รู้ทัน-โรค

รู้เท่าทัน..โรคสะเก็ดเงิน หยุดตีตรา..ไม่ใช่โรคติดต่อ

Views

“โรคสะเก็ดเงิน”  เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร โดยสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยและทุกประเทศ ถึงแม้โรคสะเก็ดเงินจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่มักจะมีผลต่อสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้ป่วย ณ ปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะทางผิวหนัง แต่อาจพบมีสัมพันธ์กับโรคอื่นๆได้แก่ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และกลุ่ม metabolic syndrome ได้แก่ โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน เป็นต้น

อะไรเป็นสาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน

ผื่นของโรคเกิดจากมีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อมบางอย่างกระตุ้นให้เกิดอาการและอาการแสดงของโรค สิ่งกระตุ้นที่พบเป็นสาเหตุบ่อยๆ ได้แก่ โรคติดเชื้อ เช่น หวัด การได้รับอันตรายของผิวหนัง เช่น การแกะ เกา ยาบางชนิด ความเครียด ความอ้วน เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค         

โดยทั่วไป ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วยอย่างเดียวก็มักจะเพียงพอในการวินิจฉัยโรค แต่ในบางระยะของโรคสะเก็ดเงิน การวินิจฉัยอาจแยกกับโรคอื่นได้ยาก ในกรณีดังกล่าวการตรวจชิ้นเนื้อของผื่นผิวหนังจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้

ลักษณะทางคลินิก

โรคสะเก็ดเงินจำแนกเป็นชนิดต่างๆ ตามลักษณะทางคลินิกดังต่อไปนี้

ชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด รอยโรคเป็นผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนาสีขาวหรือสีเงินจึงได้ชื่อว่า “โรคสะเก็ดเงิน”  พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณ ข้อศอก และหัวเข่า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเสียดสีได้บ่อย

ชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) รอยโรคเป็นตุ่มแดงเล็กคล้ายหยดน้ำขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีขุย ผู้ป่วยมักมีอายุน้อยกว่า 30 ปี และอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน

ชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis) รอยโรคเป็นตุ่มหนองกระจายบนผิวหนังที่มีการอักเสบแดง ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย

ชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis) เป็นชนิดรุนแรง ผิวหนังมีลักษณะแดงและมีขุยลอกเกือบทั่วพื้นที่ผิวทั้งหมดของร่างกาย อาจเกิดจากการขาดยาหรือมีปัจจัยกระตุ้น

สะเก็ดเงินบริเวณซอกพับ (Inverse psoriasis) เป็นสะเก็ดเงินที่มีรอยโรคบริเวณซอกพับของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม ลักษณะเป็นผื่นแดงเรื้อรังและมักไม่ค่อยมีขุย

สะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis) เป็นผื่นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน ขุยลอก ผื่นอาจพบลามมาบริเวณหลังมือ หลังเท้าได้

เล็บสะเก็ดเงิน (Psoriatic nails) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมักพบมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย ที่พบบ่อยได้แก่ เล็บเป็นหลุม เล็บร่อน เล็บหนาตัวขึ้นและเล็บผิดรูป รอยโรคที่เล็บของสะเก็ดเงินรักษาได้ค่อนข้างยาก

ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจมีการอักเสบของข้อร่วมด้วย ซึ่งพบได้ทั้งข้อใหญ่ ข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียว หรือหลายข้อก็ได้

จุดประสงค์ของการรักษา   

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จะทำให้หายขาดจากโรค การรักษาจึงมุ่งไปที่การทำให้ผื่นของโรคดีขึ้นหรือสงบลง พร้อมกับป้องกันไม่ให้กำเริบ โดยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ การได้รับอันตรายของผิวหนัง ยาบางชนิด และความเครียดต่างๆ เป็นต้น

ขั้นตอนการรักษา        

ในปัจจุบัน มีทั้งยาทาและยารับประทานที่ได้ผลดีในการรักษา ซึ่งแต่ละชนิดมีผลดีและผลเสียที่ต่างกัน การเลือกให้การรักษาจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายประการ เช่น ตำแหน่งของผื่น ความระคายเคืองของยา เศรษฐฐานะของผู้ป่วยเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษา และความสะดวกของผู้ป่วยที่จะมารับการรักษา เป็นต้น

  • สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึง ผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ1%) ควรได้รับการรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดจากยารับประทาน
  • สะเก็ดเงินความรุนแรงมาก หมายถึง ผื่นมากกว่า10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทานหรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกันระหว่างยารับประทานหรือฉายแสงอาทิตย์เทียมและยาทา

การรักษาด้วยยาทา

ในปัจจุบันมียาทาที่ได้ผลดีในการรักษาเป็นจำนวนมากให้เลือกใช้ ซึ่งยาแต่ละชนิดมีผลดีและผลเสียต่างกัน ได้แก่  

ยาทาภายนอก ยาทารักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลายชนิด ได้แก่

  • ยาทาคอติโคสเตียรอยด์ (topical corticosteroids) เป็นยาที่แพทย์ทั่วไปนิยมใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ได้ผลเร็ว สะดวกในการใช้ ราคาไม่แพงนัก และไม่ระคายเคือง ถ้าใช้ในระยะสั้นมักจะไม่เกิดผลเสียที่รุนแรง ยาทาคอติโคสเตียรอยด์มีความแรงของยาตั้งแต่น้อยไปถึงมาก หากใช้ชนิดแรงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลเสียได้หลายประการ เช่น ผิวหนังฝ่อ หลอดเลือดขยายตัว ผิวแตก ผิวขาว รวมถึงอาจเกิดการดื้อยา และอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้ ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวควรจะใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้นไม่ควรซื้อใช้เอง
  • น้ำมันดิน (tar) มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ ประสิทธิภาพดี ให้ผลการรักษาใกล้เคียงกับยาทาคอติโคสเตียรอยด์  แต่น้ำมันดินมีสีน้ำตาล กลิ่นเหม็น และเวลาทาอาจทำให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้าได้  จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยม และน้ำมันดินอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ จึงไม่ควรใช้ทาบริเวณใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ
  • อนุพันธ์วิตามิน ดี (calcipotriol) มีฤทธิ์ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังกลับสู่ปกติ ให้ผลการรักษาดี รวดเร็วพอๆ กับยาทาคอติโคสเตียรอยด์ความแรงระดับกลาง แต่ไม่มีผลเสียเหมือนยาทาคอติโคสเตียรอยด์ และไม่มีสีหรือกลิ่นเหมือนน้ำมันดิน ข้อเสียของยานี้คือราคาแพง และหากทาบริเวณผิวหนังที่บาง อาจมีการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ทาบริเวณใบหน้า ข้อพับ และอวัยวะเพศ ปัจจุบันมียาทาที่ผสมระหว่างอนุพันธ์วิตามิน ดี และยาทาคอติโคสเตียรอยด์เข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียง
  • ยาทากลุ่ม calcineurin inhibitor (tacrolimus, pimecrolimus) อาจนำมาใช้ในการรักษาผื่นสะเก็ดเงินบริเวณหน้าหรือตามซอกพับ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาทาคอติโคสเตียรอยด์ แต่มีราคาแพง

ยารับประทานรักษาโรคสะเก็ดเงิน พิจารณาให้กรณีสะเก็ดเงินรุนแรงปานกลางถึงมาก การใช้ยารับประทานควรจะใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากยา

การฉายแสงอาทิตย์เทียม (Phototherapy)

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการรักษาสะเก็ดเงิน แต่ผู้ป่วยต้องมารับการรักษา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยจะให้ผลดีประมาณ 70 – 80% ขึ้นไป พบผลข้างเคียงน้อย  ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันและแดงบริเวณผิวหนังที่ฉายแสงหลังทำการรักษา ข้อดีคือส่วนใหญ่การกลับเป็นซ้ำของโรคจะน้อยกว่าการรักษาโดยใช้ยาทาหรือยารับประทาน

นอกจากการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญมาก การเข้าใจความจริงที่ว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ ผู้ป่วยจะไม่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยควรดูแลปฏิบัติตนให้ถูกต้องจะช่วยควบคุมโรคให้สงบได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นซึ่งได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนน้อย การดื่มสุรา ความอ้วน การแกะเกา รวมถึงยาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาทางจิตเวช (lithium) เป็นต้น

ขอขอบคุณ:theworldmedicalcenter.com

Leave a Reply