สุขภาพคุณแม่และหญิงตั้งครรภ์

อาหารคนท้องที่คุณแม่ทุกคนควรรู้ไว้

Views

เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ “โภชนาการที่ดี” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ทุกท่านเลยนะคะ เพราะอาหารคนท้องที่ดีจะทำให้ร่างกายคุณแม่แข็งแรง และยังช่วยบำรุงลูกน้อยในครรภ์ส่งเสริมพัฒนาการให้เติบโตแข็งแรง แต่อาหารคนท้องแบบไหนที่คุณแม่ควรหรือไม่ควรทาน ปัจจุบันนี้มีคำแนะนำต่าง ๆ จากหลายแหล่งข้อมูลจนบางครั้งก็อาจ ทำให้คุณแม่หลายคนสับสนได้ วันนี้เราจึงนำบทความที่เกี่ยวกับอาหารคนท้องมาฝากว่าที่คุณแม่ทุกท่านค่ะ

ทำไมคุณแม่ต้องกังวลเรื่องควรทานอะไร ห้ามทานอะไร ในระหว่างตั้งครรภ์?

อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพนะคะ เราจึงต้องเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ตลอดชีวิต ยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ด้วยแล้วยิ่งต้องพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ หากคุณแม่เป็นคนเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเสมอ และโดยปกติแล้วมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ไม่เจ็บป่วยง่าย อาจจะไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคมากค่ะ แต่ถ้าคุณแม่มักจะทานตามใจตัวเอง ไม่ค่อยใส่ใจการรับประทานอาหารที่ถูกตามหลักโภชนาการมากนัก ควรปรับตัวเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์กับตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในท้องนะคะ เพราะอาหารการกินในระหว่างตั้งครรภ์จะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกาย อาหารที่ดีจะช่วยรักษาระดับพลังงาน กระบวนการเผาผลาญสารอาหาร ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกในครรภ์
อาหารคนท้องที่ควรรับประทานเพื่อบำรุงครรภ์ควรอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่จำเป็น คือ ธาตุเหล็ก โปรตีน แคลเซียม วิตามิน และเกลือแร่ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ เพราะหากคุณแม่บำรุงร่างกายไม่เต็มที่ ไม่ได้รับสารอาหารเพียงพออาจมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารในช่วงตั้งครรภ์ได้ค่ะ นอกจากนี้แล้ว คุณแม่อาจหาเวลายามเช้าก่อนไปทำงาน เพื่อเดินออกกำลังกายเบา ๆ รับวิตามินดีธรรมชาติจากแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าได้เช่นกันค่ะ
นอกจากเรื่องสารอาหารที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์แล้ว เรื่องสุขอนามัยของอาหารก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย Listeria ที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ มักจะพบในอาหารจำพวกชีส ซูชิ สลัด อาหารสำเร็จรูป และเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก รวมไปถึงผักผลไม้สดที่ไม่ได้ล้างซึ่งอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน เสี่ยงอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ลูกในท้อง และทารกแรกคลอดด้วยค่ะ

ถ้าคุณแม่ไม่ใส่ใจเรื่องอาหารบำรุงสุขภาพ จะเกิดอะไรขึ้น?


ทารกในครรภ์รับสารอาหารจากแม่โดยตรงผ่านทางสายสะดือ หากคุณแม่ใส่ใจดูแลการตั้งครรภ์อย่างดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนทุกหมวดหมู่ ระมัดระวังอาหารหรือยาต้องห้ามที่เสี่ยงต่อลูกในท้อง ไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีต่อร่างกายของคุณแม่เอง ลูกน้อยในท้องยังจะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วยค่ะ ถ้าคุณแม่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องโภชนาการ เจ้าตัวน้อยในท้องจะได้รับผลกระทบ พลอยขาดสารอาหารไปด้วย ทำให้เติบโตไม่เต็มที่ มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ อาจเป็นอันตรายได้นะคะ
เมื่อตั้งครรภ์แล้วว่าที่คุณแม่ควรบำรุงให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เพิ่มปริมาณอาหารเท่านั้นนะคะ ควรพิถีพิถันเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยสารอาหารที่ร่างกายต้องการ มีปริมาณเพียงพอสำหรับตัวคุณแม่เองและเผื่อไปถึงลูกในท้องด้วยค่ะ เรามาดูกันว่าสารอาหารอะไรบ้างที่จำเป็นกับคุณแม่ท้องกับเจ้าตัวเล็กบ้าง

ธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ พบมากในเนื้อแดงซึ่งจะมีธาตุเหล็กอยู่ในอนุภาคแบบฮีม (Haem) ช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ค่ะ อาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กนอกจากเนื้อแดงแล้วก็ยังมีไข่ไก่ ตับ ซีเรียลที่มีคุณภาพสูงนะคะ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงเพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้นค่ะ เราแนะนำว่าควรรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวเป็นประจำ เช่น ส้ม ฝรั่ง สตรอเบอรรี่ มะขาม แอปเปิ้ล มะละกอสุก เป็นต้น ส่วนผักผลไม้หมักดองที่มีรสเปรี้ยวคุณแม่ควรเลี่ยงทานนะคะโดยเฉพาะคุณแม่บางท่านที่มีอาการแพ้ท้องอาจชอบทานผลไม้ดองรสเปรี้ยวเป็นประจำ ซึ่งอันที่จริงแล้วผลไม้พวกนี้อาจปนเปื้อนสารพิษบางอย่างทำให้เป็นอันตรายกับคุณแม่และคุณลูกในท้องได้ค่ะ
หากคุณแม่รับประทานอาหารมังสวิรัติมาโดยตลอด ต้องรับประทานธาตุเหล็กและโปรตีนให้เพียงพอนะคะ ธาตุเหล็กจากพืชเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของทั้งแม่และลูกค่ะ อาจต้องมีอาหารเสริมด้วย เราแนะนำว่าควรปรึกษานักโภชนาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อขอคำแนะนำเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น ทานวิตามินเสริมที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็กเข้าไปด้วย แต่วิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงนะคะ ปัญหาที่พบบ่อยคือท้องผูก คุณแม่ควรเพิ่มปริมาณอาหารที่มีเส้นใยสูงและดื่มน้ำมากขึ้น ถ้ามีปัญหาท้องผูก คุณแม่ลองเปลี่ยนเวลาทาน ตอนเช้า ตอนเย็น หรือก่อนนอน เพื่อดูว่าทานเวลาไหนเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดค่ะ

โปรตีน

คุณแม่ควรบำรุงทั้งโปรตีนและธาตุเหล็กซึ่งพบในกลุ่มอาหารประเภทเดียวกันนะคะ จะพบมากในแหล่งอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา เนื้อวัว ไข่ไก่ พืชตระกูลถั่ว นม และผลิตภัณฑ์จากนม ธัญพืช และข้าวกล้อง ล้วนเป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่คุณแม่ท้องทุกคนต้องรับประทานให้เพียงพอเพื่อดูแลทั้งตัวเองและเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในครรภ์อีกด้วยค่ะ ทั้งนี้อาหารกลุ่มโปรตีนราคาค่อนข้างสูง ไม่จำเป็นต้องรับประทานมาก แต่ระหว่างอุ้มท้องอย่างน้อยก็ควรเลือกโปรตีนประเภทไขมันน้อยวันละ 2-3 มื้อเพื่อให้ได้สารอาหารเพียงพอสำหรับคุณแม่และคุณลูกค่ะ
สิ่งที่ดีของอาหารจำพวกโปรตีน นั่นคือทานแล้วอยู่ท้อง ช่วยลดความอยากอาหารบ่อย ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ดีเลยค่ะ เพราะกระบวนการย่อยโปรตีนใช้เวลานานกว่าสารอาหารชนิดอื่น รู้สึกอิ่มได้นาน ดังนั้นควรจะมีโปรตีนในมื้ออาหารหลักทุกวัน เพราะระหว่างอุ้มท้องร่างกายต้องทำงานหนัก คุณแม่ต้องการโปรตีนที่เพียงพอช่วยบำรุงให้ร่างกายแข็งแรงและทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สารอาหารโปรตีนช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเจ้าตัวเล็ก จึงเป็นกลุ่มสารอาหารที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว

