มะเร็งมะเร็งปากมดลูกรู้ทัน-โรค

ความหมาย มะเร็งปากมดลูก

Views

มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณปากมดลูกของผู้หญิง มีอาการบ่งชี้ คือ ตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวคล้ายหนอง เลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือผู้ที่อยู่ในวัยทองมีเลือดออกหลังจากที่หมดประจำเดือนไปแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่พบอาการแสดงในระยะแรกที่เริ่มป่วย แต่จะมีอาการเมื่อเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปแล้ว

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็ง เป็นการเจริญเติบโตของเซลล์ที่แบ่งตัวผิดปกติอย่างควบคุมไม่ได้ หรือเซลล์ที่เกิดการกลายพันธุ์ เกิดเป็นเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายลุกลามไปตามอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายผ่านทางระบบเลือดและน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก คือ การเกิดเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก ที่อยู่ส่วนภายในสุดของช่องคลอด เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างช่องคลอดกับมดลูก และเป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือน

ด้านสถิติที่เชื่อถือได้ในปีล่าสุดที่กล่าวถึงอัตราการตายด้วยโรคไม่ติดต่อในทุกกลุ่มอายุ พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยตายด้วยมะเร็งปากมดลูกประมาณ 600 คน ใน 1 แสนคน สูงเป็นลำดับที่ 4 เมื่อเทียบกับกลุ่มการตายด้วยโรคมะเร็ง โดยรองลงมาจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม และจัดอยู่ลำดับที่ 2 ของการตายด้วยมะเร็งในผู้ป่วยหญิงรองจากมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นหนึ่งในโรคอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้โรคลุกลาม เสมือนภัยเงียบสำหรับผู้หญิงที่ควรเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ

อาการของมะเร็งปากมดลูก

สัญญาณของโรคมักจะเกิดขึ้นเมื่อมะเร็งเริ่มเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว โดยจะมีอาการ เช่น มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ มีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ (ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้) ตกขาวมีเลือดหรือหนองปน ช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ ปวดในช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ และยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหากมีการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังเนื้อเยื่ออวัยวะอื่น ๆ เช่น ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด ปัสสาวะมีเลือดปน ปวดกระดูกบริเวณต่าง ๆ เป็นต้น โดยหากพบอาการผิดปกติที่น่าสงสัยดังกล่าวข้างต้น ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

กว่า 99% มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และยังมีสาเหตุอื่นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระยะก่อนมะเร็งมดลูก (CIN) ภูมิคุ้มกันต่ำ การสูบบุหรี่ และการมีลูกหลายคน

การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก

แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูกด้วยแป๊บ เสมียร์ (Pap smear) ซึ่งเป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเซลล์บริเวณปากมดลูก ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิดปกติหรือไม่ ในบางครั้งผลตรวจที่พบความผิดปกติของเซลล์นั้น ก็อาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งเสมอไปในกรณีที่การตรวจแป๊บ เสมียร์ สงสัยความผิดปกติ เช่น การตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูก (Colonoscopy) โดยแพทย์จะวินิจฉัยร่วมกับผลการตรวจอื่น ๆ ด้วย เช่น อัลตราซาวน์ เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) เอกซ์เรย์ปอด (chest x-ray) ผลตรวจเลือด CBC เพื่อประเมินว่ามะเร็งอยู่ในระยะใด เพื่อช่วยในวางแผนการรักษาต่อไป

การรักษามะเร็งปากมดลูก

ขั้นตอนในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกขึ้นอยู่กับระยะและอาการที่ป่วย โดยก่อนรับการรักษา แพทย์กับผู้ป่วยต้องปรึกษาและตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการรักษา ผลกระทบและภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษา การเลือกประเภทการรักษาตามระยะการป่วย โอกาสและเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จจากการรักษา

วิธีการรักษาที่ใช้ในระยะก่อนมะเร็ง คือ การผ่าตัดหรือรักษาบางส่วนของปากมดลูกที่มีรอยโรค Large Loop Excision of the Transformation Zone (LLETZ) การผ่าตัดแบบ Cone Biopsy และ Laser Therapy และนัดติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

ส่วนในผู้ป่วยที่ตรวจพบเซลล์มะเร็งแล้ว ต้องรักษาตามระยะและอาการที่พบด้วย เพราะในบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการที่มะเร็งลุกลามไปตามส่วนต่าง ๆ และอาจใช้วิธีในการรักษาร่วมกันมากกว่า 1 วิธี โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายและอาการป่วย

วิธีการรักษาที่ใช้ในผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งแล้ว ได้แก่ รังสีรักษา (Radiotherapy) เคมีบำบัด (Chemotherapy) และการผ่าตัด (Surgery) ปากมดลูก มดลูก รังไข่ ขึ้นกับความเหมาะสมของคนไข้ตามระดับความรุนแรงของโรคและบริเวณอวัยวะที่ถูกมะเร็งลุกลาม โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกจะใช้วิธีการรักษาเป็นการผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด ส่วนผู้ป่วยที่มีการลุกลามของมะเร็งที่มากขึ้นมักใช้วิธีการฉายแสงรังสีรักษาร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งปากมดลูก

หากมะเร็งเริ่มลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงรวมถึงกระดูก ตับ ปอด และสมอง จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะภายใน ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ แสดงออกมา โดยภาวะที่อาจเกิดขึ้นหลังป่วยด้วยมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ ความเจ็บปวดตามร่างกายบริเวณต่าง ๆ ที่มะเร็งอาจแพร่ลามไปถึง ภาวะมีเลือดออก อย่างเลือดไหลออกจากช่องคลอด หรือปัสสาวะมีเลือดปน ช่องคลอดมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ และการติดเชื้อภายในช่องคลอด การเกิดลิ่มเลือด ที่อาจปิดกั้นทางเดินเลือด การเกิดช่องทะลุระหว่างเนื้อเยื่ออวัยวะ ส่งผลให้มีของเหลวไหลออกจากช่องคลอด และไตวาย เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายในเลือดอาจเจริญเติบโตกีดขวางบริเวณท่อไต เป็นเหตุให้ระบบการทำงานของไตไม่สามารถทำงานตามปกติได้ และอาจเกิดไตวายในที่สุด

ยังสามารถพบอาการแทรกซ้อนที่เกิดตามหลังจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด รังสีรักษา หรือการผ่าตัด

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ที่สามารถป้องกันไวรัสนี้ได้บางสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง HPV-16 และ HPV-18 ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ด้วยตนเอง ด้วยการป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดต่อ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ไม่สูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพร่างกาย ตรวจสุขภาพ และตรวจด้วยชุดคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ และรีบไปพบแพทย์หากพบอาการแสดงของโรคที่น่าสงสัย เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก หรือเพื่อให้ทราบระยะของการป่วยแล้วเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนมะเร็งจะลุกลาม

ขอขอบคุณhttps://www.pobpad.com/

Leave a Reply