งูสวัดรู้ทัน-โรค

งูสวัด อาการโรคผิวหนังจากเชื้อไวรัสที่ร่างกายอ่อนแอปั๊บ ต้องระวังเลย

Views

งูสวัด คือโรคอะไร และเมื่อเป็นงูสวัดห้ามกินอาหารแสลงอะไรบ้าง สารพัดเรื่องโรคผิวหนังใกล้ตัวที่ควรรู้

          งูสวัด คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้สามารถแอบเนียน ๆ อยู่ในปมประสาทของเรา โดยที่เราไม่รู้ตัวได้เป็นระยะเวลานานหลายปี โดยเฉพาะผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส แถมช่วงนี้ร่างกายยังมีภูมิต้านทานต่ำ ยิ่งต้องระวังโรคงูสวัดมาเยือนเลย

งูสวัด เกิดจาก ?

งูสวัดเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ้างในประเทศไทย มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า VZV ซึ่งเชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 โรค คือ โรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด

งูสวัด

งูสวัด เกิดกับใครได้บ้าง ?

งูสวัดเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย และเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสตัวเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยโรคงูสวัดจึงมักจะเป็นโรคอีสุกอีใสก่อน และพอหายจากโรคอีสุกอีใสไปแล้วนานเป็นเดือนหรืออาจจะเป็นปี ๆ โรคงูสวัดจึงจะแสดงตัวออกมา โดยเฉพาะกับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันโรคน้อยลง เช่น เมื่อสูงอายุ เจ็บป่วย มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อยู่ในสภาวะติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน เป็นต้น

งูสวัด ติดต่อกันทางไหน ?

งูสวัดเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง หากคนที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนแล้วไปสัมผัสตุ่มน้ำใสของผู้ป่วยโรคงู สวัดหรือหายใจเอาไวรัสจากตุ่มแผลนี้เข้าไปในร่างกายโดยตรง เริ่มแรกโรคอีสุกอีใสจะมาเยือน จากนั้นแม้จะหายจากโรคอีสุกอีใสไปแล้ว แต่เชื้อไวรัส VZV ก็ยังคงแอบอยู่ในปมประสาท รอเวลาเพาะเชื้อที่เหมาะสมเพื่องูสวัดจะได้ปรากฎขึ้นบนผิวหนังของเรา ทว่าหากได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อนแล้ว กรณีนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคงูสวัดได้นะคะ

งูสวัด

งูสวัด อาการเป็นอย่างไร กี่วันหาย

อาการของโรคงูสวัด สามารถพบได้ทั้งที่ใบหน้า ปาก แขน รอบเอว หลัง ขา หรือแม้แต่งูสวัดขึ้นตา แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

– เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ และอาจมีไข้ร่วมด้วย ทั้งนี้เพราะช่วงนี้ภูมิต้านทานของร่างกายลดต่ำลง ทำให้เชื้อไวรัสเริ่มเพิ่มจำนวน เกิดการติดเชื้อที่ระบบประสาท จึงมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ ในระดับเส้นประสาท

– หลังจากที่ปวดแสบร้อนได้ประมา 2-3 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 2 เริ่มมีผื่นแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ (รูปร่างคล้ายหยดน้ำกลิ้งบนใบบัว) เรียงกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นแนวยาว ๆ ตามเส้นประสาทของร่างกายเป็นหย่อม ๆ เช่น ตามความยาวของแขน หรือตามความยาวของขา หรือรอบเอว รอบหลัง หรือศีรษะ เป็นต้น ตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ ของงูสวัดนี้จะแตกออกเป็นแผลต่อมาก็จะตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์

– เมื่อตุ่มแตก และแผลหายดีแล้ว (ระยะที่ 3) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ ตามรอยแนวของโรคที่เกิดขึ้น ในบางคนอาจเกิดได้อีกเป็นเดือน หรือหลาย ๆ เดือน โดยเฉพาะผู้สูงอายุบางคนอาจมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ หลังจากที่แผลหายดีแล้วเป็นปี ๆ

งูสวัด

วิธีรักษางูสวัดและวิธีปฏิบัติตัวเมื่อป่วย

 วิธีรักษาโรคงูสวัดมีหลายทางเลือก ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและสภาพของผู้ป่วยในตอนนั้นด้วย โดยการรักษางูสวัดพร้อมทั้งวิธีดูแลตัวเองยามป่วยก็มีดังนี้

– สำหรับผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติ อาจรักษาโรคงูสวัดไปตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้ปวด

– การใช้ยาต้านไวรัสอะซัยโคลเวียร์ (acyclovir) ภายใน 48-73 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ ซึ่งตัวยาชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส VZV จึงได้ผลดีทั้งผู้ป่วยโรคงูสวัดและอีสุกอีใส รวมถึงโรคเริมด้วย โดยมีทั้งรูปแบบยาเม็ดยาแคปซูล ยาทา และยาฉีด

– ประคบแผลด้วยน้ำเกลือครั้งละประมาณ 10 นาที จำนวน 3-4 ครั้งต่อวัน วิธีนี้ช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น

– ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจต้องรับยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือรับประทานร่วมด้วย

– ทายาคาลามายด์บรรเทาอาการคัน ถ้าคันมาก อาจกินยาแก้คันร่วมด้วยก็ได้ ทว่าก่อนใช้และกินยาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนด้วยนะคะ

– หลีกเลี่ยงการใช้ยาพ่นหรือทายาสมุนไพรลงไปบนแผลโดยตรง เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้แผลหายช้าและอาจกลายเป็นแผลเป็นได้

– บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ สำหรับผู้ที่มีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อย

– ห้ามแกะหรือเกาแผลงูสวัดเด็ดขาด และหมั่นอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน

– สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ใส่สบาย

 งูสวัด รักษาด้วยสมุนไพรดีจริงหรือ ?

