สุขภาพกาย

วัยทำงานเสี่ยง หมอนรองกระดูกเสื่อม

Backache
Views

คนวัยทำงานเสี่ยง “หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม” เหตุนั่งทำงานยาว ไม่เปลี่ยนท่าทาง ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยง ทำกระดูกสันหลังทรุด ส่งผลหลังคด บางรายอันตรายถึงขั้นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เผยปวดหลังร้าวลงขาอาการเด่นชัด รีบพบแพทย์ทันที

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หมอนรองกระดูกสันหลังทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักตัว ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งเสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน รวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆ ก็มีผลต่อการสึกหรอ เช่น ทำกิจกรรมซ้ำๆ เป็นเวลานาน โดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ การยกของหนัก รวมไปถึงการสูบบุหรี่ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูน้อยลง เป็นต้น ทั้งนี้ การเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังทำให้เกิดการทรุดตัวของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ร่างกายจะตอบสนองโดยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นมา เพื่อต้านการทรุดตัว ส่วนใหญ่กระดูกงอกจะไม่มีอาการ แต่บางรายเกิดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามเส้นประสาท ปวดขา ชาขา นอกจากนี้ หากกระดูกสันหลังมีการทรุดตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด หรือบางรายกระดูกสันหลังเคลื่อน

“อาการที่พบบ่อยคือ ปวดหลังเป็นๆ หายๆ เป็นเวลานาน มีอาการปวดขาตั้งแต่บริเวณสะโพกร้าวไปบริเวณน่อง เท้า ซึ่งจะปวดมากเวลาเดิน ทำให้เดินได้ไม่ไกล ต้องหยุดเดินเป็นระยะๆ อาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง เป็นอาการเด่นของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ถ้าทิ้งไว้นานเส้นประสาทจะทำงานได้น้อยลง อาการชาและอ่อนแรงของขาซีกนั้นจะเริ่มเด่นชัดขึ้น ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษา ส่วนใหญ่รักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ร่วมกับยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นรอบๆ เส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ชารอบก้น อั้นอุจจาระ และปัสสาวะไม่อยู่ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้น้อย จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน แพทย์จะผ่าตัดเพื่อตัดเอาส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า แนวทางป้องกันหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท คือ ใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่านั่งอยู่กับที่นานติดต่อกันเกิน 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัยทำงานที่มักนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการลุก ยืน เดิน มีการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้องให้แข็งแรงสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลังลงโดยการปรับท่านั่งให้หลังตรงหรือเดินตัวตรง ลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักที่มากเกินไป เนื่องจากหลังจะต้องเป็นส่วนที่รับน้ำหนักตัวของคนเรา เมื่อมีน้ำหนักตัวมากเกินไป การทำงานของกล้ามเนื้อหลังก็จะมากไปด้วยรวมทั้งงดการสูบบุรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้กระดูกพรุน และหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Leave a Reply