SLEสุขภาพทั่วไป

โรค เอส แอล อี

Views

โรคเอส แอล อี

ความหมาย โรคเอส แอล อี หรือโรคลูปัส จัดเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยทำลายสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคภายนอกร่างกายกลับเปลี่ยนเป็นสร้างภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆ ของตนเอง ทำให้เกิดมีภูมิคุ้มกันที่เป็นพิษต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย อวัยวะที่พบเกี่ยวข้องบ่อยคือ ผิวหนัง ข้อ ไต หัวใจ ปอด สมอง และระบบโลหิต

ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ โรคเอส แอล อี พบได้ทุกเชื้อชาติ พบในคนผิวดำ ผิวเหลืองมากกว่าคนผิวขาวพบมากในประเทศแถบเอเซียตะวันออก เช่น ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง สิงค์โปร์ ในวัยรุ่นถึงวัยกลางคนคือ ในระหว่างอายุ 20-45 ปี เฉลี่ย 30 ปี ผู้หญิงมีอัตราการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 9-10 เท่า

สาเหตุ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีผู้ให้ข้อคิดว่าเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ประกอบกับตัวคนนั้นมีสภาพร่างกายที่เอื้อในการเกิดโรค สาเหตุที่เป็นปัจจัยร่วม ได้แก่

1. พันธุกรรม
2. เชื้อโรคหรือสารพิษ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส
3. ฮอร์โมนเพศหญิง เนื่องจากว่าพบเพศหญิงเป็นมากกว่าเพศชาย และพบได้บ่อยเมื่อเริ่มมีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด
4. สภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดโรค ได้แก่ แสงแดด ยา อาหาร

อาการและอาการแสดง

เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิต้านทาน โรคเอส แอล อี จึงมีอาการแสดงออกทางคลินิกได้หลากหลายขึ้นอยู่กับว่าภูมิต้านทานที่ผิดปกตินั้นไปต่อต้านหรือเป็นพิษ ต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะส่วนใดของร่างกาย อาการอาจมีเพียงบางระบบหรือหลายระบบร่วมกัน มีตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อยจนรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ อาการของแต่ละระบบอาจแสดงออกมาในเวลาเดียวกัน หรือเกิดขึ้นในช่วงต่อมาของการดำเนินโรค อาการจึงมีระยะทุเลา ทรุดลง หรือกำเริบได้ตลอดเวลา

อาการที่พบได้
*อาการทั่วไป มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
*อาการทางผิวหนัง มีผื่นเฉพาะโรค เป็นรูปผีเสื้อตั้งแต่สันจมูกไปสู่โหนกแก้มผื่นวงแดงตามใบหน้า หนังศีรษะ และใบหู แผลที่เพดานปากเป็นๆ หายๆ และอาการทางผิวอื่นๆ ที่พบได้บ่อย คือ ผมร่วง ผื่นตามตัวตามเท้าทั่วไปจากการแพ้แสงแดด ปลายมือปลายเท้าซีด
*อาการทางข้อ จะมีอาการปวดข้อมากกว่าลักษณะอักเสบ มักเป็นที่ข้อ เข่า ข้อนิ้วมือ ข้อที่เหมือนกันทั้งสองข้างคล้ายการอักเสบจากรูมาตอยด์ แต่จะต่างกันตรงที่อาการทางข้อของเอส แอล อี ไม่มีอาการการกัดกร่อนของข้อ
*อาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรงพบได้บ้าง
*อาการทางไต มีไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ พบเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ถ้าอาการมากจะมีอาการเหมือนโรคไต คือ บวม ปัสสาวะน้อย ความดันโลหิตสูงจนถึงไตวาย
*อาการทางปอด ที่พบบ่อยคือการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด หรือมีการติดเชื้อร่วมด้วย
*อาการทางระบบหายใจ มีการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบได้บ้างแต่น้อย
*อาการทางระบบประสาท มีอาการคล้ายมีพยาธิสภาพที่สมอง ชัก เพ้อเจ้อ เอะอะโวยวาย คลุ้มคลั่งคล้ายโรคจิต
*อาการทางระบบโลหิต ซีดจากมีการแตกของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวต่ำลง เกร็ดเลือดต่ำ ทำให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
*อาการทางระบบทางเดินอาหาร พบอาการปวดท้องได้บ่อย บางครั้งปวดท้องจากตับอ่อนอักเสบ อาการที่พบได้บ้างแต่ไม่มาก เช่น กลืนลำบาก ตับแข็ง
*อาการทางระบบอื่นๆ อาจพบต่อมน้ำลายโต ต่อมน้ำเหลืองโต

แม้ว่าเอส แอล อี จะมีอาการได้มากมาย แต่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทุกระบบดังกล่าว ความรุนแรงของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีผื่น มีไข้ บางคนอาจมีอาการปวดข้ออย่างเดียว แต่บางคนมีอาการมากดังกล่าวข้างต้น

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้ แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการดังกล่าวข้างต้นร่วมกับอาการเฉพาะโรค และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด และเอ็กซ์เรย์ บางรายอาจต้องตัดเนื้อเยื่อไปตรวจเพื่อประกอบการวินิจฉัย

