SLE

ผู้หญิงพึงระวัง โรคเอสแอลอี SLE โรคพุ่มพวง

Views

โรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) มีอาการอย่างไร อันตรายแค่ไหน มาทำความรู้จักโรคพุ่มพวง

          หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ โรคพุ่มพวง กันมาบ้างแล้ว แต่ไม่ทราบข้อมูลว่าโรคพุ่มพวง หรือที่เรียกกันว่า โรคเอสแอลอี (SLE) เกิดจากอะไรกันแน่ และมีอาการใดเป็นสัญญาณเตือนโรคพุ่มพวงได้บ้าง วันนี้นิตยสาร Be well โดย อ.มงคลศิลป์ บุญเย็น ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การแพทย์ทางเลือกเพื่อบำบัดมะเร็ง และผู้อำนวยการมูลนิธิการแพทย์ทางเลือกเพื่อมะเร็ง มีข้อมูลมาบอกต่อกัน

          ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี หรือโรคพุ่มพวง แต่ละคนจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายอวัยวะ หรือหลายระบบของร่างกาย บางรายจะเกิดอาการขึ้นพร้อม ๆ กัน หรือแสดงออกเพียงอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หากมีไข้ต่ำ ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุเป็นเวลานาน มีอาการปวดตามข้อ มีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า หรือมีผื่นคันบริเวณที่ถูกแสงแดด ผมร่วงมากผิดปกติ มีอาการบวมตามขา หน้าหรือหนังตา และโดยเฉพาะผู้หญิงที่ประจำเดือนขาด หรือไม่มา เหล่านี้อาจสงสัยได้ว่าจะป่วยเป็นเอสแอลอี

ข้อสังเกตอาการของโรคที่สัมพันธ์กับอวัยวะ

อาการทางผิวหนัง 

          ผู้ป่วยมักมีผื่นแดงขึ้นที่บริเวณใบหน้า บริเวณสันจมูก และโหนกแก้ม 2 ข้าง เป็นรูปคล้ายผีเสื้อ หรือมีผื่นแดงคันบริเวณนอกร่มผ้าที่ถูกแสงแดด หรือมีผื่นขึ้นเป็นวง เป็นแผลเป็นตามใบหน้า หนังศีรษะ หรือบริเวณใบหู มีแผลในปาก โดยเฉพาะบริเวณเพดานปาก นอกจากนี้ยังมีผมร่วงมากขึ้น

อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ 

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ มักเป็นที่ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า บางครั้งมีบวมแดงร้อนร่วมด้วย

อาการทางไต 

          ผู้ป่วยมักมีอาการบวมบริเวณเท้า 2 ข้าง ขา หน้า หนังตา เนื่องจากมีอาการอักเสบที่ไต รายที่มีอาการรุนแรงจะมีความดันเลือดสูงขึ้น ปัสสาวะออกน้อยลง ไปจนถึงขั้นไตวายได้ในระยะเวลาอันสั้น

อาการทางระบบเลือด 

          ผู้ป่วยอาจมีเลือดจาง มีเม็ดเลือดขาวหรือเกล็ดเลือดลดลง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย มีภาวะติดเชื้อง่าย หรือมีจุดเลือดออกตามตัวได้

อาการทางระบบประสาท 

          ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการชัก หรือมีอาการพูดเพ้อเจ้อไม่รู้เรื่อง หรือคล้ายคนโรคจิตจำญาติพี่น้องไม่ได้ เนื่องจากมีการอักเสบของสมอง หรือหลอดเลือดในสมอง

          ปกติแพทย์จะแบ่งความรุนแรงของโรคเอสแอลอี ออกเป็นระดับความรุนแรงน้อย ระดับปานกลาง และมาก ตามระบบของอวัยวะที่เกิดมีอาการ และตามชนิดของอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะนั้น ๆ เช่น อาการทางผิวหนังมีผื่น หรืออาการทางข้อ มีข้ออักเสบ จัดเป็นความรุนแรงน้อยถึงระดับปานกลาง ยกเว้นอาการบางชนิด เช่น เส้นเลือดอักเสบของผิวหนัง ส่วนอาการที่ระบบไต ระบบเลือดและสมอง จัดเป็นอาการขั้นรุนแรง

          อาการของโรคเหล่านี้ มักจะแสดงความรุนแรงมาก หรือน้อยภายในระยะเวลา 1-2 ปีแรกจากที่เริ่มมีอาการ หลังจากนั้นมักจะเบาลงเรื่อย ๆ แต่อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้เป็นครั้งคราว

