลินหรือทำให้ฮอร์โมนอินสุลินออกฤทธิ์ได้น้อยลงเช่นกัน

โรคเบาหวานมีความน่ากลัวเพราะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดต่างๆ ทั่วร่างกายโดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งและตีบตันซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของคนไทย การป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบตันทำได้โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือด โดยการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวาน อาหารเค็ม และอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะต้องรับประทานยาลดระดับน้ำตาล ยาลดความดันโลหิตหรือยาลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดร่วมด้วย ผู้ที่ควบคุมได้ดี ควรมีระดับน้ำตาลเฉลี่ยหรือน้ำตาลสะสม ( Hemoglobin A1C ) น้อยกว่าร้อยละ 7 ระดับความดันโลหิตน้อยกว่า 130 มม.ปรอท( ตัวบน ) และ 80 มม.ปรอท( ตัวล่าง ) ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดตัวร้าย ( LDL) น้อยกว่า 100 มก./ดล.

การควบคุมระดับน้ำตาลในผู้สูงอายุด้วยการใช้ยาควรต้องระวังผลข้างเคียงของยาที่จะก่อให้เกิดระดับน้ำตาลต่ำในเลือด ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการเลือกใช้ยาที่ถูกต้องภายใต้คำแนะนำของแพทย์ การรับประทานอาหารตามมื้ออาหารอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการควบคุมความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุโดยลดความดันโลหิตตัวบนให้น้อยกว่า 130 มม.ปรอทอาจจะทำได้ยากเนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุอาจจะมีอาการมึนงงศีรษะจากการลดระดับความดันโลหิตได้ ดังนั้นในบางครั้งอาจจะยอมให้ความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ดังกล่าวได้เล็กน้อย ส่วนการใช้ยาลดระดับโคเลสเตอรอลในผู้สูงอายุพบว่าปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย

ที่มา: นพ. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์

ขอขอบคุณhttps://www.nestle.co.th/

Leave a Reply