อย่างที่บอกไปเบื้องต้นว่าพยายายามหลีกเลี่ยงการนำสมุนไพรหรือยาจีนมาประคบลงยังบริเวณที่เป็นแผลหรือตุ่มใสดีกว่า เนื่องจากโอกาสติดเชื้อจากการรักษาด้วยสมุนไพรวิธีนี้มีสูงมาก ถึงแม้จะมีแนวโน้มว่าอาการจะดีขึ้น ทว่าคงไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงแน่นอนค่ะ

 การป้องกันโรคงูสวัด

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดแล้ว ซึ่งสามารถลดโอกาสเสี่ยงของโรคงูสวัดได้ หรือหากติดเชื้อแล้วก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการ เช่น บรรเทาอาการปวดหลังจากการติดเชื้อ ทว่าวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดนี้แนะนำให้ฉีดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสเลย ควรฉีดวัดซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสไว้ก่อน เพราะเป็นการป้องกันเชื้อไวรัส VZV ที่ดีที่สุด นอกจากนี้หากมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคงูสวัด ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ที่นอน และของใช้ทุกอย่างของผู้ป่วยออกจากของที่เราใช้โดยเด็ดขาด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคงูสวัดด้วย

งูสวัด

 งูสวัด โรคนี้ถึงตายหรือรักษาให้หายได้

ความรุนแรงของโรคงูสวัดอาจไม่ได้ทำให้ถึงตาย เนื่องจากส่วนมากอาการของโรคงูสวัดจะหายไปเองหลังจากแผลตกสะเก็ดไปประมาณ 2 สัปดาห์ ทว่าแม้แผลจะหายก็อาจยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลงเหลืออยู่ ซึ่งบางรายก็มีอาการปวดนานเป็นปี ๆ เหมือนกันค่ะ

ซึ่งนอกจากอาการปวดตามแนวเส้นประสาทแล้ว ผู้ป่วยโรคงูสวัดบางรายอาจมีความเสี่ยงกับอาการแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ตาอักเสบ เกิดแผลที่กระจกตา และภาวะแทรกซ้อนทางหู เช่น เกิดอาการหูหนวก เมื่องูสวัดไปขึ้นตามแนวประสาทหู เป็นต้น ดังนั้นก็เหมือนจะสรุปได้ว่า โรคงูสวัดไม่อันตรายถึงตาย แต่ก็เป็นโรคภัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่เบาเลยทีเดียว

 เป็นงูสวัด ห้ามกินอะไร ?

เมื่อเป็นโรคงูสวัด ควรดูแลตัวเองและเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่สำคัญควรเลือกกินแต่อาหารที่ถูกสุขลักษณะ งดอาหารประเภทหมักดองทุกชนิด รวมไปถึงบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงอาการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

คนเป็นงูสวัด อาบน้ำได้ไหม ?

ถึงจะเป็นงูสวัดก็สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ โดยควรทำความสะอาดบริเวณที่เป็นผื่นด้วยการฟอกสบู่ให้สะอาด แต่ห้ามแกะหรือเกาแผลงูสวัดเด็ดขาด

 งูสวัด เริม เกี่ยวกันตรงไหน ?

เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม คือ Herpes simplex ซึ่งเป็นเชื้อคนละตัวกับเชื้อต้นเหตุของโรคงูสวัด ทว่ามีความเหมือนกันตรงที่เมื่อเกิดการติดเชื้อครั้งแรกแล้ว ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อนี้ให้หมดไปได้ และเชื้อสามารถแฝงอยู่ในระบบประสาทกลางที่เซลล์ปมประสาทในร่างกายเราได้เป็นเวลานาน ดังนั้นโรคนี้จึงสามารถเกิดซ้ำกับร่างกายเราได้นั่นเอง

ส่วนอาการของโรคเริมมักจะเกิดบริเวณริมฝีปาก เพดานปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม หลอดคอ หรืออวัยวะเพศ โดยลักษณะของแผลจะเป็นตุ่มน้ำใสและผื่นแดง มีอาการคัน และบางเคสมีอาการปวดแสบร้อนร่วมด้วย และลักษณะแผลแบบนี้อาจทำให้หลายคนสับสนระหว่างอาการโรคเริมและโรคงูสวัด แต่โรคเริมอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตได้ในบางราย รวมทั้งระยะเวลาที่แผลจะแห้งและตกสะเก็ดจะใช้เวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ ซึ่งนานกว่าระยะเวลาที่อาการงูสวัดจะหาย นอกจากนี้แนวการขึ้นของผื่นก็ไม่เป็นแนวเส้นเหมือนโรคงูสวัดด้วยนะคะ

อย่างไรก็ตาม ทั้งอาการของโรคเริมหรือโรคงูสวัด สามารถใช้ยาต้านไวรัสอะซัยโคลเวียร์ (acyclovir) รักษาอาการได้เช่นกัน

โรคงูสวัดเป็นโรคที่แม้จะพบไม่บ่อย แต่โอกาสที่จะเกิดโรคนี้กับเราก็มีสูงพอสมควร ดังนั้นควรรักษาสุขภาพให้ดี เพื่อที่ภูมิคุ้มกันร่างกายจะได้แข็งแรง กดเชื้อไวรัสงูสวัดที่แฝงอยู่ในร่างกายเราไม่ให้แสดงตัวได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล