SLEสุขภาพเด็ก

SLE โรคพุ่มพวงในเด็ก พ่อแม่ต้องรับมือให้ทัน อันตรายถึงชีวิต!!

Views

สวัสดีค่ะคุณแม่รักลูกทุกท่าน กลับมาพบกันอีกเช่นเคยกับสาระความรู้ดีๆ วันนี้เราจะพามารู้จักกับโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือ Systemic Lupus Erythematosus เรียกสั้นๆ กันว่า SLE ค่ะ อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นโรคที่ไกลตัวนะคะ เพราะเด็กข้างบ้านของแม่แอดมินจากเด็กสดใสร่าเริง ดูสุขภาพแข็งแรง จู่ๆ ก็มาล้มป่วยเป็นโรคนี้ได้เหมือนกันค่ะ

โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือ SLE คืออะไร?

เป็นโรคที่มีความบกพร่องของภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง  โดยตัวภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า แอนติบอดี้ ซึ่งมักจะอยู่ในเม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่คอยกำจัดสิ่งแปลกปลอม และต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย แต่ว่าร่างกายของคนนั้น มีภูมิคุ้มกันตัวนี้ทำงานหนักเกินไป จึงทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า แถมยังมีการสร้างแบบอัตโนมัติ แบบควบคุมการทำงานไม่ได้ จึงทำลายระบบอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายไปด้วย และถ้าไปเผลอทำลายโดยอวัยวะที่สำคัญเข้า ก็ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ขอเปรียบเทียบบให้เห็นภาพชัดๆ ของความแตกต่างระหว่างโรค SLE ในเด็กและในผู้ใหญ่กันดีกว่าค่ะ 

จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วย SLE ที่เป็นเด็กมีอยู่ร้อยละ 15-20 จะมีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะมีอาการของโรคได้ตั้งแต่หลังคลอดจนถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนมากพบในช่วงอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ อายุ 15-19 ปี และ 5-9 ปี ตามลำดับ

โดยทั่วไปอาการของโรคตามระบบจะพบว่า อาการทางข้อ ผิวหนัง ไต และอาการทางประสาท จะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งโรค SLE ในเด็กพบว่ามีอาการรุนแรงมากกว่า และอาการจะกำเริบเร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ช่วงระยะเวลาในการรักษาจะต้องเร็วกว่าผู้ใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงผลร้ายในระยะยาว

ปัจจัยเสี่ยงของ“โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง SLE หรือโรคพุ่มพวง”

1.พันธุกรรม
หากทางฝั่งพ่อหรือแม่ มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้แล้วละก็ ลูกก็จะมีความเสี่ยงได้ค่ะ โดยเฉพาะในฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าแฝดไข่คนละใบ

2.การติดเชื้อไวรัสบางชนิด
เชื้อ Ebstein-Barr Virus (EBV) ซึ่งเป็นไวรัสที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้าง Auto immune ได้ นอกจากนี้ยังมีไวรัสตัวอื่น เช่น Cytomegalovirus หรือแม้แต่เชื้อเริม ก็อาจกระตุ้นได้เช่นกัน

3.เพศหญิง
ฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน หรือโครโมโซม X ที่มีมากกว่าเพศชาย แต่ถ้าหากเป็นโรค Klinefelter’s syndrome ที่มีโครโมโซมผิดปกติเป็น XXY ก็มีโอกาสที่จะเป็น SLE ได้เช่นกันค่ะ

4.แสงแดด
รังสีอัลตร้าไวโอเลต ทำให้มีผลต่อผิวหนังตรงบริเวณที่โดนแดด

5.ยาบางชนิด
ยาคุมกำเนิด(เฉพาะที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน) ยาปฏิชีวนะ เช่น กลุ่ม Penicillins, Tetracycline, Isoniacid, Quinidine, Griseofulvin ยากันชัก Phenetoin Carbamazipine ยาไทรอยด์ ยาลดไขมันกลุ่ม Statins เป็นต้น

6.สารเคมีบางชนิด
สารเคมีที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม เช่น สีย้อมผม ยาฆ่าแมลง ควันบุหรี่ เป็นต้น

5 สัญญาณอันตราย “โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง SLE หรือโรคพุ่มพวง”

1.มีไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ และอ่อนเพลียมากผิดปกติเป็นเวลานาน
2.ลูกมีอาการเบื่ออาหาร สังเกตน้ำหนักลูกบ่อยๆ ว่าน้ำหนักลดลงหรือไม่ หรือใช้วิธีสังเกตจากสัดส่วน เสื้อผ้าของลูก
3.มีผื่นขึ้นโดยเฉพาะที่หน้า และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งไม่ได้เกิดจากอาการแพ้ต่างๆ
4.มีอาการปวด บวมตามข้อ ตามตัว โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน
5.ผมลูกร่วงมากผิดปกติ

ส่วนการรักษานั้น การใช้ยาจะมีความแตกต่างจากในผู้ใหญ่ เพราะต้องคำนึงถึงผลระยะยาวที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะผลทางด้านการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ตลอดจนผลข้างเคียงที่แก้ไขไม่ได้หากเกิดขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยเด็กจะมีการตอบสนองต่อการรักษาและผลข้างเคียงของยากดภูมิคุ้มกันแตกต่างจากผู้ใหญ่ การตอบสนองต่อยาบางชนิดดีกว่าถ้าได้รับการบำบัดในระยะแรก ๆ ของโรค ก็จะสามารถลดผลข้างเคียงของโรคและยาได้ดีกว่า

ไม่ต้องเป็นซูเปอร์ฮีโร่ คุณแม่ก็ปกป้องลูกได้ค่ะ..  คุณแม่เพียงแค่หมั่นสังเกตลูกบ่อยๆ นะคะ หากมีอาการดังข้างต้นแล้ว ให้รีบพาลูกไปหาคุณหมอเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างถูกต้องตามอาการค่ะ หากพบว่าเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง คุณหมอจะให้ยาเพื่อกดภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม กับระดับความรุนแรงของโรค เนื่องจากยาที่รักษาโรคนี้เป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง และควรได้รับการติดตามผลการรักษาโดยแพทย์ จึงไม่ควรซื้อยาเพื่อรับประทานเองนะคะ

ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข, พญ.ศิริสุชา โศภนคณาภรณ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี