โรคปอด

เตือนภัย! 11 อาชีพ เสี่ยง “โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง”

Views

11 อาชีพเสี่ยงเกิด “โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” แบบไม่รู้ตัว หากทำงานเป็นเวลานานๆ แนะออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ สวมอุปกรณ์ป้องกันขณะทำงาน หากมีเสมหะ เหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจเสียงวี้ด และไอ ให้รีบพบแพทย์ด่วน

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีลักษณะเฉพาะคือความบกพร่องอย่างเรื้อรังในการไหลผ่านของอากาศของระบบทางเดินหายใจ และมักจะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป อาการที่พบบ่อยได้แก่ เหนื่อย ไอ และ มีเสมหะ เหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจเสียงวี๊ด และไอ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน และโดยมากจะแย่ลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเรื้อรังส่วนใหญ่จะมีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังปนอยู่ด้วย

สาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การสูบบุหรี่ มลพิษในอากาศ การสูดควันบุหรี่มือสอง พันธุกรรม การติดเชื้อของทางเดินหายใจ และทำงานสัมผัสกับความเสี่ยงที่มีในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศที่พบบ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนาอีกอย่างหนึ่งได้แก่ อากาศเสียจากการทำอาหารหรือควันไฟ การสัมผัสสิ่งระคายเคืองเหล่านี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบขึ้นในเนื้อปอด ทำให้หลอดลมฝอยตีบลงและการแตกตัวของเนื้อเยื่อปอด เรียกว่า ถุงลมโป่งพอง การวินิจฉัยนั้นใช้พื้นฐานของความสามารถในการไหลผ่านของอากาศด้วยการตรวจวัดโดย การทดสอบการทำงานของปอด โดยมีความแตกต่างจากโรคหอบหืด คือ การลดลงของปริมาณอากาศที่ไหลผ่านด้วยการให้ยานั้นไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ บุคคลที่ทำงานในเหมืองถ่านหิน โรงงานทอฝ้าย โรงงานทำเซรามิก โรงสีข้าว โรงโม่แป้ง โรงหลอมโลหะ โรงเลื่อยไม้ งานที่เกี่ยวกับสีย้อมต่างๆ ช่างก่อสร้างหรือผสมปูนซีเมนต์ ชาวนา รวมไปถึงพนักงานดับเพลิง ล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว ดังนั้น ประชาชนที่มีอาชีพดังกล่าวข้างต้น ควรดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่ที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น พร้อมสวมอุปกรณ์ป้องกันก่อนการปฏิบัติงาน และถ้ามีอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

 

นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า แนวทางการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประกอบด้วย การหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และการรักษาประคับประคองตามอาการ โดยการให้ยาขยายหลอดลม การให้ยาลดการอักเสบ/ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ การทำกายภาพบำบัด โดยเลือกวิธีออกกำลังกายให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้ออกแรงใช้งานได้มากขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย การฝึกวิธีหายใจออก เพื่อไม่ให้อากาศคั่งค้างอยู่ในปอดมากเกินไป พร้อมกับการดูแลด้านโภชนาการ ให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานจากอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน ไม่ให้น้ำหนักลด/ผอมลงเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ยิ่งเหนื่อย ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมื่อพบมีอาการเหนื่อย การไอเรื้อรัง มีเสมหะ และมีประวัติของการได้รับสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงของโรค ควรตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อยืนยันการวินิจฉัย หยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และจะได้รักษาอาการต่อไป แต่เหนือสิ่งสำคัญใดๆ ทั้งหมดนั้นคือ การป้องกันตนเองก่อนเริ่มต้นปฏิบัติงาน

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสามารถป้องกันได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงของสาเหตุของโรคที่ทราบ ซึ่งรวมถึงการลดปริมาณการสูบบุหรี่และการปรับปรุงคุณภาพของอากาศทั้งภายในและภายนอก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากต้องทำงานในที่มีความเสี่ยง มีอากาศที่ไม่ปลอดภัยควรมีเครื่องป้องกันที่เหมาะสม