เบาหวาน

เบาหวาน ภัยเงียบ ทุก 8 วินาทีตาย 1 คน : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

Views

ข้อมูลค่าใช้จ่ายจาก โรคเรื้อรังไม่ติดต่อ (NCD) ประจำปี 2551 ของสำนักยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายระยะสุดท้าย มีค่าใช้จ่ายทั้งปี 308,337 ล้านบาท แบ่งเป็น โรคเบาหวาน มี 4 ล้านคน ค่าใช้จ่าย 47,596 ล้านบาท/ปี โรคความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน ค่าใช้จ่าย 79,263 ล้านบาท/ปี โรคหัวใจ 4 แสนคน การตรวจวิเคราะห์ ผ่าตัด& รักษาโรคทางยา ค่าใช้จ่าย 154,864 ล้านบาท/ปี โรคสมอง 5 แสนคน การตรวจวิเคราะห์ ผ่าตัดและรักษาโรคทางยา ค่าใช้จ่าย 20,632 ล้านบาท/ปี โรคไตวายระยะสุดท้าย 80% พบ DM&HT = 6,000 ล้านบาท/ปี
รวมค่าใช้จ่าย 5 โรค เป็นเงิน 308,337 ล้านบาท/ปี นับเป็นค่าใช้จ่ายสูงภายใน 1 ปี

จากเบาหวาน ความดัน เป็นต้นเหตุแล้วทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา 3 โรคหลักคือ หัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายระยะสุดท้าย ค่าใช้จ่ายมากถึง 3 แสนกว่าล้านบาท นี่ยังไม่นับโรคแทรกอื่นๆ ที่เกิดจาก “เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง…” มีอีกมากมาย เช่น ตา แผลที่เท้า ความจำ การเสื่อมสมรรถนะทางเพศ เป็นต้น

โอกาสนี้ผู้เขียนขออนุญาตให้ความรู้เรื่อง “เบาหวานคือภัยเงียบ” ให้กับแฟนๆ มติชน และประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะได้มีความรู้ และวิธีการปฏิบัติตัวป้องกันโรคและรักษาตัวอย่างไรให้อายุยืน…ความว่า…“เบาหวาน” เป็นโรคไม่ติดต่อที่เป็นปัญหาของทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย เป็นได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กๆ ถึงคนแก่ ยากดีมีจน เป็นเศรษฐี ยาจก วณิพก นายสิบ นายร้อย นายพล ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน แม้แต่ นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี กษัตริย์ พระสงฆ์ สันตะปาปา นางงามจักรวาล… ก็ไม่เว้นมีสิทธิเป็นได้ทุกคน

เป็นแล้วเป็นเลย รักษาไม่หายขาด ต้องดูแลสุขภาพด้วยตนเองสำคัญที่สุด และต้องกินยาตามที่แพทย์สั่งโดยเคร่งครัด ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมองแตก ตีบ ตัน ไตวาย ตาบอด แผลดำเนื้อตายที่เท้า ผู้เขียนปรารถนายิ่งที่จะให้คนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะแฟนมติชน ได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆก่อนจะสายเกินแก้ หากรู้แล้วโปรดช่วยบอกต่อ โดยเฉพาะคนที่รู้จัก โดยเฉพาะคนในครอบครัวของเรา…

เบาหวาน พบได้ประมาณร้อยละ 1.5 ของประชากรทั่วไป จากรายงานสถานการณ์โรค NCDs ฉบับที่ 2 “KICK OFF TO THE GOALS” 27 กันยายน 2559… ปี 2558 มีคนเป็นเบาหวาน 415 ล้านคน มีการทำนายในปี 2558 เพิ่มเป็น 642 ล้านคน ทุก 1 ใน 11 คน เป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว และทุก 8 วินาที มีคนตายจากโรคเบาหวาน 1 คน จากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการตายด้วยโรคเบาหวานต่อประชากรแสน ในภาพรวมของประเทศ ในปี 2556-2558 เท่ากับ 14.93, 17.53 และ 17.83 ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