แคลเซียม

แคลเซียมก็เป็นสารอาหารจำเป็นสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ช่วยเสริมสุขภาพคุณแม่และเสริมสร้างกระดูกเด็กในครรภ์ให้แข็งแรง จำเป็นที่จะต้องได้รับอย่างเพียงพอตั้งแต่ขณะท้องจนถึงช่วงให้นมลูก แคลเซียมพบในอาหารจำพวกนมวัว นมถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำจากนม อัลมอนด์ ผักใบเขียว รวมถึงปลาเล็กปลาน้อยแบบรับประทานได้หมดทั้งก้าง เป็นแหล่งอาหารแคลเซียมที่คุณแม่ควรรับประทานเป็นประจำ

แคลเซียม คือ แร่ธาตุสำคัญที่ต้องได้รับอย่างเพียงพอนะคะ เพราะลูกน้อยในท้องจะดึงแคลเซียมจากกระดูกของคุณแม่ไปใช้สร้างกระดูกและฟัน ระหว่างตั้งครรภ์จึงต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเป็นประจำเพื่อให้กระดูกของคุณแม่ยังคงแข็งแรงและทารกเติบโตตามเกณฑ์ ซึ่งคุณแม่สามารถเริ่มสังเกตุร่างกายของตนเองได้เมื่อร่างกายเริ่มขาดแคลเซียมนั่นก็คือ การเกิดตะคริว ที่จะเริ่มแวะเวียนมาเจอได้อยู่บ่อย ๆ ดังนั้นเพื่อเลี่ยงอาการดังกล่าวคุณแม่ควรทานแคลเซียมให้เพียงพอนะคะ

ในด้านความเชื่อของคนสมัยก่อนที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆนั่นก็คือ ท้องลูกหนึ่งคนคุณแม่จะเสียฟันไปหนึ่งซี่ ซึ่งในทางการแพทย์แล้วเรื่องนี้ไม่เป็นความจริงนะคะ ความเชื่อนี้อาจเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก เพราะคุณแม่ฟันผุง่ายในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ แต่ถ้าได้รับแคลเซียมเพียงพอทั้งขณะอุ้มท้องและให้นมลูกน้อย จะช่วยรักษาความหนาแน่นของมวลกระดูกเอาไว้ คุณแม่ควรดูแลสุขภาพภายในช่องปากควบคู่กันไปด้วยนะคะ ไม่มีอะไรน่ากังวลเลยค่ะ

วิตามินและเกลือแร่อื่นๆ

วิตามินเอ, บี 1, บี 2, บี 6, บี 12 และวิตามินซี เป็นสารอาหารจำเป็นเมื่อตั้งครรภ์ หากคุณแม่วางแผนมีลูกต้องได้รับในปริมาณสูงตั้งแต่ก่อนและระหว่างตั้งครรภ์เลยค่ะ อาหารที่อุดมด้วยวิตามินเหล่านี้คือผักและผลไม้สีเหลืองหรือสีส้ม ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว ซีเรียล ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมนะคะ พร้อมกับดื่มนมสูตรไขมันต่ำในตอนเช้า เพียงเท่านี้คุณแม่ก็ได้รับวิตามินแร่ธาตุมากถึง 1 ใน 3 ที่ร่างกายต้องการต่อวันแล้วค่ะ

วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นอย่างเช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี และแมกนีเซียม ล้วนอยู่ในผักและผลไม้ โดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี ถั่วฝัก ผักสลัด พริก เป็นแหล่งอาหารที่ให้วิตามินสูง ซึ่งวิตามินและเกลือแร่หลายชนิดเป็นสารอาหารที่ร่างกายไม่เก็บสะสม คุณแม่จึงควรรับประทานอย่างสม่ำเสมอทุกวัน รวมถึงอาหารที่สดใหม่ ผักผลไม้หลากสีสันคละกันไป จึงจะได้รับวิตามินเกลือแร่ครบถ้วน ทั้งผักและผลไม้เป็นอาหารที่ให้ไฟเบอร์สูง จำเป็นต้องเคี้ยวนานจึงช่วยลดความอยากอาหารบ่อย ๆ ในช่วงตั้งครรภ์ได้ด้วยค่ะ แต่หากเคี้ยวแล้วรู้สึกเจ็บฟันปวดเหงือก คุณแม่ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพภายในช่องปากด้วยนะคะ

วิตามินดีเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยดูดซึมแคลเซียมจากอาหาร คุณแม่สามารถเลือกรับวิตามินดีจากธรรมชาติ หรือแสงแดดในตอนเช้านั่นเอง ทั้งนี้ควรเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสมและปลอดภัยคือ ให้แสงแดดสัมผัสแขนขาก่อนเวลา 10.00 น. และหลังเวลา 15.00 น. ไปแล้ว และอย่าลืมทาครีมกันแดดที่มีค่าการกรองรังสีอัลตราไวโอเลตสูงด้วย เพราะในระหว่างการตั้งครรภ์ การทำงานของเม็ดสีผิวจะไวเป็นพิเศษ ขณะที่คุณแม่ตั้งท้องผิวจะหมองคล้ำง่ายค่ะ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษและใช้ครีมกันแดดเป็นประจำ

เส้นใยอาหาร

เส้นใยอาหารจะไม่ถูกดูดซึมในลำไส้ การรับประทานอาหารที่มีกากใยมากทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน ช่วยในการขับถ่าย บรรเทาอาการท้องผูก ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากริดสีดวงทวารและอื่น ๆ ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ได้แก่ ผักและผลไม้สด ขนมปังที่ทำมาจากธัญพืชไม่ขัดสี ซีเรียลและพืชตระกูลถั่ว ที่สำคัญอย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันด้วยนะคะ แต่อาหารที่มีเส้นใยมากอย่างขนมปังต้องใช้น้ำช่วยขับอาหารให้เคลื่อนไปตามลำไส้ คุณแม่ควรดื่มน้ำตลอดทั้งวันเพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี หากปัสสาวะของคุณแม่มีสีเหลืองเข้มหรือสีส้มตั้งแต่กลางดึกเป็นต้นไป เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณแม่ควรดื่มน้ำมากขึ้นค่ะ

แหล่งเส้นใยอาหารอีกประเภทอย่างข้าวโอ๊ตและรำข้าว จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย ดีต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ส่งผลให้ขับถ่ายดีขึ้น เส้นใยอาหารจะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพดีและลูกน้อยในครรภ์ก็พลอยมีสุขภาพดีตามไปด้วย มองข้ามไม่ได้เลยนะคะ

โฟเลต

โฟเลตเป็นสารอาหารที่พบในผักใบเขียว ตับ สัตว์ปีก และพืชตระกูลถั่ว แม่ท้องควรได้รับโฟเลตในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน โดยปกติโฟเลตช่วยป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ ถ้าถ้าคุณแม่ทานอาหารที่มีโฟเลตไม่เพียงพอจะเสี่ยงทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด โรคปากแหว่งเพดานโหว่หรือเสียชีวิตได้เลยนะคะ เราแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารเสริมโฟเลตหรือกรดโฟลิกร่วมด้วยก่อนตั้งครรภ์ 1-3 เดือน และทานต่อเนื่องตลอด 3-6 เดือนแรกระหว่างตั้งครรภ์ หากทานอาหารที่มีโฟเลตเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม เพราะหากได้รับในปริมาณที่สูงเกินไปก็ไม่ดีค่ะ

กรดโฟลิกเป็นรูปแบบของโฟเลตที่สังเคราะห์ขึ้น คุณผู้หญิงที่วางแผนมีลูกหรือกำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมที่มีกรดโฟลิกอย่างน้อย 400 ไมโครกรัม เป็นรูปของยาเม็ดรับประทานง่าย สามารถซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป โดยจะรับประทานเฉพาะกรดโฟลิกหรือผสมอยู่ในรูปแบบของวิตามินแร่ธาตุและธาตุเหล็กก็ได้ค่ะ

คาร์โบไฮเดรต

คุณแม่ต้องการสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายมากกว่าปกตินะคะ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนคืออาหารจำพวกแป้งและเส้นใยอาหารที่มีสารอาหารอื่น ๆ ประกอบอยู่ด้วย มักจะพบในขนมปังไม่ขัดสี ซีเรียล ข้าว ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว มันฝรั่ง ข้าวโอ๊ต และข้าวโพด ล้วนให้พลังงานแก่ตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ สารอาหารจำพวกนี้มีกากใยมาก ช่วยให้คุณแม่ขับถ่ายได้ดี มีการดูดซึมสารอาหารได้ดี ทานได้มากแต่จะไม่ส่งผลต่อน้ำหนักมากนักค่ะ
อาหารที่มีรสชาติหวานจำพวกน้ำตาลให้คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพค่ะ เพราะน้ำตาลดังกล่าวย่อยง่ายเกินไปและดูดซึมโดยผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนตับอ่อนต้องสร้างอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงผิดปกติ ร่างกายของคุณแม่จะดึงน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลลดมาเป็นปกติและระดับอินซูลินในเลือดคงที่ เพื่อลดความเสี่ยงที่คุณแม่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ค่ะ

