อาหาร กับ สุขภาพ

กะหล่ำปลี ไม่ได้มีดีแค่ผัดน้ำปลา แต่ กะหล่ำปลีป้องกันมะเร็ง ได้

Views

กะหล่ำปลี คือผักที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลายเมนู โดยเฉพาะเมนูเด็ดอย่าง กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา ซึ่งอาจเป็นเมนูโปรดของใครหลายๆ คน แต่ใครจะไปรู้ว่ากะหล่ำปลี ไม่ได้มีดีแค่นั้น แต่กะหล่ำปลีหัวโต น่ากิน นี้ยังมีสารที่ช่วยในการยับยั้งการเกิดมะเร็งได้ด้วย วันนี้ Hello คุณหมอ มีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ กะหล่ำปลีป้องกันมะเร็ง มาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ

คุณค่าทางสารอาหารที่มีในกะหล่ำปลี

กะหล่ำปลี เป็นพืชตระกูลกะหล่ำ แต่นอกจากกะหล่ำปลีแล้ว ยังมีพืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บร็อคโคลี่ ผักบ็อกฉ่อย และกะหล่ำดอก ซึ่งเป็นผักที่มีปริมาณสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากมาย ที่ไม่ควรมองข้าม อย่างวิตามิน เกลือแร่ นอกจากสารอาหารที่มากมายในกะหล่ำปลีแล้ว กะหล่ำปลียังเป็นพืชที่ให้ปริมาณแคลอรี่ที่ต่ำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงลดน้ำหนักอีกด้วย

จากการศึกษากะหล่ำปลีจำนวน  1 ถ้วย หรือประมาณ 89 กรัม ให้ปริมาณแคลอรี่เพียง 22 กิโลแคลอรี่ และยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย เช่น ไฟเบอร์  วิตามินเค วิตามินซี โฟเลต แมงกานีส วิตามินบี6 แคลเซียม โพแทสเซียม และ แมกนีเซียม นอกจากสารอาหารต่างๆ เหล่านี้กะหล่ำปลียังมีสารอาหารอื่นๆ อีกจำนวนเล็กน้อย ซึ่งรวมถึงวิตามินเอ ธาตุเหล็กและไรโบฟลาวิน

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะทำให้เห็นว่าในกะหล่ำปลีนั้นมีสารอาหารที่ดีต่อร่างกายอย่างมากโดยเฉพาะวิตามินบี 6 และโฟเลต ที่เป็นสารอาหารที่มีส่วนสำคัญช่วยปรับปรุงการทำงานภายในของร่างกายโดยเฉพาะการเผาผลาญพลังงาน และการทำงานของระบบประสาท นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระในกะหล่ำปลี ยังช่วยปกป้องร่างกาย จากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระเมื่อร่างกายมีปริมาณสารอนุมูลอิสระสูงเกินไป สารเหล่านี้ก็จะเข้าไปทำลายเซลล์ในร่างกาย

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้นกะหล่ำปลียังเป็นพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพที่สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ การสูญเสียการมองเห็น และ โรคมะเร็งได้อย่างดีอีกด้วย

นอกจากกะหล่ำปลีแล้ว ยังมีพืชตระกูลกะหล่ำอีกมากมาย

กะหล่ำปลี เป็นพืชที่จัดว่าเป็นพืชตระกูลกะหล่ำ ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย เมื่อนึกถึงกะหล่ำปลีคนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึง ภูทับเบิก เพราะเป็นพื้นที่ ที่มีการปลูกกะหล่ำปลีกันเป็นอย่างมาก นอกจากกะหล่ำปลีแล้ว ยังมีพืชตระกูลกะหล่ำอื่นๆ อีกมากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น คะน้า กวางตุ้งดอก กวางตุ้งเขียว กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ชุนฉ่าย กะหล่ำดอก ผักบ็อกฉ่อย บร็อคโคลี่ และเขียวปลี

กะหล่ำปลีป้องกันมะเร็ง ได้จริงหรือ

พืชตระกูลกะหล่ำ รวมถึงกะหล่ำปลี เป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่นอกเหนือจากที่กล่าวมากะหล่ำปลียังมีสารที่เรียกว่า สารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ซึ่งจากงานวิจัยชี้ว่าสารชนิดนี้ เป็นสารประกอบที่สามารถต่อสู้กับมะเร็งได้

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามีงานวิจัย แสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่า การบริโภคพืชตระกูลกะหล่ำนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นงานที่ช่วยยืนยันว่า สารประกอบซัลโฟราเฟน ที่ทำให้พืชตระกูลกะหล่ำมีรสขม มีส่วนช่วยในการต่อสู้กับโรคมะเร็งอีกเช่นกัน

ขณะที่นักวิจัยได้ทำการวิจัย และทดสอบความสามารถของสารประกอบซัลโฟราเฟน ในการชะลอหรือยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง พบว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีความน่าพึงพอใจ โดยสารซัลโฟราเฟนมีความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ Histone Deacetylase (HDAC) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ส่วนช่วยให้เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโต

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในสัตว์ทดลอง โดยให้หนูรับสารอินโดล-3-คาร์บินอล (Indole-3 Carbinol) ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในพืชตระกูลกะหล่ำ พบว่าสารเคมี สารอินโดล-3-คาร์บินอล ช่วยป้องกันไม่ให้หนูเหล่านั้นเกิดอาการลำไส้อักเสบและมะเร็งลำไส้ ที่สำคัญการรับประทานพืชตระกูลกะหล่ำเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร  และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง

แม้ว่ากะหล่ำปลีจะมีวิตามิน และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเป็นจำนวนมาก แต่กะหล่ำปลีก็ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกๆ คน สำหรับผู้ที่มีประวัติหรืออาการแพ้ผักที่มาจากพืชตระกูลกะหล่ำ อย่างเช่น บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เมื่อมีการรับประทานกะหล่ำปลีได้เช่นกัน นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจจะต้องระวังเรื่องการรับประทานกะหล่ำปลี เพราะกะหล่ำปลี ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia)

สำหรับผู้ที่มีปัญหาในด้านการทำงานของต่อมไทรอยด์ ในกลุ่มไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism) ซึ่งเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ การรับประทานกะหล่ำปลีดิบ อาจทำให้ได้รับสาร กอยโตรเจน (Goitrogen) ซึ่งเป็นสารที่ขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้ต่ำขึ้น แต่เมื่อกะหล่ำปลีผ่านความร้อน สารกอยโตรเจนที่มีในกะหล่ำปลีก็จะหายไป

ขอขอบคุณ:hellokhunmor.com

Leave a Reply