และจากผลการตรวจสุขภาพประชาชนคนไทยอายุ 15 ขึ้นไป โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 ปี 2557 พบว่า ความชุกของโรคเบาหวานสูงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 คิดเป็นจำนวนมากถึง 4.8 ล้านคน เทียบกับปี 2552 ซึ่งพบเพียง ร้อยละ 6.9 หรือมีคนเป็นโรคเบาหวานเพียง 3.3 ล้านคน และข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี พ.ศ.2551 พบว่า ค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยนอก เฉลี่ย 1172 บาทต่อราย ส่วนผู้ป่วยในเฉลี่ย 10,217 บาทต่อราย หากคนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวาน 3 ล้านคนต่อปี มารับบริการที่สถานบริการ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 47,596 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ หนึ่งในโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่เกิดจากโรคเบาหวาน คือ โรคไตเรื้อรัง โดยพบความชุกของโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานสูงถึงร้อยละ 17.5 เมื่อโรคดำเนินเข้าสู่ระยะไตวายเรื้องรังระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นระยะที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไต ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไต โดยการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เฉลี่ยประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้วยยา ค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องใช้งบประมาณแพทย์เหมาจ่ายรายหัว (Capitation)

โดยในปี 2558 สูงถึง 5,247 ล้านบาท และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6,318 ล้านบาท ในปี 2559 ซึ่งถ้ารวมงบประมาณสำหรับบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ในสิทธิอื่นๆ ได้แก่ สิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการแล้วรัฐจำเป็นต้องใช้งบสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี หากรวมค่ายารักษาโรคเบาหวาน 3 ล้านคน ใช้ประมาณ 47,596 ล้านบาทต่อปี ค่าบำบัดรักษาโรคแทรกซ้อน ไตวายด้วยการล้างไต ซึ่งมีความชุกร้อยละ 17.5 ค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 ต่อปี หากรวมเพียงแค่ 2 กรณี ก็ใช้เงินไปเกือบ 60,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ยังไม่รวมกรณีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ตาบอด เท้าเป็นแผลเนื้อตาย (gangrene) หัวใจขาดเลือด (Stemi) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคเบาหวานพบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในคนอายุกว่า 40 ปีขึ้นไป และคนที่อยู่ในเมืองมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงมากกว่าคนบ้านนอก คนอ้วนและหญิงที่มีลูกดก มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น

ประเภทของโรคเบาหวาน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ที่มีอาการ สาเหตุ ความรุนแรง และการรักษาต่างกันได้แก่

ประเภทที่ 1 เบาหวานชนิด “พึ่งอินซูลิน” เป็นชนิดที่พบได้บ่อยแต่มีความรุนแรงและอันตรายสูง มักพบในเด็กและคนอายุต่ำกว่า 25 ปี แต่ก็อาจพบในคนสูงอายุได้บ้าง สาเหตุ “ตับอ่อน” ของผู้ป่วยชนิดนี้ได้เสียไปจึงสร้างอินซูลินไม่ได้เลย หรือสร้างได้น้อยมาก เชื่อว่าร่างกายมีการสร้างแอนติบอดี้ขึ้นต่อต้านทำลายตับอ่อนของตัวเองจนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ เรียกว่า…”โรคภูมิต้านตัวเอง” หรือ “ออโตอิมมูน” ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ร่วมกันการติดเชื้อหรือการได้รับสารพิษจากภายนอก

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเข้าทดแทนร่างกายทุกวัน จึงจะสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ มิเช่นนั้น ร่างกายจะหันไปเผาผลาญไขมันแทน จนทำให้ร่างกายผอมอย่างรวดเร็ว และถ้าเป็นรุนแรงจะมีการคั่งของสาร…“คีโตน” (Ketones) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญไขมัน สารนี้จะเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้ผู้ป่วย…“หมดสติ”…ถึง…“ตาย” ได้รวดเร็ว เรียกว่า ภาวะคั่งสารคีโตน หรือ…“คีโตซีส” (Ketesis)

ประเภทที่ 2 เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน เป็นเบาหวานที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักมีความรุนแรงน้อยพบได้ทุกวัย มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่อาจพบในเด็กหรือวัยรุ่นหนุ่มสาวได้ ตับอ่อน : ของผู้ป่วยชนิดนี้ยังสามารถสร้างอินซูลิน แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จึงทำให้มีน้ำตาลที่เหลือใช้อยู่ในกระแสเลือดกลายเป็นเบาหวานได้ ผู้ป่วยชนิดนี้อาจแบ่งเป็น…“พวกที่อ้วนมากๆ” กับ… “พวกที่ไม่อ้วน” (รูปร่างปกติหรือผอม)

