SLE

10 สัญญาณอันตราย “ภูมิคุ้มกันเป็นพิษ”

Views

โรค “ภูมิคุ้มกันเป็นพิษ” ไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นโรคเดิมที่มีมานานแล้ว และมีหลายคนบนโลกที่เป็น หากเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถควบคุมอาการได้ ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เพียงแต่หากปล่อยให้มีอาการต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจส่งผลให้อาการกำเริบไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ จนเสียชีวิตได้เช่นกัน


โรค “ภูมิคุ้มกันเป็นพิษ” คืออะไร?

โรคภูมิคุ้มกันเป็นพิษ เป็นเพียงชื่อหนึ่งของ โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หรือโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง โรคภูมิต้านตนเอง และโรคภูมิแพ้ตัวเอง คนไทยบางส่วนเรียกว่า “โรคพุ่มพวง” เพราะศิลปินลูกทุ่งในตำนานอย่าง พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตด้วยโรคนี้ ส่วนภาษาอังกฤษอาจเรียกว่า โรคออโตอิมมูน (Autoimmune) หรืออาจเรียกโดยทั่วไปว่า โรคลูปัส (Lupus)

โรคออโตอิมมูน เป็นกลุ่มโรคที่อธิบายถึงการทำงานที่ผิดปกติของเม็ดเลือดขาว ซึ่งโดยปกติจะทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันร่างกายของเราจากเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ แต่เมื่อมันทำงานผิดปกติ เม็ดเลือดขาวผู้แสนดีจึงหันมาทำร้ายร่างกายของเองเสียเอง ทำร้ายเนื้อเยื่อในร่างกายจนเกิดอาการอักเสบอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดอวัยวะนั้นๆ ก็ใช้งานไม่ได้ 


ประเภทของโรคภูมิคุ้มกันเป็นพิษ

โรคภูมิคุ้มกันเป็นพิษ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง มีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่

  1. SLE (Systemic Lupus Erythematosus) : เกิดจากมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการสร้างภูมิต่อต้านหลายชนิดต่อเซลล์และส่วนประกอบต่าง ๆ ของเซลล์ของตนเอง มีผลทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ทั่วตัว
  2. Neonatal Lupus : โรคแพ้ภูมิในทารกแรกเกิด
  3. Drug-induced Lupus : โรคแพ้ภูมิจากยา เกิดจากการใช้ยาบางกลุ่ม และจะหายเมื่อหยุดใช้ยานั้น
  4. Discoid Lupus Erythematosus : โรคที่มีผื่นแดงขึ้นที่ใบหน้าและสร้างรอยแผลเป็นหลังผื่นหาย
  5. Subacute Cutaneous Lupus Erythematosus : โรคผื่นกึ่งเฉียบพลัน โดยผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดจะเป็นผื่น


สาเหตุของโรคภูมิคุ้มกันเป็นพิษ

สาเหตุหลักของโรคภูมิคุ้มกันเป็นพิษมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำงานผิดปกติเสียเอง โดยอาจได้รับแรงกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ เช่น

  • กรรมพันธุ์
  • ความเครียด พักผ่อนน้อย
  • แสงแดด
  • รับฮอร์โมนเพศหญิง
  • สูบบุหรี่


10 สัญญาณอันตราย โรคภูมิคุ้มกันเป็นพิษ

  1. เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียผิดปกติ
  2. มีผื่นขึ้นตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
  3. ผิวไวต่อแสงแดด
  4. ผมร่วง
  5. มีแผลที่ริมฝีปากและข้างในปาก
  6. มีไข้ขึ้นสูง โดยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์
  7. ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  8. ปวดปลายนิ้วมือเท้าเวลาถูกความเย็น
  9. มือสั่น ใจสั่น เหงื่อแตก
  10. น้ำหนักลดลงอย่างไร้สาเหตุ


วิธีป้องกันโรคภูมิคุ้มกันเป็นพิษ

การรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เป็นวิธีที่จะช่วยกดอาการของโรคภูมิคุ้มกันเป็นพิษได้ ดังนั้นจึงควรยึดตามเคล็ดลับ 3 ข้อ คือ

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ


เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้ รวมถึงควบคุมอาการของโรคให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

>> โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง ทำไม? ภูมิคุ้มกันถึงทำร้ายตัวเอง

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :รศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล,พบแพทย์,หาหมอ

ภาพ :iStock