โรคปอดโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบติดเชื้อในเด็ก

Views

ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เด็กเป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อกันเป็นจำนวนมาก เราจะมีวิธีการดูแลรักษาและป้องกันได้อย่างไร จะมาไขข้อข้องใจกัน

            โรคปอดอักเสบติดเชื้อหรือที่เรียกกันว่า โรคปอดบวม  สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในปอด ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อฮิบ หรือเชื้อไมโครพลาสมา เชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อ RSV ไข้หวัดใหญ่ ADENOVIRUS PARAINFLUENZA VIRUS เป็นต้น โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุมักอยู่ในน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย และสามารถติดต่อได้หลายทาง ตั้งแต่การหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง บางส่วนอาจเกิดจากการสำลักอาหาร การแพร่กระจายตามกระแสเลือด หรือแพร่ผ่านจากมือคนซึ่งมีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ไปสู่อีกคน โรคนี้พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด มีโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีภาวะขาดอาหาร โดยผู้ป่วยอาจจะมีไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อยหรือหายใจลำบาก ขณะหายใจมีชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม ในเด็กโตอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าออกลึก ๆ ร่วมด้วย และในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจส่งผลให้มีน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด มีฝีในปอดหรือมีภาวะหายใจล้มเหลวได้

            วิธีการดูแลรักษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การดูแลรักษาจำเพาะ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อก่อโรคในกรณีที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือการให้ยาต้านไวรัสในกรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนที่สอง คือ การรักษาประคับประคอง เช่น การให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำเพื่อชดเชยภาวะขาดสารน้ำจากการที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารและน้ำได้น้อยลง การให้ออกซิเจนในกรณีที่มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ การให้ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะในกรณีที่เสมหะเหนียว ในเด็กไม่ควรใช้ยากดการไอ เนื่องจากจะทำให้เสมหะคั่งค้างในปอดและหลอดลมเพิ่มมากขึ้น อาจมีการให้ยาพ่นขยายหลอดลมในกรณีที่ได้ยินเสียงหลอดลมตีบจากภาวะหลอดลมหดเกร็งร่วมด้วย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหายใจลำบาก แพทย์ผู้ดูแลอาจพิจารณาใช้เครื่องช่วยหายใจผ่านทางหน้ากากหรือพิจารณาใส่ท่อหลอดลม

            ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อซ้ำหลายครั้งใน 1 ปี หรือภายหลังได้รับการรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบหายใจเพื่อหาสาเหตุ โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการตรวจเพิ่มเติมโดยอาศัยภาพถ่ายรังสีขณะที่ผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อในแต่ละครั้งที่ผ่านมา ว่าพบความผิดปกติที่ตำแหน่งเดียวกันตลอดหรือกระจายคนละตำแหน่งทั่วทั้งปอด สาเหตุของการเกิดปอดอักเสบซ้ำในเด็กที่พบบ่อย เช่น การสำลักอาหาร การมีโครงสร้างผิดของหลอดลมหรือปอด การมีภาวะหลอดลมไวหรือมีอาการของโรคหืดร่วมด้วย โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการไอ หายใจลำบากหรือมีเสียงหวีดยาวนานหลังจากมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น โดยมีอาการมากเวลากลางคืนหรือหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ หลังการออกกำลังกาย การหัวเราะหรือร้องไห้ มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวโดยเฉพาะโรคหืดในบิดามารดาหรือพี่น้อง มีอาการผิวหนังอักเสบหรือเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย เป็นต้น นอกจากนี้สาเหตุการเกิดปอดอักเสบซ้ำในเด็กยังอาจเป็นผลมาจากโรคหัวใจ ภาวะที่ปอดพัฒนาไม่สมบูรณ์จากการคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และให้การรักษาป้องกันตามสาเหตุต่อไป

            โรคปอดอักเสบติดเชื้อในเด็กเป็นโรคที่พบบ่อย และในกรณีที่อาการรุนแรงอาจส่งผลให้มีภาวะหายใจล้มเหลวได้ ผู้ปกครองสามารถมีส่วนช่วยในการป้องกันบุตรหลานจากโรคปอดอักเสบติดเชื้อได้ โดยการหลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานโดยเฉพาะเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีคนแออัดหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย จัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป หมั่นล้างมือทำความสะอาดบ่อย ๆ เมื่อมีโอกาสสัมผัสเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย

            ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบติดเชื้อ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มนิวโมคอคคัสหรือฮิบ จึงแนะนำให้พาบุตรหลานไปรับวัคซีนดังกล่าว โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดรุนแรง เช่น เด็กที่ไม่มีม้าม มีโรคไตชนิดเนโฟรติก หรือมีโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวาย โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่ฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก และหากสงสัยว่าลูกเริ่มมีอาการของโรคปอดอักเสบติดเชื้อก็ควรพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

Leave a Reply