สาเหตุ : อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ อ้วนเกินไป มีลูกดก จากการใช้ยาหรือพบกับโรคอื่นๆ ผู้ป่วยมักไม่เกิดภาวะคีโตซีส เช่นประเภทที่ 1 การควบคุมอาหารหรือการใช้ยาเบาหวานชนิดเดียวกันก็มักจะได้ผลในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติได้ หรือบางครั้งถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ ก็อาจต้องใช้อินซูลินเป็นครั้งคราว แต่ไม่ต้องใช้อินซูลินตลอดไป จึงถือว่าไม่ต้องพึ่งอินซูลิน และสาเหตุ โรคนี้เกิดจาก “ตับอ่อน” สร้างฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้น้อยหรือไม่ได้เลย ฮอร์โมนชนิดนี้มีหน้าที่คอยช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลให้เป็น “พลังงาน” เมื่ออินซูลินในร่างกายไม่พอเพียงหรือมีพอแต่ใช้ไม่ได้ น้ำตาลไม่ถูกนำมาใช้จึงเกิดเป็นการคั่งของน้ำตาลในเลือด และอวัยวะต่างๆ เมื่อน้ำตาลคั่งในเลือดมากๆ ก็อาจถูกไตกรองออกมาทางปัสสาวะทำให้ปัสสาวะหวาน หรือมี “มด” ขึ้นได้จึงเรียกว่า… “เบาหวาน”

อาการ “7 สัญญาณ” เตือนใจของโรคเบาหวานถามหา มีดังนี้ : 1) ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก 2) มีอาการกระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย 3) สมองไม่แล่น รู้สึกเบลอ 4) สายตาแย่ลง มีอาการตาพร่ามัวมองไม่ชัด 5) บาดแผลหรือรอยช้ำหายช้ากว่าปกติ 6) น้ำหนักลดผิดปกติ 7) หมดเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย

สิ่งตรวจพบในรายที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ชนิดพึ่งอินซูลินมักมีรูปร่างซูบผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ตรงข้ามประเภทที่ 2 อาจมีรูปร่างอ้วน อาจพบอาการชาตามมือเท้า ต้อกระจก หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ บางรายอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติตามร่างกาย การตรวจปัสสาวะ : มักจะพบน้ำตาลในปัสสาวะขนาดมากกว่าหนึ่งบวกขึ้นไป การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังลดอาหาร 6 ชั่วโมง (fasting plasma glucose/FPG) มักจะพบมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 126 mg%

อาการแทรกซ้อน มี 7 ข้อ มักจะเกิดเมื่อเป็นเบาหวานอย่างน้อย 5 ปี โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง หรือปล่อยปละละเลย โรคแทรกซ้อนพบได้ เช่น

1) โรคตา : ภาวะเป็นต้อกระจกก่อนวัยอันควร ประสาทตาหรือจอตาเสื่อม หรือเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา ทำให้ตามัวลงเรื่อยๆ หรือมองเห็นจุดดำลอยไปลอยมา และอาจทำให้ตาบอดในที่สุด

2) ระบบประสาทช้า : มีอาการปลายประสาทอักเสบ ด้วยการชาปวดร้อนตามปลายนิ้วมือเท้า ซึ่งอาจเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย อาจลุกลามจนทำให้บางรายมีอาการตาเหล่ หนังตาตก วิงเวียนศีรษะ กระเพาะอาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารไม่ทำงาน ท้องผูก ท้องเดิน ผู้ชายอาจมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

3) ไต มักจะเสื่อม จนเกิดภาวะไตวาย มีการบวมซีด ความดันเลือดจะสูง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยเบาหวานที่พบได้บ่อย

4) ภาวะหลอดเลือดแดงสมองแข็งตัว (Artheriosclerosis) ทำให้เป็นอัมมพาต โรคหัวใจขาดเลือด ถ้าหลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจแข็งและตีบ หรือหลอดเลือดไปเลี้ยงเท้าไม่พอทำให้เท้าเย็นเป็นตะคริวหรือปวดขณะเดินมาก หรือทำให้แสบ แผลหายยาก หรือนิ้วเท้าเป็นเนื้อตาย (gangrene)

5) เป็นโรคติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น วัณโรค กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กลาก โรคเกลื้อน ช่องคลอดอักเสบ ฝีผุพอง หูชั้นนอกอักเสบ แผลที่เท้าลุกลามจนเท้าเน่าเปื่อย

