โรคปอด

“ปอดติดเชื้อ” โรคยอดฮิตในผู้สูงอายุ ควรป้องกันแต่เนิ่นๆ

Views

“ปอดติดเชื้อ” โรคยอดฮิตในผู้สูงอายุ ควรป้องกันแต่เนิ่นๆ

บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าว หรืออาจมีคนรู้จักล้มป่วยหรือเสียชีวิตจาก ‘โรคปอดติดเชื้อ’ เชื่อว่าหลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า “โรคปอดติดเชื้อ” คืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน และจะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง

โรคปอดอักเสบ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 4 ในผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เนื่อง จากความเปลี่ยนแปลงจากความชรา และระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งการมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจวายเรื้อรัง หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีผลทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ง่ายและหายช้า กลไกการเกิดโรคปอดอักเสบมักเกิดจากโรคติดเชื้อที่สำคัญ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มาก่อน บางรายอาจเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่น ภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิต เยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้สูงอายุ ทำให้เสียชีวิตลงได้

จากการศึกษาในผู้สูงอายุ พบว่าการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนนิวโมคอคคัส มีประสิทธิผลในการลดการเกิดปอดอักเสบและการติดเชื้อรุนแรงได้ ส่วนโรคงูสวัด เป็น 1 ใน 3 โรคติดเชื้อที่สำคัญ อุบัติการณ์ตลอดช่วงชีวิตของการเกิดโรคงูสวัด มีประมาณร้อยละ 20-30 ในประชาชนทั่วไป และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุถึง 85 ปี โรคงูสวัดทำให้มีการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดแสบร้อน และมีผื่นขึ้นตามแนวเส้นประสาท ซึ่งสามารถหายเองใน 2 สัปดาห์ แต่หากเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพร่ กระจายและความรุนแรงของโรคจะมีมากขึ้น ซึ่งอาจปวดได้อีกหลายเดือนถึงเป็นปี วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ลดอุบัติการณ์ของโรคได้ร้อยละ 51.3 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อายุระหว่าง 60-70 ปี

รศ.ดร.นพ.เมธี ชยะกุลคีรี สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกคนสามารถล้มป่วยได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ

สาเหตุของโรคปอดติดเชื้อ เกิดจากเชื้อโรคได้หลายอย่าง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อกลุ่มสเตรปโตคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปอดติดเชื้อ
  2. เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
  3. เชื้อรา โดยทั่วไปคนปกติจะไม่เกิดอาการปอดติดเชื้อจากเชื้อรา ยกเว้นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นคนไข้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ที่ติดเชื้อ HIP เป็นต้น

Advertisement

อาการของโรค จะเป็นอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีอาการดังนี้

  1. หอบเหนื่อย เนื่องจากปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดี
  2. ไอ มีเสมหะ เนื่องจากมีการอักเสบของถุงลม และหลอดลมในปอด
  3. เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่หายใจเข้าลึก ๆ

สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการซึม ช็อก ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเสียชีวิตได้ถ้าได้รับการรักษาไม่ทัน

วิธีการรักษาและการป้องกัน

หลัก ๆ คือ การให้ยาต้านจุลชีพ โดยขึ้นอยู่กับว่าปอดติดเชื้ออะไร จึงเลือกให้ยารักษาตามเหมาะสม ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะมีความเสี่ยงจากการได้รับยารักษาไม่ตรงเชื้อ ทำให้เกิดการดื้อยาและการแพ้ยาได้ สำหรับการดูแลป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรงปอดติดเชื้อสามารถทำได้ ดังนี้

  1. หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และการออกกำลังกาย
  2. หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีคนแออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรค
  3. สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หากต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ
  4. รับวัคซีนป้องกันโรคปอดติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

โรคปอดติดเชื้ออาจฟังเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากไม่หมั่นดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ หลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือละเลยหลักสุขอนามัยก็อาจทำล้มป่วยได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังไว้ให้ดี

ที่มา: ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ขอขอบคุณhttps://goodlifeupdate.com/

Leave a Reply