โรคหลอดเลือดสมองตีบ

วิธีดูแลผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองในระยะฟื้นฟู

Views

โรคหลอดเลือดสมองเมื่อเกิดขึ้นแล้วมักทิ้งความพิการหรือความบกพร่องทางร่างกาย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่เหลือของผู้ป่วย การดูแลและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยในระยะฟื้นฟูอย่างถูกต้อง ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูความเสียหายทางระบบประสาท ทั้งยังเป็นการป้องกันการเกิดความเสียหายเพิ่มเติม และการเกิดซ้ำของโรคด้วยกลไกการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในทางแพทย์จีนมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.ผู้ป่วยเลือดลมอ่อนพร่องอยู่แต่เดิมอิน-หยางในร่างกายเสียสมดุล เมื่อเกิดการกระตุ้นทางอารมณ์ เช่น โกรธโมโห หงุดหงิด กังวล ทำให้ลมปราณติดขัด อุดกั้นการไหลเวียนของเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง

2.ผู้ป่วยมีธาตุอิน (น้ำ) ในร่างกายพร่องจนไม่สามารถควบคุมหยาง (ไฟ) ของตับได้ ทำให้หยางตับทะยานขึ้นสูง เลือดลมไหลเวียนแปรปรวน ย้อนขึ้นไปโจมตีเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง

วิธีการดูแลรักษาผู้ป่วย

1.การดูแลด้านอารมณ์ของผู้ป่วย

แม้ว่าสาเหตุและกลไกการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทางแพทย์จีนจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคนก็ตาม แต่สิ่งที่เหมือนกันและเป็นกลไกการเกิดโรคพื้นฐานที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทุกคนก็คือ “กลุ่มอาการติดขัด เลือดและลมปราณไหลเวียนไม่คล่อง” ซึ่งสาเหตุสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของกลุ่มอาการเลือดลมติดขัดนั้นเกิดมาจากปัจจัยทางด้านอารมณ์ของผู้ป่วยนั่นเอง

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีหยางของตับทะยานขึ้นสูง มักเป็นคนขี้หงุดหงิดโมโหง่าย ผู้ป่วยที่ป่วยมาเป็นเวลานานมักมีอาการวิตกกังวล ไม่มั่นใจ ดื้อดึง หรือมีอาการซึมเศร้า ซึ่งยิ่งทำให้เกิดลมปราณติดขัดไหลเวียนผิดปกติ ไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นฟูร่างกาย ควรดูแลเอาใจใส่ด้านอารมณ์ของผู้ป่วย พยายามช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ไม่หมกหมุ่นกับความเจ็บป่วย คอยให้กำลังใจ ไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดมากขึ้น พยายามรักษาสมดุลทางอารมณ์ของผู้ป่วย ไม่ให้โกรธมากไป ดีใจมากไป โศกเศร้าเสียใจมากไป ครุ่นคิดกังวลมากไป หวาดกลัวมากเกินไป

 2.การออกกำลังฟื้นฟูการทำงานของแขนขา

การออกกำลังและทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตในระยะฟื้นฟูอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดอัตราการเกิดความพิการลงได้ ควรช่วยวางตารางในการออกกำลังแขนขาของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ คอยช่วยเหลือผู้ป่วยให้เริ่มการเคลื่อนไหว จากง่ายไปซับซ้อนจนสามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันได้ในที่สุด เช่น เริ่มจากให้ผู้ป่วยใช้แขนข้างที่ยังแข็งแรงช่วยเคลื่อนไหวข้างที่อ่อนแอ จากนั้นเมื่อผู้ป่วยมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นค่อยๆ ให้ผู้ลงจากเตียงฝึกยืนและฝึกเดินโดยมีผู้ประคอง หรือเครื่องประคอง โดยเพิ่มการฝึกฝนแต่ละขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป

3.การฝึกพูด

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบางรายมีปัญหาด้านการพูด ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างแคล่วคล่องเหมือนเดิม สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันและส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แม้ว่าการฟื้นฟูด้านการพูดจะมีความยากลำบากกว่าการฟื้นฟูของแขนขามากก็ตาม ควรช่วยให้ผู้เริ่มมีการฝึกฝนการพูดแต่เนิ่นๆ คอยฝึกฝนให้ผู้ป่วยพูดซ้ำไปซ้ำมาอย่างอดทนและใจเย็น จากง่ายสู่ซับซ้อน จากคำเดี่ยวง่ายๆ สู่คำที่ยากขึ้น จากคำสู่ประโยคสั้นๆ จากประโยคสั้นๆ สู่ประโยคยาวที่เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นจนกระทั่งผู้ป่วยสามารถพูดสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ในที่สุด

4.การดูแลควบคุมอาหาร

ในทางแพทย์จีนถือว่าการทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัดและการดื่มเหล้าในปริมาณมาก ทำให้เกิดความชื้นและเสมหะร้อนไปอุดกั้นทางเดินเลือดและลมปราณ ไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย ผู้ป่วยโรคเลือดสมองจึงควรรับประทานอาหารรสจืดทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานอาหารสะอาดและตรงเวลาครบทุกมื้อ ไม่ทานมากเกิน งดทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัด และงดดื่มเหล้า

5.ดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน

คอยดูแลรักษาความอบอุ่นร่างกายของผู้ป่วย ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลพุพองจากน้ำร้อนลวกเนื่องจากผู้ป่วยเคลื่อนไหวไม่สะดวก จัดระเบียบในการใช้ชีวิตประจำวันพยายามตื่นและเข้านอนให้เป็นเวลาหากสามารถทำได้ พยายามดูแลไม่ให้ผู้ป่วยเหนื่อยเกินไปหรือเครียดเกินไป หากิจกรรมที่สร้างความบันเทิงและผ่อนคลายให้ผู้ป่วย

ขอขอบคุณ https://www.posttoday.com

Leave a Reply