6) แผลที่เท้า เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย 7) ภาวะหมดสติจากเบาหวาน : ผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดอาการหมดสติ อาจมีสาเหตุมาจากน้ำตาลในเลือดต่ำ มักจะพบในผู้ป่วยที่กินยาหรือฉีดยาสม่ำเสมอ แต่อาจมีการใช้ยาเกินขนาดหรืออดอาหาร หรือกับข้าวผิดเวลา หรือมีอาการออกแรงมากกว่าผิดปกติ

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง 3 ข้อ ได้แก่

1) ภาวะคีโตซีส (ketoacidosis) พบเฉพาะในผู้ป่วยบางชนิดพึ่งอินซูลิน ที่ขาดการฉีดอินซูลินนานๆ หรือ พบในภาวะติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งร่างกายต้องการอินซูลินมากขึ้น ร่างกายมีการเผาผลาญไขมันแทนน้ำตาล ทำให้เกิดภาวะคั่งของสารคีโตนในเลือด อาจเกิดภาวะเป็นกรด เรียกว่า diabetic ketoacidosis ผู้ป่วยจะมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน กระหายอย่างมาก หายใจหอบลึกมีกลิ่นหอม มีไข้กระวนกระวาย มีอาการขาดน้ำรุนแรง (ตาโบ๋ หน้าเหี่ยว ความดันต่ำ ชีพจรเต้นเร็ว) ผู้ป่วยจะซึมลงเรื่อยๆ จนหมดสติ หากรักษาไม่ทันอาจตายได้

2) ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรง มักพบในผู้ป่วยประเภทที่ 2 ชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ที่เป็นโรคไม่รู้ตัว หรือขาดการรักษามานาน หรือภาวะติดเชื้อรุนแรง (เช่น ปอดอักเสบ กรวยไตอักเสบ โลหิตเป็นพิษหรือมีอาการใช้ยาบางรายไขข้อเสื่อมด้วยยาสเตียรอยด์ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ (สูงเกิน 600 mg% ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ซึม เกร็ง ชัก หมดสติ

3) อื่นๆ : ผู้ป่วยเบาหวานยังอาจเป็นปัจจัยการเกิดโรคอื่นๆ ได้อีกเช่น ภาวะไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง นิ่วในถุงน้ำดี เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (Cardiomyopathy) ซึ่งอาจทำให้เกิดหัวใจวายตายได้ เป็นต้น

การรักษา มักเริ่มด้วยการแนะนำเรื่อง 3อ. 3ลด

1) ควบคุมอาหาร ลดน้ำหนักตัว (ถ้าอ้วน)

2) ออกกำลังกาย

3) การควบคุมอารมณ์

4) ลดอ้วน

5) ลดเหล้า

6) ลดบุหรี่

ถ้าทำ 3อ. 3ลด แล้วปฏิบัติตัวอย่างดีแล้ว ระดับน้ำตาลยังสูงเกิน 140 mg% อาจจะเริ่มให้ยารักษาเบาหวานโดยถือหลักดังนี้ 1.บางรายที่เป็นไม่มาก (ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2) อาจให้ยาลดน้ำตาล เช่น ยาเม็ด ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่แพทย์สั่ง และต้องปฏิบัติกับยาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด หากสงสัยให้ติดต่อสอบถามแพทย์ 2.ในรายที่ใช้ยาชนิดกินไม่ได้ผล (โดยเฉพาะประเภทหนึ่งชนิดพึ่งอินซูลิน) หรือในกรณีติดเชื้อรุนแรง หรือต้องเข้ารับการผ่าตัดด้วยโรคอื่นๆ ต้องรักษาด้วยยาฉีด…อินซูลิน ซึ่งการปรับขนาดยาฉีด ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ และต้องปฏิบัติตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด ห้ามเพิ่มหรือลดยาเองโดยพลการเด็ดขาด

ข้อแนะนำ 4 ประการ

1.เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานหรือตลอดชีวิต เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ต้องกินยาและปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อจะได้มีชีวิตเหมือนคนปกติ แต่ถ้ารักษาไม่จริงจังมีอันตรายจากโรคแทรกซ้อนได้มาก จึงควรต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ มิเช่นนั้นผู้ป่วยมักจะดิ้นรนเปลี่ยนหมอเปลี่ยนยาไปเรื่อย ลองผิดลองถูกไปเรื่อย เคว้งคว้างขาดที่พึ่ง หนักๆ ก็หันไปรักษาทางไสยศาสตร์ หรือกับยาหม้อ หรือยาสมุนไพรแทน