ไอโอดีน

สารไอโอดีน จะเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่ต้องการในปริมาณสูงนัก แต่หากขาดไอโอดีน จะมีผลอย่างแน่นอนกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพราะ ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของลูกน้อยในครรภ์นะคะ คุณแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งท้องไม่ควรละเลยอาหารที่มีสารไอโอดีนนะคะ แม้ว่าร่างกายไม่ต้องการมากนัก แต่ถ้าได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอจะส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติได้ค่ะ ซึ่งคุณผู้หญิงที่วางแผนมีลูก หรือกำลังตั้งครรภ์ รวมถึงคุณแม่ที่กำลังให้นมลูก ควรทานอาหารเสริมไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัม ถึงจะเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายค่ะ

เครื่องดื่ม

น้ำเปล่าดีต่อสุขภาพของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ น้ำสะอาดไม่มีแคลอรี่ ดื่มแก้กระหายปริมาณมากเท่าไรก็ได้ ปัญหาคือคุณผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า เพราะไม่มีรสชาติอะไรเลย แต่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์พยายามดื่มน้ำมาก ๆ นะคะ ลองบีบน้ำมะนาวลงไป หรือผสมน้ำมะนาวใส่น้ำแข็งบดละเอียดเย็นชื่นใจช่วยให้ดื่มน้ำได้บ่อยและมากขึ้น
ทั้งนี้คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท แอลกอฮอล์ที่ดื่มจะส่งผ่านทางรกไปยังลูกน้อยในครรภ์โดยตรง มีผลต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท เจ้าตัวน้อยอาจเกิดความผิดปกติและมีพัฒนาการล่าช้าได้นะคะ ส่วนคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และติดกาแฟมาก ควรต้องเข้าใจว่าหากได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการแท้งลูกนะคะ ควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากาแฟวันละ 1 แก้วค่ะ ช็อกโกแลต โคล่า และเครื่องดื่มให้พลังงานล้วนมีคาเฟอีนผสมอยู่ ต้องระวังเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีคาเฟอีนด้วยค่ะ

ขนมหวาน

คุณแม่บางท่านที่มีความสุขและอิ่มเอมไปกับขนมหวาน ถึงแม้ในช่วงตั้งครรภ์จะมีข้อจำกัดแต่ให้งดไปเลยดูจะเป็นเรื่องยาก นาน ๆ ครั้งจะรับประทานเค้ก 1 ชิ้น ขนมปังบิสกิต หรือไอศกรีมได้บ้าง ไม่เผลอตามใจปากมากเกินไป รับประทานพอประมาณให้มีความสุขและไม่เสี่ยงอันตรายกับลูกน้อยด้วยค่ะ ขนมหวานแบบโฮมเมดทำรับประทานเองจะควบคุมรสชาติและสูตรให้เหมาะสมกับสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยได้ค่ะ
ทั้งนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ยังคงทานของหวานได้นะคะ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลกับลูกน้อยตั้งครรภ์ เพียงแต่พิถีพิถันว่าควรเลือกทานขนมหวานแบบไหน และทานแบบที่ไม่ทำร้ายร่างกาย คือรับประทานช้า ๆ เพื่อซึมซับรสชาติและกลิ่นหอมหวานแสนอร่อยให้นานขึ้น เพราะการทานเร็วเกินไปจะทำให้รู้สึกอิ่มไม่นาน หิวบ่อย และเผลอทานจนอ้วนขึ้นได้ค่ะ
คุณแม่สามารถอ่านข้อมูลในหัวข้ออื่น ๆ เพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Huggies หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถพูดคุยกับเราได้ที่ Facebook Huggies Thailand และอย่าลืม! กด สมัครสมาชิก เพื่อรับสินค้าทดลอง พร้อมรอรับข่าวสารและอัพเดตเทคนิคดี ๆ จากเรานะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:huggies.co.th

Leave a Reply