เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “มะเร็ง“ ระยะสุดท้าย อะไรๆ ก็คงจะดูแย่ไปเสียหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็น “มะเร็งปอด“ ที่คนไม่สูบบุหรี่ก็มีความเสี่ยงจะเป็นได้เช่นกัน วันนี้ จะพามาทำความเข้าใจกับมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เพราะจริงๆ แล้วก็มีโอกาสที่จะรักษาให้อาการดีขึ้นได้เช่นกัน
เมื่อแพทย์พูดถึงการเป็น มะเร็งปอดระยะสุดท้าย
มะเร็งปอดระยะสุดท้าย หมายถึง มะเร็งปอดในระยะที่สามบี หรือระยะที่สี่ ซึ่งในช่วงนี้ถึงแม้ว่ามะเร็งชนิดสมอลล์เซลล์จะสามารถลุกลามไปเป็นระยะสุดท้ายได้ แต่ในทางศัพท์เฉพาะทางการแพทย์แล้วมักหมายถึง มะเร็งปอดชนิด นอน-สมอลล์เซลล์ ที่เป็น 85% ของมะเร็งปอดทั้งหมด ส่วนเหตุผลที่มีการแบ่งมะเร็งปอดออกเป็นระยะต้นกับระยะปลายนั้น เพราะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน โดยในระยะต้นจะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ในขณะที่วิธีอื่นๆ จะนิยมรักษาในระยะสุดท้ายของมะเร็งปอด
ระยะมะเร็งปอดในระยะสุดท้าย
- ระยะที่สามบี (Stage IIIB) คือ มะเร็งปอดชนิด นอน-สมอลล์เซลล์ในระยะที่สามบี ซึ่งจะมีก้อนมะเร็งขนาดใดก็ได้จะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณทรวงอกด้านตรงข้ามใกล้กับกระดูกไหปลาร้า หรือเซลล์มะเร็งอาจจะเข้าไปกินอวัยวะอื่นๆ ภายในทรวงอก อาทิ หัวใจ หรือหลอดเลือด
- ระยะที่สี่ (Stage IV) คือ มะเร็งปอดชนิด นอน-สมอลล์เซลล์ระยะที่สี่ ซึ่งมะเร็งนั้นได้กระจายไปตามช่องเยื่อหุ้มปอด หรือกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายแล้ว โดยส่วนใหญ่มักกระจายไปตามกระดูก ตับ สมอง หรือต่อมหมวกไต
“มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” มีอาการอย่างไร?
อาการของมะเร็งปอดระยะสุดท้ายอาจสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของก้อนมะเร็งภายในปอด อีกทั้งเซลล์มะเร็งนั้นจะกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ส่วนอาการทางปอดที่พบได้บ่อย อาทิ ไอเรื้อรัง, ไอเป็นเลือด, หายใจไม่อิ่ม, หายใจหอบวี้ด อีกทั้งก้อนมะเร็งยังอาจไปกดทับเส้นประสาทในทรวงอกจนทำให้มีเสียงที่แหบได้ นานเข้าเมื่อมะเร็งปอดโตขึ้น หรือเกิดการกระจายมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดเอง และเบื่ออาหารได้ เมื่อมะเร็งปอดกระจายไปยังสมองอาจทำให้ปวดหัว, พูดไม่ชัด, ความจำเสื่อม และอ่อนแรง หากกระจายไปยังตับก็จะทำให้ปวดท้องและตัวเหลือง ตาเหลือง ส่วนมะเร็งปอดที่กระจายไปยังกระดูกก็จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง, ปวดไหล่ และซี่โครงได้
การวินิจฉัย “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย”
การตรวจพบ “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” อาจทำได้ด้วยการเอกซเรย์ หรือซีทีสแกน รวมถึงการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อมาตรวจเพิ่มเติมก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อบ่งบอกว่าความผิดปกติที่พบนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ เป็นมะเร็งชนิดใด สำหรับมะเร็งปอดระยะสุดท้าย หรือมะเร็งปอดชนิด นอน-สมอลล์เซลล์นั้น การตรวจยีน หรือโมเลกุลสารพันธุกรรมนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ในขณะที่การตรวจชิ้นเนื้อจากปอดในแบบปกติก็ยังจำเป็นอยู่เพื่อเป็นการตรวจหายีนดังกล่าว และในปี 2016 ที่ผ่านมา การตรวจชิ้นเนื้อในลักษณะของเหลวก็ได้รับอนุญาตให้ใช้ตรวจในทางการแพทย์เพื่อตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ (EGFR
การรักษา “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย”
ในความเป็นจริง การรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดในระยะสุดท้ายนั้น โอกาสที่จะรอดชีวิตมีน้อยมาก แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์และการรักษาในปัจจุบันกำลังเดินหน้าเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งความพยายามเหล่านั้นใกล้จะสำเร็จและดีขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น หากได้อ่านสถิติ หรือข้อมูลการรักษาโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายที่ระบุว่าโอกาสหายแทบไม่มีก็อย่าเพิ่งรู้สึกท้อแท้ เราจะต้องรู้ว่าเราสามารถทำอะไรกับโรคที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้บ้าง อาจต้องใช้เวลาในการรักษาอยู่มากพอสมควร อาทิ ข้อมูลที่เกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคมะเร็งระยะสุดท้ายแบบใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างหลากหลายตั้งแต่ปี 2011 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นความหวังที่ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น
ชนิดของการรักษา
ในปัจจุบัน ผู้ป่วยจะมีส่วนร่วมในการรักษามะเร็งปอดได้มากกว่าที่ผ่านมา โดยแพทย์และผู้ป่วยจะร่วมกันออกแบบวิธีการรักษาที่ดีที่สุด เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมไปตามอาการร่วมกัน สาเหตุหลักๆ อาจเป็นเพราะทุกวันนี้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ตลอดจนการตัดสินใจรักษาก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ป่วย ฉะนั้น หากเกิดการร่วมมือกันของทั้งสองฝ่าย ผลข้างเคียงของการรักษาก็จะอยู่ในระดับที่ผู้ป่วยรับได้ อีกทั้งอาจเป็นประโยชน์ที่จะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
- การรักษาเฉพาะที่ : ซึ่งการรักษาเฉพาะที่นั้น เป็นการรักษาเฉพาะตำแหน่งที่มะเร็งเกิด รักษาได้ด้วยการฉายรังสีและผ่าตัด
- การรักษาทุกส่วนของร่างกาย : ซึ่งการรักษาในทุกส่วนนั้นก็เพื่อกำจัดตัวมะเร็งไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของร่างกาย การรักษาอาจทำได้โดยเคมีบำบัด, การใช้ยาที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด
เมื่อรู้ว่าเป็น “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย”
มะเร็งปอด อาจเรียกได้ว่าเป็นโรคชุมชนและโรคครอบครัว เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายแล้ว ก็ควรติดต่อเพื่อนและครอบครัว ตลอดจนเรียนรู้ที่จะเป็นผู้สนับสนุนขั้นตอนการรักษามะเร็งด้วยตนเอง อาจหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงติดต่อกับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งรายอื่นๆ ผ่านหลายช่องทาง ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายหลายๆ คนเหล่านี้ก็จะเป็นเหมือนอีกหนึ่งครอบครัวที่คอยแนะนำช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
ขอขอบคุณภาพ :iStock
ขอขอบคุณhttps://www.sanook.com/