โรคไข้เลือดออก

รู้ทัน! อาการเตือนโรคไข้เลือดออก..ลดโอกาสเสียชีวิตได้

Views

ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดจะมีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีตัวยาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ ทำให้เราสามารถป้องกันตัวเองจากภัยเงียบที่น่ากลัวนี้ได้…ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

เชื้อไวรัสเดงกี่..แพร่จากยุงลายมาสู่คนได้อย่างไร?

กระบวนการแพร่เชื้อไวรัสของโรคนี้นั้น เกิดจากยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดของผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อน หลังจากนั้น เมื่อยุงลายตัวเดิมกัดคนที่อยู่ในระยะทางไม่เกิน 400 เมตร เชื้อดังกล่าวก็จะแพร่เข้าสู่คนที่สองนั้นทันที ซึ่งยุงชนิดนี้สามารถกัดคนได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มักพบได้ในบริเวณที่มีการเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ แจกัน จานรองตู้กับข้าว กระป๋อง ฝากะลา ยางรถยนต์เก่าๆ หลุมที่มีน้ำขัง เป็นต้น

อาการเตือนว่าคุณกำลังติดเชื้อไวรัสเดงกี่

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5 – 8 วัน จะทำให้มีอาการไข้สูงลอย (38.0-40 องศาเซลเซียส) ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเบ้าตา ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร เริ่มมีจุดแดงเล็กๆ ตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ อาจมีเลือดกำเดาไหล และเลือดออกตามไรฟัน (อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ และไม่มีน้ำมูก)

โรคไข้เลือดออก…สามารถป้องกันได้

วิธีการป้องกันตัวเองและคนรอบข้างที่ดี คือ ไม่ให้โดนยุงกัด นอนในมุ้งหรืออยู่ในห้องที่สามารถป้องกันยุงลายได้ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน รวมถึงการขจัดลูกน้ำและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก อีกทางเลือกที่ดีกว่า

เพราะในบางครั้ง เราอาจอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก..จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันการรับเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ดีกว่า และวัคซีนนี้ยังสามารถป้องกันไวรัสเดงกี่ได้ถึง 4 สายพันธุ์  ได้แก่  เด็งกี่-1, เด็งกี่-2, เด็งกี่-3 และ เด็งกี่-4 แต่ก็อย่าลืมว่า..วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ 100 % การดูแลตนเองและคนรอบข้างก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 9- 45 ปี ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน

การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก

ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ คือ

  • เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก
  • ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล “ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน” เพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย
  • ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มทีละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ
  • ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย
  • เมื่อสงสัยว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอย เกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จะช่วยให้ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้

ขอขอบคุณ:phyathai.com

Leave a Reply