กรดไหลย้อนมะเร็งหลอดอาหารรู้ทัน-โรค

“กรดไหลย้อน” มีอาการอย่างไร สาเหตุมาจากอะไร?

Views

โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคกรดไหลย้อน” ในปัจจุบันเราจะได้ยินผู้คนพูดถึงเรื่องโรคนี้กันบ่อยมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะโรคกรดไหลย้อนเป็นโรคหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก และไม่ว่าใครก็สามารถเป็นโรคนี้ได้

โรคกรดไหลย้อน ในทางการแพทย์ เรียกว่า Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่เด็ก ๆ ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ จัดเป็นโรคทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก เรอเปรี้ยวบ่อย ๆ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย


สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนนั้นเรียกได้ว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง อย่างการรับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที การทานอาหารมันๆ หรือการทานเยอะเกินไป จนทำให้เกิดความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร หรือความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร กรดจากกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหารได้มากขึ้นนั่นเอง


ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคกรดไหลย้อน

โรคนี้เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ก็คือ ภาวะน้ำหนักเกิน พฤติกรรมการรับประทานและการนอน อย่างการรับประทานแล้วนอนทันที การรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อย่างส้ม มะนาวบ่อยๆ การรับประทานช็อคโกแลต หรืออาหารที่มีส่วนผสมของมิ้นท์ พวกนี้จะทำให้หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวได้บ่อยขึ้นนำไปสู่การเกิดกรดไหลย้อนได้ นอกจากนั้น ความอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการดื่มน้ำอัดลมบ่อยๆ ก็ถือว่าเป็นปัจจัยเสริมที่มีส่วนทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้เช่นกัน

ความเครียดกับโรคกรดไหลย้อน

ความเครียดสัมพันธ์กับเรื่องกรดไหลย้อนโดยตรง เพราะความเครียดส่งผลในด้านลบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ในทางการแพทย์เรามักจะพบว่าคนที่มีความเครียด มักจะมีภาวะที่เรียกว่า ภาวะหลอดอาหารมีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น (Esophageal hypersensitivity) หลอดอาหารจึงอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คนกลุ่มนี้ก็จะมีอาการแสดงให้เห็นทันที คือรู้สึกได้ไวมากกว่าคนปกติทั่วไป

อาการของโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนนั้นมีหลายอาการที่แสดงออกมาทั้งแบบเด่นชัดและแบบซ่อนเร้น อาการที่ชัดเจนของโรคนี้ คืออาการแสบร้อนกลางอก มีอาการเรอเปรี้ยวบ่อยๆ แต่ก็มีไม่น้อยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการที่ไม่ชัดเจน หลายๆ อาการที่แตกต่างกันไป เช่น เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หรือหูอักเสบ ซึ่งอาจทำให้แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนของโรค อาจต้องทำการตรวจโดยแพทย์จากหลายสาขา จนพบสาเหตุที่แท้จริง

การรักษาโรคกรดไหลย้อน

เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อดูว่าคนไข้มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ถ้าวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน เบื้องต้นแพทย์ก็จะให้คำแนะนำในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ร่วมกับการให้ยาลดกรด การปรับพฤติกรรมที่แพทย์มักแนะนำคือการปรับเรื่องของปริมาณของอาหารที่รับประทานและชนิดของอาหาร การงดรับประทานอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง พยายามลดการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดอาการได้เป็นอย่างดี

อันตรายของโรคกรดไหลย้อนหากไม่รักษา

หากเป็นโรคกรดไหลย้อนแล้วปล่อยเนิ่นนานจนเป็นเรื้อรัง ก็จะส่งผลให้หลอดอาหารมีแผล หรือหลอดอาหารตีบ ทำให้กลืนติด กลืนลำบาก หรือบางคนร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารเลยก็ได้ เพราะหลอดอาหารส่วนปลายมีการสัมผัสกับกรดมากเกินไป ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด

โรคกรดไหลย้อนกับการซื้อยารับประทานเอง

จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องผิด หากจะซื้อยามารับประทานเอง แต่จะให้ดีควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเป็นโรคใด แม้ว่าเราจะสังเกตอาการแล้วพบว่าเรามีอาการใกล้เคียงกับกรดไหลย้อน แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นโรคนี้เสมอไปก็ได้ ดังนั้น การซื้อยาลดกรดมารับประทานแม้จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี แต่ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้องเสมอไป เพราะยาต่างๆ ถ้ารับประทานนานๆ หรือบ่อยๆ ก็คงไม่ส่งผลดีต่อร่างกายแน่นอน

การตรวจเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน

ผู้ป่วยที่มีอาการจำเพาะเจาะจงกับกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนกลางหน้าอก เรอเปรี้ยวในระยะแรกอาจไม่ต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาลดกรดคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยที่หากมีการตอบสนองต่อการรักษาดี ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคกรดไหลย้อน

แต่หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น การตรวจขั้นตอนต่อไปที่แนะนำ คือ การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อดูว่ามีโรคอื่นซ่อนอยู่หรือไม่ ในกรณีที่ต้องการผลการวินิจฉัยที่แน่นอนเพื่อวางแผนการรักษาในขั้นตอนถัดไป แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจวัดกรดในหลอดอาหาร 24 ชั่วโมงเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :นพ. อนุพงศ์ ตั้งอรุณสันติ แพทย์ชำนาญการด้านโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาล สมิติเวช สุขุมวิท

ภาพ :iStock

ขอขอบคุณhttps://www.sanook.com/

Leave a Reply