สุขภาพทั่วไป

ไวรัสตับอักเสบบี ใครว่าไม่อันตราย

Views

ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกายของเราอย่างมาก หากตับเกิดการอักเสบหรือเสียหาย ตับก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับสุขภาพของร่างกาย สาเหตุใหญ่อย่างหนึ่งที่ทำให้ตับของเราเกิดการอักเสบก็คือ ไวรัสตับอักเสบบี

ร้อยละ 70–75 ของมะเร็งตับในคนไทยเกิดจากไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง และ โรคไวรัสตับอักเสบถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 โรคติดเชื้อที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งในประเทศไทยพบว่ามีผู้เป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังกว่า 3.5 ล้านคน

อันตรายของไวรัสตับอักเสบบี

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทำให้เกิดปฎิกิริยาต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับเชื้อมีการอักเสบของเซลล์ตับและทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย หากติดเชื้อเป็นเวลานานกว่า 6 เดือนก็จะเรียกว่าภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และการอักเสบเรื้อรังดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดพังผืดที่ตับ จากนั้นก็จะทำให้ตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด

ซึ่งในบ้านเราพบว่าผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 90 จะมีประวัติเป็นโรคไวรัสตับอักเสบมาก่อนทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่าโรคไวรัสตับอักเสบบี ส่งผลโดยตรงต่อภาวะตับอักเสบเรื้อรัง รวมถึงเรื่องมะเร็งตับด้วย

ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อได้อย่างไร

ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อกันได้ 4 ช่องทางหลักๆ คือ

  1. จากแม่สู่ลูก เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในประเทศไทย การติดต่อนี้จะมีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อได้ในระหว่างคลอด จึงควรมีการตรวจเลือดมารดาระหว่างที่ฝากครรภ์ ถ้าพบว่ามารดามีเชื้อนี้อยู่ ควรให้วัคซีนและสารภูมิต้านทาน (อิมมูโนโกลบูลิน) ในทารกตั้งแต่แรกเกิดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้
  2. ทางเลือด โดยได้รับเชื้อจากการได้รับเลือดจากผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ ปัจจุบันพบการติดต่อทางนี้น้อยลง เพราะมีการตรวจเลือดก่อนที่จะนำมาให้ผู้ป่วยเสมอ
  3. ทางเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสจะติดโรคได้สูงถึงร้อยละ 30–50
  4. การใช้อุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนของเลือดร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด แปรงสีฟัน การสัก เป็นต้น

ไวรัสตับอักเสบบี อาการ เป็นอย่างไร

หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยเด็กประมาณ 10% และ ผู้ใหญ่ประมาณ 30-50% จะมีอาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี ในระยะเฉียบพลันได้ในช่วง 1-3 เดือนแรก โดยอาการที่มีจะเป็นๆ หายๆ และอาจคล้ายกับอาการเจ็บป่วยอื่นๆ แต่ที่แสดงออกเด่นชัดก็คือ

  • เบื่ออาหาร
  • มีไข้ต่ำๆ
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง
  • ปัสสาวะเหลืองเข้ม

หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการดังกล่าวมักหายได้เอง อย่างไรก็ตามหลังจากระยะนี้ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะยังมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่อไปเป็นเวลามากกว่า 6 เดือน เข้าสู่ระยะเรื้อรัง ซึ่งอาจไม่มีอาการ หรือมีภาวะตับอักเสบเรื้อรังนานจนเกิดตับแข็ง โดยอาจเริ่มมีอาการ เช่น

  • ตาเหลือง ตัวเหลือง
  • ท้องโต
  • เลือดออกในทางเดินอาหารเนื่องจากเส้นเลือดโป่งพอง
  • อาการซึม
  • ไม่รู้สึกตัว

เกิดภาวะตับวายและเสียชีวิตในที่สุด ทั้งระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีสามารถแพร่เชื้อผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่งได้

แนวทางการรักษา ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

การรักษาไวรัสบีในปัจจุบันสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบี ทำให้สามารถลดการอักเสบของตับ ชะลอ หรือยับยั้งการดำเนินโรคไปสู่การเป็นตับแข็ง หรือมะเร็งตับ นอกจากนี้การรักษายังสามารถลดภาวะผังผืดในตับทำให้ภาวะตับแข็งดีขึ้นได้ด้วย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ผู้ป่วยไวรัสบีเรื้อรังทุกคนต้องการการรักษา จะพิจารณาการรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่ยังมีการแบ่งตัวของไวรัสบี ร่วมกับมีการอักเสบของตับ หรือมีโรคตับอยู่ ในบางช่วงของโรคอาจจะตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดี ดังนั้นแพทย์จะพิจารณารักษาในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้

ส่วนการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสามารถหยุดยาเมื่อมีข้อบ่งชี้ ตามแนวทางการรักษาปัจจุบัน ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาระยะยาว หรืออาจจะตลอดชีวิต ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง และเฝ้าติดตามผู้ป่วยที่ยังไม่ต้องการการรักษาเพื่อจะพิจารณารักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้และมีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับ

วิธีการรักษาไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมีอยู่ 2 แบบ

  1. การใช้ยาชนิดรับประทาน ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบบี
  2. การใช้ยาฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วย ที่เรียกว่า ยาฉีดเพ็กไกเลดเตด อินเตอร์เฟียรอน (pegylated interferon) ยาตัวนี้มีฤทธิ์ไปกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วยให้ต่อสู้ควบคุมไวรัสตับอักเสบบีเป็นหลัก แต่ก็มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสบ้าง การรักษาด้วยยาฉีดเพ็กไกเลดเตด อินเตอร์เฟียรอน จะใช้เวลารักษานาน 48 สัปดาห์ สามารถได้ผลตอบสนองระยะยาว 6 เดือน ประมาณร้อยละ 33–40 หลังหยุดฉีดยาแล้วภูมิต้านทานของผู้ป่วยที่ถูกกระตุ้นไว้ ยังคงออกฤทธิ์ต่อสู้กับไวรัสอยู่จึงสามารถมีการตอบสนองเพิ่มขึ้น อีกประมาณร้อยละ 14 หลังหยุดการรักษาไปแล้ว 1 ปี ผลตอบสนองจากการรักษาด้วยยาฉีดอินเตอร์เฟียรอนมักอยู่นาน โอกาสการกลับเป็นซ้ำน้อยกว่ายากินต้านไวรัส