มะเร็งในช่องปาก

กินหมาก กินพลู พฤติกรรมผู้สูงอายุเสี่ยง “มะเร็งในช่องปาก” ได้

Views

ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งปอดเท่านั้นที่น่ากลัว “มะเร็งในช่องปาก” ก็เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมชอบกินหมาก กินพลู แล้วสองสิ่งนี้มีความเกี่ยวโยงกับการเกิดเซลล์มะเร็งได้อย่างไรเรามาไขข้อข้องใจไปพร้อมๆ กัน

ทำความรู้จักกับ “โรคมะเร็งในช่องปาก” “มะเร็งในช่องปาก”
คือ การเกิดเซลล์มะเร็งในบริเวณช่องปาก สามารถเกิดได้ทั้งที่ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก เพดานปาก กระดูกขากรรไกร ลิ้นไก่ และต่อมทอนซิล โดยมักจะพบในกลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 

การกินหมาก กินพลู กับการเกิด “มะเร็งในช่องปาก”
จากผลการศึกษาในสัตว์ทดลองของ International Agency for Research on Cancer พบว่าผลของหมากมีส่วนประกอบที่เรียกว่า สารก่อมะเร็ง ปะปนอยู่ รวมไปถึงปูนที่ใช้ทานกับหมากสามารถกัดเนื้อเยื่อในช่องปาก ก่อให้เกิดการระคายเคือง เป็นแผลเรื้อรังและทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งได้

พฤติกรรมผิดๆ ก็ทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง
นอกจากการเคี้ยวหมาก เคี้ยวพลูแล้ว การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำให้มีโอกาสในการเป็นมะเร็งในช่องปากมากกว่าคนปกติได้ถึง 15 เท่า รวมทั้งการทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเป็นประจำ เนื่องจากความร้อนมีผลต่อการระคายเคืองของเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก ทำให้เกิดแผลเรื้อรังและกลายเป็นเซลล์มะเร็ง สัญญาณเตือนแบบนี้..ควรรีบไปพบแพทย์

  • แผลเรื้อรังรักษาไม่หาย หรือเป็นมานานกว่า 2-3 สัปดาห์
  • มีฝ้าขาวๆ หรือฝ้าแดง บริเวณเยื่อบุในช่องปาก หรือลิ้น
  • มีตุ่ม หรือก้อนในช่องปาก โดยขนาดของก้อนนั้นจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมักไม่มีอาการเจ็บปวด
  • มีก้อนบริเวณลำคอ แต่กดแล้วไม่เจ็บ ซึ่งอาจเกิดจากการลุมลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง
  • บางรายอาจมีอาการฟันโยกหรือฟันหลุด เนื่องมาจากมีก้อนเนื้องอกเกิดขึ้นบริเวณเหงือก เพดานปาก และพื้นปาก

มะเร็งในช่องปาก เป็นแล้ว…รักษาได้ไหม?
มะเร็งในช่องปาก สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด การฉายแสงรังสีหรือเคมีบำบัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมะเร็งในช่องปากก็สามารถลุกลามและทำให้เสียชีวิตได้! โดยพบว่าการรักษามะเร็งระยะที่ 1-2 ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี มากถึง 60-80% แต่หากรอยโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ อัตราการรอดชีวิตจะลดลงอย่างมาก หรือเพียงประมาณ 0-5% เท่านั้น เพราะเซลล์มะเร็งลุกลามเร็วกว่าที่คิด การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ จึงช่วยให้โอกาสรอดของผู้ป่วยสูงขึ้น การหมั่นไปพบ   ทันตแพทย์สม่ำเสมอถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจพบความผิดปกติของโรคในช่องปากและเริ่มต้นการรักษาได้ทันท่วงที

ขอขอบคุณข้อมูล:paolohospital.com