วิธีการรักษาโรค

          ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง การใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน หรือยาลดการอักเสบก็ควบคุมอาการได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจต้องใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ (ยาเพรดนิโซโลน) หรือยากดภูมิคุ้มกันในขนาดต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับความรุนแรงและระบบอวัยวะที่มีการอักเสบ ยาเหล่านี้เป็นยาอันตราย อาจทำให้ผมร่วงหรือหัวล้านได้ เมื่อหยุดยาผมจะงอกขึ้นมาใหม่

          แต่การใช้ยาเป็นเพียงการระงับอาการชั่วคราว ผู้ป่วยอาจต้องกินยาตลอดชีวิต ผมเคยเจอคนไข้รายหนึ่งก่อนที่จะมารักษากับผม เขากินยาเป็นเวลานานถึง 28 ปี ส่วนอีกรายกินยามา 22 ปีแล้ว แต่พอมารักษาด้วยสมุนไพรก็หายในระยะเวลา 6 เดือน แพทย์บางท่านอาจใช้ยาคีโมในการรักษาเอสแอลอี ซึ่งก็เป็นการรักษาแบบประคับประคอง แต่อาจไม่หายขาด คนไข้ส่วนใหญ่แทบทุกรายที่มาหาผม ล้วนผ่านการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันมาก่อน และมีอาการที่เห็นเด่นชัด ตั้งแต่ผมร่วง ใบหน้ามีรอยช้ำ เป็นรอยเหมือนผีเสื้อ ประจำเดือนขาด มีรอยช้ำจ้ำ ๆ บริเวณแขนขา ซึ่งคนเป็นโรคเอสแอสอีจะเกิดรอยช้ำได้ง่ายที่สุด

รักษาเอสแอลอีแบบแพทย์ทางเลือก

          ผมอยากให้คนไข้หาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า แพทย์แผนอื่นรักษาโรคเอสแอลอีได้หรือไม่ สำหรับคนไข้ที่มาหาผม แทบจะไม่ต้องซักประวัติเพิ่มเติม บางคนขอรักษา 2 ทาง ผมก็จะแนะนำว่า ไปหาหมอแผนปัจจุบันได้ แต่ให้เก็บยาไว้ก่อน จากนั้นจึงกินยาสมุนไพรของผมซึ่งมีตัวหลักคือ เห็ดหลินจือ กับยาปรับธาตุที่ปรับสภาพฮอร์โมนผู้หญิงให้ปกติ หรือถ้าเป็นผู้ชาย ก็จะเป็นยาบำรุงร่างกาย

3 ปัจจัยเสี่ยงพึงระวัง เพื่อเลี่ยงอาการกำเริบ

          นอกจากนี้คนไข้ต้องระวังในการรับประทานอาหาร เช่น อาหารต้องห้ามประเภทข้าวเหนียว ที่มีกลูเตน (โปรตีนที่สกัดจากแป้งสาลี ใช้ทำหมี่กึง ขนมปัง หรือส่วนผสมในพิซซ่า) ซึ่งจะไปเร่งให้อาการกำเริบ

          และอีกประการที่คนไข้ต้องระวัง คือ แสงแดด หรือแม้จะเป็นแสงไฟก็ตาม เพราะจะทำให้เกิดอาการผื่นแดง คัน ตามบริเวณมือ และหน้า ได้ จึงควรใส่เสื้อแขนยาวที่ปกปิดแขน ขา และลำตัวได้มิดชิด ใส่หมวกปีกกว้าง ทายาป้องกันแสงแดด และสวมเสื้อสีอ่อนที่ไม่ดูดซับความร้อน

          อีกประการที่อาจคิดไม่ถึง คือ ความร้อนจากการปรุงอาหารที่มีรังสีอินฟราเรดถูกปล่อยออกมา ถ้าได้รับความร้อนมาก ๆ ก็เป็นการกระตุ้นให้โรคเอสแอลอีกำเริบได้เช่นกัน

          การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยอย่างถูกต้อง เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ และต้องไม่ปฏิบัติตัวที่จะเป็นการกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นมาใหม่ เช่น การโดนแสงแดด ตรากตรำทำงานหนัก และอดนอน ถึงแม้ว่าโรคจะสงบลงแล้วเป็นเวลาหลายปี ก็อาจยังมีโอกาสกำเริบใหม่อีกได้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายและจิตใจอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รักษาสุขอนามัยให้ดี ทำจิตใจให้สดชื่น ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะเป็นเกราะป้องกันโรคร้ายสู่ตัวเรา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสาร Be Well

ที่มา : kapook.com

ขอขอบคุณข้อมูล:ladytips.com

Leave a Reply