โรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV)

เชื้อไวรัส RSV โรคระบาดจากผู้ใหญ่สู่เด็ก

Views

ในฤดูฝนช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคมของทุกๆปี เชื้อ RSV จะระบาดอย่างมากในประเทศไทย โดยการติดเชื้ออาจเกิดจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่ป่วยหรือเป็นพาหะได้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็กเล็ก อยากเข้าไปสัมผัสจับมือ หอมแก้ม โดยไม่ได้ล้างมือหรือทำความสะอาดร่างกายก่อนสัมผัสตัวเด็ก ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ใหญ่จึงควรระมัดระวัง อย่าเผลอแพร่เชื้อให้เด็กโดยไม่รู้ตัว

ไวรัสวิทยา
เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) อยู่ใน Family Paramyxoviridae เป็น Single Strand RNA เป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม ซึ่งที่เปลือกหุ้มมีโปรตีนที่สำคัญ ได้แก่ Attachment (G) Protein ซึ่งเป็นตัวกำหนด Subgroup ของเชื้อ แบ่งออกเป็น RSV – A , RSV – B และ Fusion (F) Protein ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญในขบวนการเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจของคน ในการพัฒนาวัคซีนและยารักษาการติดเชื้อ RSV นั้นเป้าสำคัญ คือ ส่วน F Protein และ RNS Polymerase complex

ระบาดวิทยา
เชื้อRSVเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กต่ำกว่าอายุ 5 ปีทั่วโลก ในแต่ละปีมีเด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 3 ล้านครั้ง และมีเด็กเสียชีวิตประมาณ 60,000 – 200,000 คน ในประเทศไทย การติดเชื้อ RSV มักเกิดในฤดูฝน ช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคมของทุกปี ซึ่งแตกต่างจากอุบัติเหตุในต่างประเทศ ซึ่งจะระบาดในช่วงฤดูหนาวและต้นฤดูใบไม้ผลิ

อาการทางคลินิกและการดำเนินโรค
ไวรัส RSV ติดต่อผ่าน Large droplets ในระยะน้อยกว่า 3 ฟุต และติดต่อโดยสัมผัส โดยตรงหรือสัมผัสเชื้อที่ติดอยู่ตามอุปกรณ์ พื้นผิวต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟท์ เป็นต้น เชื้อสามารถติดอยู่ได้หลายชั่วโมงถึงเป็นวัน ทำให้เกิดการติดต่อแพร่เชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาลหรือโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่รับเชื้อแล้วจะมีการแพร่กระจายเชื้ออีก 3 – 8 วัน และมีระยะฟักตัว 4 – 6 วัน ในช่วง 1 – 2 วันแรก จะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ต่ำๆ จาม น้ำมูกใสไหล เมื่อมีการดำเนินโรคมากขึ้น จะส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ โดยจะมีความรุนแรงมากในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 – 2ปี สำหรับเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 3 – 6 เดือน อาจมีอาการหยุดหายใจมักจะไม่มีไข้หรือไข้ต่ำๆ กินนมหรืออาหารได้น้อยลงร่วมด้วย การติดเชื้อซ้ำพบได้บ่อยในผู้ใหญ่และเด็กโต แต่ในผู้ใหญ่และเด็กโตนั้นจะมีอาการเพียงเล็กน้อยโดยมีอาการเหมือนเป็นหวัดธรรมดา

การวินิจฉัย
การตรวจ X – ray ปอด ในเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นหลอดลมฝอยอักเสบ จะพบ Hyperinflation, flattened diaphragms, Peribronchial thickening ได้

การตรวจทางห้องปฎิบัติการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทางคลินิก คือ การตรวจ Nonal swab หรือ nasophanpgeal aspirate โดยการตรวจ Rapid antigen detection โดยเทคนิค Immunochromatography การตรวจที่มีความไวสูง คือ ประมาณร้อยละ 80 – 90 หรืออาจตรวจด้วยวิธี Reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT – PCR) พบว่าวิธีนี้ตรวจพบ RSV ได้มากกว่าการตรวจ virus culture และ Antigen detection ในปัจจุบันการตรวจวิธีนี้ยังมีราคาสูงกว่าการตรวจแบบ Antigen ditection สำหรับการตรวจ viral culture จะพบเชื้อไวรัสสูงสุดวันที่ 2 – 3 ของโรค และหากผู้ป่วยรายใดมีอาการรุนแรงจะตรวจพบไวรัสได้นานขึ้น โดยปริมาณไวรัสจะลดลงช้ากว่าเด็กที่อาการไม่รุนแรง

การรักษา
การรักษาเด็กที่ติดเชื้อ RSV ในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น โรคหลอดลมฝอย (bronchiole) และปอดบวม (pneumonia) เป็นการรักษาแบบ Supportive และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เน้นการดูแลระบบทางเดินหายใจโดยติดตามการประเมินอัตราการหายใจ O2 saturation หากน้อยกว่าร้อยละ 95 อาจจำเป็นต้องให้ออกซิเจน หรือ พิจารณา High – Flow nasal cannula therapy (HFNC) โดยมีหลักการคือให้ pressure support และลด dead space ventilation โดยการให้ airflow ขนาดสูงโดยมีการปรับอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม พบว่าลดอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจและการใช้เครื่องที่ช่วยหายใจได้ การพ่นยาขยายหลอดลม และการใช้ยา corticosteroid ไม่ช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาลหากผู้ป่วยมีอาการ mild to moderate bronchiolitis แนะนำใช้  hypertonic saline จะลดความเหนียวข้นของเสมหะ ลดการบวมของทางเดินหายใจ และช่วยเสมหะออกได้ดีขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษายาต้านไวรัส RSV และการให้ antibody เพื่อการป้องกันโรคนั้น ยังอยู่ในการศึกษาphase2b – phase3 ได้แก่ยา Gs-806 ยา ALS – 008176 และ Antibody ALX – 0171

การป้องกันโรค
การป้องกันโรคโดยทั่วไป เน้นที่ลดโอกาสในการสัมผัสโรค โดยเฉพาะในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล และโรงพยาบาล รวมทั้งญาติผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เพื่อลดโอกาสในการส่งเชื้อมาที่ผู้ป่วย เน้นการล้างมือ ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย ในกรณีมีเสมหะมาก ควรใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ หรือเสื้อกาวน์ รวมทั้งแว่นตาด้วย โดยปกติแล้วในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อโรคนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ แต่จะเป็นพาหะนำเชื้อสู่เด็กได้ สำหรับครอบครัวที่ลูกมีอาการป่วยแล้วควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เช่น ไม่ไปในที่แออัด งดไปโรงเรียน ดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

ขอขอบคุณ:vichaiyut.com

Leave a Reply