กรมการแพทย์เผยสัญญาณอันตรายมะเร็งปอด หากพบไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะเป็นเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบมีเสียงหวีด เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนไป เจ็บหน้าอกหรือหัวไหล่ ปอดติดเชื้อง่าย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ลดเสี่ยงมะเร็งปอด
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญ ทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคมะเร็งปอดที่คนทั่วโลกป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก รายงานว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลก 2 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิต 1.7 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2557 มีผู้ป่วยมะเร็งปอดเพศชายรายใหม่จำนวน 9,779 คน หรือคิดเป็น 27.4 คนต่อประชากรแสนคนและเพศหญิงจำนวน 5,509 คน หรือคิดเป็น 14.2 คนต่อประชากรแสนคน และในปี 2559 มีคนไทยเสียชีวิต 13,414 คนต่อปี
ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งปอด
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด คือ
- การสูบหรือรับควันบุหรี่
- พันธุกรรม
- สัมผัสสารก่อมะเร็งอื่นๆ ที่พบว่าเป็นสาเหตุได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปอดเช่น ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสีควันธูป ควันจากท่อเสีย และมลภาวะทางอากาศ
อาการของโรคมะเร็งปอด
อาการของมะเร็งปอดที่พบบ่อย ได้แก่
- ไอเรื้อรัง
- ไอมีเสมหะเป็นเลือด
- หายใจลำบาก
- เหนื่อยหอบ
- มีเสียงหวีด
- เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนไป
- เจ็บหน้าอกหรือหัวไหล่
- ปอดติดเชื้อง่าย
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลด
มะเร็งปอด ไม่มีตรวจคัดกรอง
ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพในระดับประชากร แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการคัดกรองเป็นประจำทุกปี หรือหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์การรักษาโรคมะเร็งนี้ คือการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดการฉายรังสี และการรักษาโดยให้ยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็ง ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในระยะใดของโรคดังนั้นการตรวจคัดกรองในรายที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดสูงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถค้นหาผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกได้และให้การรักษาตั้งแต่เนิ่นๆทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้นแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ
การป้องกันโรคมะเร็งปอด
การป้องกัน ด้วยวิธีง่ายๆเพียงแค่เริ่มต้น “เลิกสูบบุหรี่” เพื่อตัวคุณเอง ครอบครัวและสังคมรอบข้าง และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์