2.ผู้ป่วยที่กินยาหรือฉีดยาอยู่บางครั้งจะมีอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือ มีอาการหายใจเร็ว ใจสั่น หน้ามืด ตาลาย เหงื่อออก เหมือนหิวข้าว เป็นมากๆ อาจเป็นลม หมดสติหรือชักได้ ควรบอกให้ผู้ป่วยระวังดูอาการดังกล่าว ถ้าเริ่มมีอาการดังกล่าว ให้รีบกินน้ำตาลหรือน้ำหวาน จะช่วยให้หายเป็นปลิดทิ้งได้ ผู้ป่วยควรทบทวนดูองค์ประกอบ 3 อย่างว่ามากน้อยไปอะไรบ้าง ได้แก่ กินอาหารน้อยไป กินยาหรือฉีดยาขนาดมากเกินไปหรือออกแรงกายมากเกินไปกว่าที่เคยทำอยู่หรือไม่ ควรปรับให้พอดี

3.ผู้ป่วยอย่าซื้อยาชุดกินเอง ระวังยาพวกสเตอรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เสริมฤทธิ์ยาเบาหวานได้

4.ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน ผู้ที่มีรูปร่างอ้วน หรือเป็นความดันโลหิตสูง เป็นโรคไขมันสูง ควรตรวจเลือดดูระดับน้ำตาลเป็นครั้งคราว ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยพึงกระทำ ซึ่งเป็นหัวใจของการรักษาโรคนี้ 3 อย่าง คือ 1.ต้องพบแพทย์ และตรวจเลือดตามนัด หากเป็นไปได้ควรตรวจดูสัญญาณชีพ คือตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดทุกวัน หรือทุกสัปดาห์ เพราะขอย้ำว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป คือ สัญญาณชีพของเรา ไม่ว่าค่าจะสูงหรือต่ำเล็กน้อย ก็อาจไม่มีอาการผิดปกติให้รู้สึกได้ อาจทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ ปล่อยตัวปล่อยใจ จนอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้ 2.กินยาหรือฉีดยาตามแพทย์สั่ง โดยเคร่งครัดสม่ำเสมอ ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาเองโดยพลการ 3.ปฏิบัติตัว 3อ. 3ลด โดยเสมอต้นเสมอปลาย

ผู้เขียนขอให้กำลังใจผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานว่า…การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการลดอ้วน ลดอบายมุข เหล้า บุหรี่ ออกกำลังกาย กินอาหารครบ 5 หมู่ ลดหวาน มัน เค็ม สร้างอารมณ์ดีสม่ำเสมอนั่น คือ “วัคซีนชีวิต” สร้างได้เองด้วยตัวเรา ที่สำคัญป้องกันโรคเบาหวานและลดความรุนแรงของคนที่เป็นโรคเบาหวานได้ดีเยี่ยม เพราะจะเป็นยาที่วิเศษช่วยทำให้เรามีคุณภาพชีวิตดีและมีอายุยืนได้ถึง 80 ปีกว่าๆ ในที่สุด

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนขอเรียนฝากจากสื่อ “มติชน” ไปถึงท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “ขวัญใจประชาชน” ได้ช่วยริเริ่มโครงการดีๆ ที่ถูกต้อง ถูกใจคนไทยทั้งประเทศ ด้วยการจัดให้มีโครงการเข้าถึงการตรวจเลือด “เบาหวาน” อีกสัก 1 โครงการ โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านมีและใช้ “เครื่องวัดค่าน้ำตาลในเลือด” (DTX) ทุกบ้าน ทุกคน เป็นเครื่องสัญญาณชีพที่ราคาพอประมาณ เครื่องแถม 1 เครื่อง ถ้าซื้อแถบวัด (Strip) 25 ชุด ราคาประมาณ 350-400 บาท หรือ 800-1,000 บาท โดยประมาณ แล้วแต่ยี่ห้อ ซึ่งประหยัด ราคาถูก

“สร้างสุขภาพ นำซ่อมสุขภาพ” ดีกว่าต้องเสียค่าใช้จ่าย ปีละ 3 แสนกว่าล้านบาทนะครับ

ขอขอบคุณ https://www.matichon.co.th