มะเร็งปอดสุขภาพทั่วไป

ระวังไว้ !! ผู้ใหญ่เสี่ยงเป็น มะเร็งปอด ชายเสี่ยงมากกว่าหญิงหลายเท่าตัว

Views

โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) พบได้โดยมากในวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มักพบมากในคนไทยและทั่วโลก ซึ่งผู้ชายจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้หญิง 2 ถึง 3 เท่าตัว จากที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลนั้นก็ทำให้เรารู้ว่า มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดทั่วโลกและมีความรุนแรงโรคสูง ขึ้นเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด โดยพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 1.1 ล้านคนต่อปี เสียชีวิตไป 0.94 ล้านราย เป็นผู้ป่วยเพศชาย 0.51 ล้านราย เป็นผู้ป่วยเพศหญิง 0.43 ล้านราย อีกทั้งสถิติในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2544 – 2546 ก็ยังมีการพบโรคมะเร็งปอดในผู้หญิง 9.7 รายต่อประชาการหญิง 100,000 คน และในผู้ชาย 24.9 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน

 

โรคมะเร็งปอด เกิดขึ้นได้อย่างไร ? 

สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดนั้นปัจจุบันยังไม่มีการพบที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดโรคนี้ คือ การสูบบุหรี่และการรับควันบุหรี่ (สูบบุหรี่มือสอง) ยิ่งสูบบุหรี่จัดต่อเนื่องตั้งแต่วันละ 1 ซองขึ้นไป รวมถึงการได้รับฝุ่นแร่บางชนิดเรื้อรัง อาทิ ฝุ่นแร่ที่มาจากบริเวณเหมืองแร่ต่างๆ เช่น แร่ใยหิน (Asbestos) และแร่ยูเรเนียม (Uranium) หรืออาจเกิดจากพันธุกรรมบางชนิดที่ผิดปกติ 

ชนิดของโรคมะเร็งปอด

  1. โรคมะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก : โรคมะเร็งปอดชนิดนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Non-small cell lung cancer – NSCLC เป็นชนิดที่สามารถพบได้บ่อยกว่าโรคมะเร็งปอดชนิดที่เป็นเซลล์ขนาดเล็ก ประมาณ 75 – 80% ของมะเร็งปอดทั้งหมด แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่า โดยจะลุกลามอยู่ภายในปอดและเนื้อเยื่อข้างเคียง ก่อนที่จะลุกลามเข้ามาที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วของปอดและในช่องอก จากนั้นจึงจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด
  1. โรคมะเร็งปอดชนิดที่เป็นเซลล์ขนาดเล็ก : โรคมะเร็งปอดชนิดนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Small cell lung cancer – SCLC เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่าชนิดแรกประมาณ 15 – 20% ของมะเร็งปอดทั้งหมด แต่มีความรุนแรงมากกว่า อีกทั้งยังแพร่กระจายได้เร็วกว่า เมื่อมีการตรวจพบก็มักจะเห็นว่าโรคมะเร็งปอดชนิดนี้จะลุกลามเข้าไปที่ต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการรักษานั้น แพทย์จะนิยมใช้วิธีการผ่าตัดและใช้ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาเป็นหลัก


โรคมะเร็งปอดชนิดอื่นๆ : โรคมะเร็งปอดชนิดอื่นๆ เป็นแบบที่พบได้ไม่บ่อย นับรวมกันได้ไม่เกิน 5% ของมะเร็งปอดทั้งหมด อาทิ Carcinoid Tumor ที่พบได้ประมาณ 1 – 5% ของมะเร็งปอดทั้งหมด , Malignant mesothelioma ที่มีแร่ใยหินเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอดชนิดนี้ พบได้มากในผู้สูงอายุ มักเกิดที่เยื่อหุ้มปอดด้านใน ทำให้ยากต่อการตรวจวินิจฉัย

โรคมะเร็งปอดมีกี่ระยะ ? 

มะเร็งปอด จะแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยมีระยะต่างๆ ดังนี้ 

  • ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อมะเร็งจะมีขนาดเล็กและยังไม่ลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง

  • ระยะที่ 2 : ก้อนเนื้อมะเร็งจะมีขนาดโตขึ้น และ/หรือลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั่วปอด

  • ระยะที่ 3 : ก้อนมะเร็งโตขึ้นมาก และ/หรือลุกลามเข้าสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง และ/หรือลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก และ/หรือลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณเหนือไหปลาร้า

  • ระยะที่ 4 : มะเร็งจะแพร่กระจายจนเกิดน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ คือ ปอด , กระดูก , สมอง และตับ

ทำความเข้าใจ ‘มะเร็งปอด’

ในทางการแพทย์ว่ากันว่า ‘มะเร็งปอด’ นั้นเป็นเนื้องอกของปอดชนิดที่มีการเจริญเติบโตเร็ว สามารถลุกลามไปสู่อวัยวะข้างเคียงและกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ โดยเนื้องอกชนิดนี้จะเกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อภายในปอดที่มีการแบ่งตัวกันเร็วผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ มีตัวกระตุ้นที่อาจเป็นไปได้ทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน

ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สารที่ก่อมะเร็งซึ่งจะอยู่ในมลภาวะต่างๆ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมและบุหรี่ ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่โดยตรงและผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ทางอ้อมก็นับว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ นอกจากนั้นก็ยังพบว่าสารก่อมะเร็งอาจจะมาจากสภาวะแวดล้อมและการทำงานที่มี Radon และ Asbestos ได้อีกด้วย

ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความบกพร่องทางพันธุกรรม หรือการเสื่อมสภาพของเซลล์ที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองที่มีความผิดปกติได้



lung-2iStock

มะเร็งปอดรุนแรงไหม ? รักษาให้หายได้รึเปล่า ? 

มะเร็งปอด นับว่าเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงมากที่สุดโรคหนึ่ง โอกาสที่จะทำการรักษาให้หาย หรือมีอัตราการรอดที่ 5 ปี เมื่อโรคอยู่ในระยะที่ 1 – 2 อัตราการรอดจะมีประมาณ 20 – 50% อยู่ในระยะที่ 3 จะมีอัตราการรอดประมาณ 5 – 15% ส่วนเมื่อโรคอยู่ในระยะที่ 4 มักจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 1 ปี

การวินิจฉัยมะเร็งปอด

  • การตรวจร่างกายและการซักประวัติ : เริ่มแรก แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยทั่วไปเพื่อหาอาการแสดงของโรค อาทิ ก้อนเนื้อ หรือสิ่งผิดปกติเพิ่มเติม ใช้หูฟังเพื่อฟังเสียงของปอด การหายใจ การทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของปอด ซักประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว การสูบบุหรี่ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน หรือที่อยู่อาศัย งานที่ทำ และประวัติการรักษาก่อนหน้า
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ : จะมีการตรวจเนื้อเยื่อ เลือด ปัสสาวะ หรือสารอื่นๆ ซึ่งการตรวจเหล่านี้จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัย การวางแผนเพื่อรักษา รวมไปถึงการติดตามการรักษาต่อไปทำได้ง่าย
  • การเอกซเรย์ทรวงอก : เป็นการเอกซเรย์เพื่อดูตำแหน่งของก้อนเนื้อในปอด
  • การถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ : นอกจากการใช้ CT Scan ก็ยังสามารถใช้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สำหรับตรวจหาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
  • การตรวจหาเซลล์มะเร็งในเสมหะ : ในการตรวจ แพทย์จะให้ผู้ป่วยนำเอาเสมหะในช่วงตื่นนอนใหม่ๆ ไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศ์เพื่อหาเซลล์มะเร็ง แต่หากไม่มีเสมหะ ก็อาจนำเอาสารคัดที่บริเวรคอหอยไปตรวจทดแทนได้
  • การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา : การตรวจด้วยวิธีนี้นับเป็นการตรวจที่ให้ผลแน่นอนที่สุด
  • การตรวจย้อม : เป็นการตรวจในแบบจำเพาะเพื่อดูว่าเนื้องอกนั้นเป็นมะเร็งปอดชนิดใด
 

เมื่อการตรวจเสร็จสิ้นจนรู้ผลแน่นอนแล้วว่าผู้ป่วยนั้นเป็นโรคมะเร็งปอด ขั้นต่อไปก่อนการรักษาก็จะต้องเข้าตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง หรือระยะของโรค ได้เครื่องมือต่างๆ ดังนี้

  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  (MRI)
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
  • การตรวจเพทสแกน (PET Scan)
  • การสแกนกระดูก (Bone Scan)
  • การตรวจสมรรถภาพปอด (PFT)
  • การส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวนด์ (EUS)
  • การตรวจช่องกลางอกด้วยการส่องกล้อง (Mediastinoscopy)
  • การทำ Anterior mediastinotomy
  • การตัดต่อมน้ำเหลืองเพื่อนำไปตรวจชิ้นเนื้อ (Lymph node biopsy)
  • การเจาะไขกระดูกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา (Bone marrow aspiration and biopsy)

 

การตรวจต่างๆ เหล่านี้ก็เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการรักษาและการติดตามผลการรักษาที่รวดเร็ว ถูกต้อง มีความเหมาะสมกับสภาวะของโรค

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งปอด 

การรักษาโรคมะเร็งปอดนั้นจะทำการผ่าตัดก็ต่อเมื่อสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ หรืออาจรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ดังนี้ 

  • ภายหลังจากการผ่านตัด จึงพิจารณาให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด
  • เมื่อโรคลุกลามมาก การรักษามักต้องใช้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา
  • เมื่อโรคแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆ การรักษามักจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง อาจด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา วิธีใดวิธีเดี่ยว หรืออาจใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น ในบางกรณีอาจทำร่วมกับการรักษาประคับประคองไปตามอาการ อาทิ การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินอาหารทางปากได้น้อย และการให้ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อมีอาการปวดต่างๆ

