มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก

Views

            มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย จึงนับว่าเป็นมะเร็งที่มีความสำคัญที่สุด บ้านเรายังคงพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะลุกลามแล้วจำนวนมาก ซึ่งสร้างปัญหาต่อการรักษา ทั้งในด้านอัตราการหายจากโรคภาวะแทรกซ้อนของการรักษาและผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งของครอบครัวและประเทศชาติอย่างมาก

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

            จากการศึกษาพบว่าโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์และการศึกษาถึงระบาดวิทยาของโรคพบว่าโรคนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคทางเพศสัมพันธ์ และอาจพบร่วมกับการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์บางชนิด

            ปัจจุบันนักวิจัยตรวจพบว่าเชื้อไวรัสที่เรียกว่า HPV โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ 16, 18 เป็นสาเหตุประมาณ 70%  ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก อีกประมาณ 30% เกิดจาก HPV ชนิดอื่น ๆ เชื้อไวรัสตัวนี้เกือบทั้งหมดติดมาจากการมีเพศสัมพันธ์

โรคนี้ป้องกันได้หรือไม่

            ดังได้กล่าวแล้วว่า โรคนี้มีลักษณะการเกิดคล้ายโรคทางเพศสัมพันธ์ สตรีใดที่มีความเสี่ยงต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ย่อมมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้สูง การเลี่ยงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงย่อมสามารถป้องกันโรคนี้ได้ ทั้งนี้มิได้หมายความเฉพาะฝ่ายสตรีเท่านั้น สามีมักเป็นผู้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำโรคนี้มาให้ภรรยา จากการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากติดเชื้อนี้แล้วส่วนใหญ่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ ส่วนน้อยซึ่งยังคงมีเชื้ออยู่ก็จะทำให้เซลล์ที่ปากมดลูกเปลี่ยนแปลงไป เป็น ระยะก่อนมะเร็ง” ซึ่งโดยทั่วไปตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกลายเป็นมะเร็งเฉลี่ยระยะเวลาประมาณ 10 ปี จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะสามารถตรวจพบโรคด้วยการตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง

            การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเหมือนการตรวจภายในทั่วไป ซึ่งควรตรวจในสตรีทุกรายที่เคยมีเพศสัมพันธ์ การตรวจมิได้มีความเจ็บปวดแต่อย่างไร เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ตรวจมีขนาดแตกต่างกันตามความเหมาะสมของผู้รับการตรวจในแต่ละราย แพทย์ผู้ตรวจเพียงแต่ป้ายเซลล์จากบริเวณปากมดลูก เพื่อนำไปย้อมและตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็สามารถบอกถึงเซลล์ผิดปกติที่เกิดขึ้นในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ซึ่งสตรีสามารถรับการตรวจนี้จากคลินิกสูตินรีเวชและศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งค่าบริการค่อนข้างถูกมาก ถ้าตรวจพบความผิดปกติในระยะนี้การรักษาก็จะกระทำได้ง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ ภาวะแทรกซ้อนของการรักษาก็มีน้อยและอัตราการหายจากโรคนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์และไม่กลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ในประเทศที่พัฒนาแล้วการคัดกรองด้วยวิธีนี้ได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ประเทศเหล่านั้นมีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกน้อยมาก แต่ในประเทศเราการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ ปัญหาที่สำคัญที่สุดเกิดจากสตรีไม่มารับบริการตรวจ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากความ อับอาย เกิดจากความกลัวความเจ็บปวด เกิดจากความเข้าใจผิดว่าทำไมจะต้องไปรับการตรวจโดยที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วผู้ป่วยระยะก่อนเป็นมะเร็ง ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ประเทศเราพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจำนวนมาก แนวทางแก้ไขที่สำคัญก็คือ การให้ผู้ป่วยมีเจตคติที่ดีและมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันโรคนี้

            ปัจจุบันนี้ มีวัคซีนที่ใช้ป้องกัน HPV ชนิด 16 และ 18 แล้ว การฉีดวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ จึงสามารถป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกที่เกิดจากไวรัส 2 ชนิดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าไวรัส 2 ชนิดนี้เป็นสาเหตุประมาณ 70% ของโรคนี้ เพราะฉะนั้นยังคงเหลืออีกประมาณ 30% ที่อาจจะเกิดจาก HPV ชนิดอื่น ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จึงยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองเป็นระยะ ๆ อยู่

เมื่อเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วรักษาอย่างไร หายหรือเปล่า

            มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสรับการรักษาให้หายขาดจากโรคได้สูงเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น การรักษามะเร็งปากมดลูกมีการรักษาอยู่หลายวิธี วิธีการมาตรฐานและใช้ได้ผลดีมีอยู่ 2 วิธี ก็คือการรักษาโดยการผ่าตัดและการใช้รังสีรักษา ซึ่งปัจจุบันนี้แพทย์มักจะเสริมรังสีรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งส่งผลให้อัตราหายจากโรคนี้สูงขึ้น โดยทั่วไปแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยรายใดเหมาะสมที่จะรับการรักษาแบบใด โดยพิจารณาถึงความเสี่ยงในการรักษาแต่ละวิธีและโอกาสที่จะหายจากโรคว่าวิธีใดสูงกว่ากัน

สำหรับการผ่าตัดนั้นมักจะใช้ในผู้ป่วยที่อายุน้อยและมีความเสี่ยงต่อการดมยาสลบและการผ่าตัดต่ำ และมักจะใช้ในผู้ป่วยที่โรคยังจำกัดที่บริเวณปากมดลูกเท่านั้น

สำหรับการรักษาทางรังสีนั้นสามารถที่จะให้การรักษาในผู้ป่วยทุกรายและทุกระยะของโรค เนื่องจากรังสีรักษาครอบคลุมบริเวณกว้างไม่ใช่เฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงต่อมน้ำเหลืองต่าง ๆ ในบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งมะเร็งอาจจะกระจายไปบริเวณนั้นได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยรายใดที่สามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัดก็สามารถรักษาทางรังสีรักษาให้หายจากโรคได้เช่นกัน ปัญหาในการรักษามักจะเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่แพทย์ตัดสินให้รับการรักษาทางรังสีรักษา ผู้ป่วยบางรายได้รับข้อมูลผิด ๆ ว่ารังสีรักษาทำให้โรคกระจาย ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ป่วยหรือญาติหรือคนข้างบ้านเห็นผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นซึ่งมักจะเป็นผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายของโรคและได้รับการรักษาโดยรังสีรักษาแล้วไม่ได้ผล

            การรักษามะเร็งปากมดลูกโดยวิธีอื่น ๆ ก็มีที่ใช้บ้าง เช่น การรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัดซึ่งใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีการกระจายของโรคออกไปนอกเหนือจากบริเวณที่จะทำการผ่าตัดได้หรือฉายรังสีครอบคลุมไม่ได้หมด นอกจากนี้ยังมีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน เช่น การรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด การรักษาทางรังสีร่วมกับการผ่าตัด หรือการรักษาโดยยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงแนวทางในการรักษาร่วมกับผู้ป่วยและญาติแต่ละราย ๆ ไป โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ หวังให้ผู้ป่วยหายจากโรคในอัตราสูงสุด    

ขอบคุณที่มา

รศ.นพ.ชัยยศ  ธีรผกาวงศ์

ภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล