SLE

8 สัญญาณอันตราย “โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง SLE ลูปัส หรือโรคพุ่มพวง”

Views

โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง SLE ลูปัส หรือโรคพุ่มพวง ไม่ใช่โรคใหม่ หรือเพิ่งมาฮิตมาบูมกันตอนนี้ เป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย รวมถึงต่างประเทศด้วย ที่น่าแปลกคือคนดังหลายคนป่วยเป็นโรคนี้ ทั้งนักร้องพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่ทำให้คนไทยรู้จักกับโรคนี้ หรือจะเป็นสาวเซเลน่า โกเมซ ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นชาวอเมริกันที่ต้องพักงานไปนานเพื่อรักษาตัว (อ่านต่อ >> โดนัท มนัสนันท์ ป่วยโรคพุ่มพวง รักษาตัวนานกว่า 6 เดือนแล้ว) และอาจไม่รู้ตัวเพราะสัญญาณ และอาการขึ้นมันเล็กน้อยจนทำให้เราไม่วิตกกังวล แต่อันที่จริงสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้นี่แหละที่นำไปสู่โรคที่อันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่รีบเข้ารับการรักษา

โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง เป็นอย่างไร?

โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง SLE ลูปัส หรือโรคพุ่มพวง เป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันต้านทานผิดปกติ โดยเข้าไปต่อต้านเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เป็นผลทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในบริเวณนั้น

ใครที่เสี่ยงเป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง?

แม้ว่าโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง เอสแอลอี หรือลูปัส จะไมได้พบกันบ่อยๆ แต่ก็พบได้เรื่อยๆ พบได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แม้ว่าจะหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติอยู่หลายประการ

– พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

– ความผิดปกติจากพันธุกรรม (ชนิดที่ถ่ายทอดได้)

– ติดเชื้อจากแบคทีเรีย หรือไวรัสบางชนิด

– มีอาการแพ้กับสิ่งต่างๆ

– สูบบุหรี่

– ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาป้องกันการชัก ยาคุมกำเนิด ยาลดน้ำหนักบางชนิด

– เครียด ทำงานหนัก ออกกำลังกายมากเกินไป

 โรคแพ้ภูมิตัวเองiStock

อาการของโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง

สัญญาณอันตรายที่เป็นอาการเริ่มต้นของโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง มีหลากหลายอาการขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดความผิดปกติจนมีอาการอักเสบในระยะแรก ไปจนถึงระยะเรื้อรังที่อาจเริ่มเกี่ยวพันกับอวัยวะส่วนอื่นๆ

  1. อาการผิดปกติทั่วไปที่หาสาเหตุไม่ได้ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผอมลง
  2. อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นแดง มักขึ้นบริเวณใบหน้า ช่วงตรงกลาง และโหนกแก้มทั้งสองข้าง รูปร่างคล้ายผีเสื้อ และอาจมีอาการผมร่วงด้วย
  3. อาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อาจไม่มีอาการบวมแดง แต่ปวดได้ทุกส่วนที่มีข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อมือ ข้อนิ้ว
  4. อาการทางปอด เช่น เจ็บหน้าอก ไอ ปอด เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มีน้ำในปอด เหนื่อยง่าย เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ไปจนถึงหัวใจเต้นผิดปกติ
  5. อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร
  6. อาการทางไต ความดันโลหิตสูง เช่น ขาบวม จากการบวมน้ำ
  7. อาการทางระบบโลหิต เช่น โลหิตจาง ภาวะซีด ความดันโลหิตต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ หลอดเลือดอักเสบ อาจจะพบเป็นจุดแดงๆ เล็กๆ ทั่วตัวคล้ายไข้เลือดออก
  8. อาการทางระบบประสาท เช่น มีอาการชักโดยไม่ทราบสาเหตุ แขนขาอ่อนแรง ไม่มีสมาธิ เครียด นอนไม่หลับ ซึมเศร้า วิตกกังวล มีปัญหาในการจำ สับสน เห็นภาพหลอน โดยอาจเป็นผลข้างเคียงมาจากอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบอีกทีได้

การรักษาโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง

แพทย์จะพยายามควบคุมโรคให้สงบด้วยการให้ทานยา ทำการรักษาตามอาการที่พบ และติดตามอาการไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการจะสงบ หากเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะยิ่งทำให้แพทย์ทำการรักษา และควบคุมอาการได้ดีขึ้น จนไม่มีอะไรต้องน่ากลัว หรือถึงขั้นเสี่ยงเสียชีวิต

วิธีป้องกันโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง

เป็นที่น่าเสียดายที่โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเองไม่มีวิธีป้องกันได้ 100% แต่ก็มีวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้ด้วยการดูแลรักษาร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป รักษาสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาด ลดโอกาสในการติดเชื้อ และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนทานยาอะไรเป็นประจำ

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคนี้ก็ควรปฏิบัติตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และพบแพทย์ตามเวลาที่นัดหมายทุกครั้ง เพื่อให้การติดตามอาการ การควบคุมอาการของโรคเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ขอขอบคุณhttps://www.sanook.com

ข้อมูล :หาหมอ,Siam Health

ภาพ :iStock

Leave a Reply