 

สำหรับการรักษาด้วยการใช้ยาที่เป็นยาเฉพาะโรคยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา และไม่ใช่ยาที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการใช้ยาอีกมาก โดยเฉพาะราคาของยาที่มีราคาสูง หากผู้ป่วยต้องการทราบจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล 

อย่างไรก็ตามในขั้นตอนของการรักษานั้น แพทย์จะพิจารณาถึงระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง อายุ สุขภาพ และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวก่อนเสมอ เพื่อการรักษาที่ตรงจุดและเกิดผลดีมากที่สุด

ปัจจัยที่มีผลต่อการรักษาโรคมะเร็งปอดและการพยากรณ์โรค

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการรักษาโรคมะเร็งปอดนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายข้อ ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ได้แก่

  • ระยะของโรค ตลอดจนขนาดและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆ
  • ชนิดของมะเร็งปอด
  • การไอ หรือการที่ผู้ป่วยหายใจไม่สะดวก
  • อายุ เพศ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
  • เรื่องการพยากรณ์โรคที่อาจเกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักาษามาหรือไม่

ผลการรักษาโรคมะเร็งปอด

  • สำหรับการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-small cell lung cancer) โอกาสที่จะรักษาให้หาย หรืออัตราการรอดชีวิตเมื่อโรคอยู่ในระยะที่ 1 มีประมาณ 47% , ระยะที่ 2 ประมาณ 26% , ระยะที่ 3 ประมาณ 8% และระยะที่ 4 ประมาณ 2% แต่ถ้าโรคเกิดการลุกลามออกมาภายนอกปอดแล้ว ผู้ป่วยก็อาจมีชีวิตอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ประมาณ 6 – 12 เดือน

สำหรับการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดชนิดที่เป็นเซลล์ขนาดเล็ก (Small cell lung cancer) การรักษามักจะออกมาได้ผลที่ไม่ดี  เนื่องจากเป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่แพร่กระจายได้เร็ว อีกทั้งผู้ป่วยก็มักจะมีชีวิตอยู่ได้ในระยะสั้นๆ หลังจากที่เป็นโรคได้ 2 ปี ประมาณ 20% ส่วนในระยะที่โรคแพร่กระจายไปแล้ว ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้ 2 ปี แค่เพียง 5% เท่านั้น

เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจมะเร็งปอด ? 

ควรเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเริ่มตั้งแต่อายุ 18 ปี และแจ้งให้แพทย์ทราบเรื่องสูบบุหรี่ นอกจากนั้น เมื่อเกิดอาการอย่างที่กล่าวไปข้างต้นก็ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

วิธีป้องกันโรคมะเร็งปอด 

ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งปอด คือ ไม่สูบบุหรี่ หรือการเลิกสูบบุหรี่ในผู้ที่สูบบุหรี่จัด

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อป่วยเป็นมะเร็งปอด ?

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าเป็นโรคมะเร็งปอด หรือมีการตรวจพบโรค หากสูบบุหรี่เป็นประจำให้หยุดสูบทันที
  • ภายหลังเมื่อมีการรักษามะเร็งปอดจนมีอาการดีขึ้นแล้ว แนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 15 – 30 นาที เพื่อเป็นการเสริมการทำงานของปอดและหัวใจให้ดีและแข็งแรงขึ้น อีกทั้ง ควรเดินทางไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่นและป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำของมะเร็ง

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งปอด

ในการรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยวิธีต่างๆ ก็จะมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป อีกทั้ง ผลข้างเคียงจะมีมากขึ้นก็ต่อเมื่อใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน ยิ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุ ชอบสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคภูมิต้านตนเอง ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

  • การผ่าตัด : ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ การสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากจะต้องจัดเนื้อเยื่อปอดออก ในบางรายอาจจำเป็นที่จะต้องตัดปอดออกทั้งสองข้าง อีกทั้ง แผลที่ผ่าตัดจะมีเลือดออก เกิดโอกาสที่แผลจะติดเชื้อได้ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบในขั้นตอนของการผ่าตัด
  • ยาเคมีบำบัด : ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มีภาวะซีด มีเลือดออกง่ายที่เกิดจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายจากภาวะที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • รังสีรักษา : ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ กลืนลำบาก มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารง่าย มีผลข้างเคียงต่อผิวหนัง รวมไปถึงเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี นั่นก็คือบริเวณปอด
  • ยารักษาตรงเป้า : ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ ทำให้เกิดผดผื่น ผิวแห้ง เกิดสิวขึ้นทั่วใบหน้าใบจนตลอดทั้งร่างกาย ท้องเสีย ไม่เจริญอาหาร หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหาร หรือระบบอื่นๆ ร่วมด้วย อีกทั้ง ยาบางชนิดยังจะก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล ทั้งยังเป็นสาเหตุที่จะทำให้ผนังลำไส้เกิดการทะลุได้