การรักษาและการพยากรณ์โรค

เนื่องจากโรคนี้ผู้ป่วยแต่ละรายมีความรุนแรงต่างกัน การรักษาจึงแตกต่างกันได้มากมายขึ้นกับอาการที่มี บางรายอาจให้เพียงยาแก้ปวดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการรักษาจะเน้นการควบคุมการกำเริบของโรคให้สงบโดยเร็ว และรักษาต่อเนื่องเพื่อมิให้โรคกำเริบอีก สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้นแพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน ตั้งแต่ขนาดต่ำจนถึงขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานเป็นสัปดาห์ หรือหลายเดือนขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอวัยวะที่มีการอักเสบ บางรายอาจต้องให้ยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด ยากดภูมิคุ้มกัน บางรายอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการเปลี่ยนถ่ายเลือดร่วมในการรักษาขึ้นอยุ่กับความรุนแรง และระบบอวัยวะที่มีการอักเสบ
ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยเอส แอล อี มีชีวิตยืนยาวขึ้นเพราะมียาปฏิชีวนะ และยาลดความดันโลหิตที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลโรคนี้มากขึ้น

ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยเอส แอล อี

1. ช่วงที่มีการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่เพิ่มหรือลดขนาดยาเอง
2. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง ถ้าจำเป็นควรสวมหมวกปีกกว้าง กางร่มใส่เสื้อแขนยาว และใช้ยากันแดดที่ป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตได้ดี
3. ทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรเครียด หรือหมกมุ่น ท้อถอย เศร้าใจ กังวลใจ เพราะจะทำให้อาการของโรคกำเริบได้ ควรมีความอดทนต่อการรักษา แม้บางครั้งจะต้องพบกับอาการข้างเคียงของยาบ้าง ควรทำใจให้ยอมรับกับโรคและปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นคิดในเชิงสร้างสรรค์และค่อยๆ แก้ปัญหาไปตามลำดับ เนื่องจากการพยากรณ์โรคต่างกัน จึงไม่ควรนำอาการของตนไปเปรียบกับผู้ป่วยอื่น เพราะจะทำให้สับสน
4. เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่สุกสะอาด เพราะมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ง่าย เช่น ไข้ไทฟอยด์ พยาธิ แบคทีเรีย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ผลจากยาสเตียรอยด์ อาจทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนง่าย การกินอาหารมีแคลเซียมสูงจะป้องกันได้
5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
6. ไม่ควรตั้งครรภ์ในระยะที่โรคกำเริบ เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดหรือใส่ห่วง ซึ่งอาจจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง ควรใช้วิธีอื่นแทนโดยปรึกษาแพทย์ระยะที่โรคสงบตั้งครรภ์ได้ แต่ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ตลอด
7. ไม่รับประทานยาเอง โดยไม่จำเป็นเพราะยาบางตัวอาจทำให้โรคกำเริบการแพ้ยาจะเกิดได้ง่ายกว่าคนปกติ
8. หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดอากาศไม่บริสุทธิ์ ไม่เข้าใกล้ผู้ที่กำลังติดเชื้อ เช่นไข้หวัด
9. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ไปตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อประโยชน์ในการประเมินความรุนแรงของโรคและผลของการรักษา แพทย์จะได้พิจารณารักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ควรเปลี่ยนผู้รักษาบ่อยเพราะแพทย์คนใหม่อาจจะไม่ทราบรายละเอียดอาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดการล่าช้าในการวินิจฉัยโรค การรักษาและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
10. ถ้ามีอาการผิดปกติที่ชี้บ่งว่ามีการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ไข้หวัด มีตุ่มหนอง ควรรีบกลับไปหาแพทย์ทันที หรือหากไปหาแพทย์อื่นควรนำยาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง เพื่อแพทย์จะได้จัดยาให้สอดคล้องกับยาเดิม
11. ถ้ามีอาการผิดปกติที่เป็นอาการกำเริบของโรคให้ไปพบแพทย์ก่อนนัด เช่น มีไข้เป็นๆ หาย ๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ผมร่วง บวม ผื่นใหม่ๆ ปวดข้อ
12. ถ้าหากรับประทานยาที่กดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น อิมมูแรน เอ็นดอกแซน ให้หยุดยาชั่วคราวระหว่างที่มีการติดเชื้อ
13. ทำงานหรือเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับสภาวะของโรคที่เป็นอยู่

สรุป โรคเอส แอล อี หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบได้ แม้โรคจะยังรักษาไม่หาย แต่การปฏิบัติตัวที่ดีของผู้ป่วย การให้ความร่วมมือในการรักษา ความตั้งใจและอดทน จะสามารถควบคุมการกำเริบของโรคได้ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข หากท่านสงสัยว่าเป็นโรคนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกๆ

เอกสารอ้างอิง

กิตติ โตเต็มโชคชัยการ. (ม.ป.ป.) มารู้จักโรคเอส แอล อีกันเถอะ. มูลนิธิ ด.ญ.อุรวสี จำเดิมเผด็จศึก.

กนกรัตน์ นันทิรุจ. (ม.ป.ป.). ข้อปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรค เอส แอล อี.

ชมรมรูมาติซั่มแห่งประเทศไทย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. อัดสำเนา.

ละมูล บุรณศิริ. (2539). โรคเอส แอล อี. งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี. แผ่นพับ.

สุชีลา จันทร์วิทยานุชิต. (2538). โรคลูปัส ใน สุรวุฒิ ปรีชานนท์ และสุรศักดิ์ นิลภานุวงค์ (บรรณาธิการ), ตำราโรคข้อ. (หน้า 99-136).กรุงเทพมหานคร : เรือนแก้วการพิมพ์.

สุรศักดิ์ นิลภานุวงค์. (2538). Systemic Lupus Erythemoatosus ฟื้นฟูวิชาการโรคข้อและรูมาติซั่ม. นครปฐม : สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล.

อุทิศ ดีสมโชค. (2534). การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคข้อ. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ที่ปรึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
ผู้เรียบเรียง จริยา วิรุฬราช

จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร.0-2201-2520-1

ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/81