สุขภาพคุณแม่และหญิงตั้งครรภ์

ความจริง VS ความเชื่อของแม่หลังคลอด

Views

มีความเชื่อมากมายที่คุณแม่หลังคลอดคงเคยได้ยินมา และหลายคนก็เคยลองปฏิบัติมาแล้ว แต่จะส่งผลต่อสุขภาพของแม่ลูกอ่อนอย่างไร มาเช็กคำตอบกัน

1.ผ่าคลอดดีกว่าเพราะไม่เจ็บมาก และน้ำหนักลดเร็ว

ไม่จริง เพราะการคลอดปัจจุบัน มีการดูแลทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและปลอดภัยมากกว่าในอดีต ความคิดที่ว่าการผ่าคลอดเจ็บน้อยกว่าจึงไม่เป็นความจริง แถมยังเจ็บมากกว่าช่วงระยะหลังคลอด เพราะการผ่าคลอดทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังหน้าท้องซึ่งเจ็บมากกว่า ส่วนแผลที่ช่องคลอดจากการคลอดธรรมชาติเป็นแผลบริเวณเยื่อบุ เหมือนในกระพุ้งแก้มหรือในลิ้น ซึ่งจะมีเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก การซ่อมแซมของแผลจึงหายเร็วกว่า และการเจ็บปวดก็จะน้อยกว่า

ส่วนการลดหุ่นไม่ว่าจะคลอดโดยวิธีใด การลดน้ำหนักจะลดเองตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ตามขนาดมดลูกที่เล็กลง รวมทั้งการดูแลร่างกายและกิจกรรมหลังคลอด เช่น เลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ ควบคุมอาหารหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการออกกำลังกายด้วย

2.หลังคลอดแล้วคุณแม่อาจปวดแผลฝีเย็บนานเกิน 1 สัปดาห์


ไม่จริง เพราะแผลฝีเย็บบริเวณปากช่องคลอดเป็นแผลบริเวณเยื่อบุ ซึ่งจะมีเลือดมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ทำให้แผลหายเร็ว ประมาณ 3-5 วันจะมีอาการปวดแผลฝีเย็บและแผลก็เริ่มติดกัน 5-7 วันแผลจะเริ่มหายสนิทดี อย่างมากที่สุดแผลจะหายสนิทเลยภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าอาการปวดแผลฝีเย็บนานกว่า 1 สัปดาห์ อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีก้อนเลือดคั่งอยู่ใต้แผล แผลแยก หรือแผลติดเชื้อ เป็นต้น

การดูแลแผลก็แค่ทำความสะอาดในขณะอาบน้ำตามปกติ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่ปัสสาวะหรืออุจจาระ เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดจากช่องคลอดไปทางทวารหนัก ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาอะไรเป็นพิเศษ อาบน้ำตามปกติวันละ 2 เวลาเท่านั้น

3.หลังคลอดอาจมีอาการปวดมดลูกได้


จริง เพราะภายหลังคลอดลูกจนกระทั่งเมื่อรกคลอดไปแล้ว มดลูกจะค่อยๆ หดรัดตัวเองเพื่อให้กลับมามีขนาดปกติ ในระหว่างที่มดลูกบีบตัวเพื่อให้หดตัวเล็กลง ก็จะทำให้เกิดอาการปวดที่มดลูกได้เป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ ในระหว่างให้นมลูก จะมีการหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซินซึ่งช่วยให้มดลูกหดตัวดีขึ้น และในขณะที่มดลูกหดตัว บีบตัว จะมีอาการปวดที่มดลูกเป็นธรรมดา ในระหว่างที่ให้นมอยู่จะมีอาการปวดมดลูกเป็นพักๆ ซึ่งกลไกตามธรรมชาตินี้ถือเป็นเรื่องปกติและมีประโยชน์ เพราะการบีบตัวของมดลูกนอกจากจะช่วยเรื่องการหดตัวของมดลูกแล้ว ยังช่วยขับน้ำคาวปลา และช่วยยับยั้งไม่ให้มีการตกเลือดหลังคลอดด้วย ดังนั้น ถ้าคุณแม่ปวดมดลูกก็ทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้

4.หลังคลอดต้องอยู่ไฟ ไม่เช่นนั้นจะหนาวใน


ไม่จริง การอยู่ไฟเป็นกุศโลบายในสมัยก่อนช่วยให้แม่ได้พักผ่อน และเลี้ยงดูลูกได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องนอนอยู่เฉยๆ การอยู่ไฟมิได้ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็วขึ้นแต่อย่างใด

ปัจจุบันคุณแม่ก็สามารถลาพักหลังคลอดเพื่อดูแลตนเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องอยู่ไฟก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าทำแล้วสบายใจ และไม่เดือดร้อนกับค่าใช้จ่าย ก็สามารถอยู่ได้ตามความสะดวก

ส่วนความเชื่อเรื่องหนาวในหลังคลอดไม่เป็นความจริง ที่เป็นก็เพราะการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีสูงในระหว่างตั้งครรภ์ พอคลอดแล้วฮอร์โมนลดลงก็จะมีอาการหนาว และร้อนวูบวาบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ไฟหรือไม่ก็ตาม (และความรู้สึกนี้ก็จะเกิดอีกครั้งกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะขาดเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน เนื่องจากรังไข่หยุดทำงานนั่นเอง)

5.ห้ามกินของสแลง


ไม่จริง เพราะไม่มีของสแลง มีแต่ห้ามกินของที่กินแล้วเป็นโทษต่อร่างกาย เช่น แอลกอฮอล์ ยาดอง ฯลฯ ซึ่งแม้ไม่ได้ท้องก็ไม่ควรกินอยู่แล้วเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพค่ะ

6.การกินยาขับน้ำคาวปลาจะช่วยขับน้ำคาวปลาออกมาให้หมด


ไม่จริง เพราะน้ำคาวปลา คือเศษเนื้อเยื่อ เศษชิ้นส่วนต่างๆ เมือกต่างๆ ที่ปกคลุมบริเวณโพรงมดลูก หลังจากรกได้ลอกตัวออกไปแล้ว เยื่อบุเหล่านี้จะถูกขับออกมาโดยการบีบรัดตัวของมดลูกหลังคลอด และจะค่อยๆ หมดไปภายใน 6-8 สัปดาห์ โดยไม่ต้องทำอะไร

ถ้า้คลอดธรรมชาติ สิ่งที่จะช่วยให้เกิดการขับน้ำคาวปลาได้ดีไหลได้สะดวกขึ้น คือการเคลื่อนไหว ขยับตัวให้เร็วภายใจ 24 ชั่วโมง

หากผ่าคลอด หลังจากคลอดลูกและคลอดรกแล้ว คุณหมอจะพันผ้าก็อซที่นิ้วมือแล้วเช็ดทำความสะอาดมดลูก เพื่อให้มั่นใจว่าได้กวาดเอาชิ้นส่วนของรกออกมาให้หมด ไม่ให้มีเหลือตกค้างอยู่ ซึ่งเป็นการช่วยให้เยื่อบุหรือน้ำคาวปลาส่วนใหญ่หลุดลอกออกไปตั้งแต่เสร็จสิ้นการผ่าตัดแล้ว

ดังนั้น หลังผ่าตัดหลังคลอดจะสังเกตได้ว่าน้ำคาวปลาหมดเร็วกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และไม่มีความจำเป็นต้องกินยาใดๆ เพื่อไปขับน้ำคาวปลาอีก

7.น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นหรือมีสีผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

จริง เพราะปกติน้ำคาวปลาในช่วง 2-3 วันแรก ส่วนประกอบหลักคือเศษเซลล์ที่ลอกออกมาจากโพรงมดลูก ซึ่งประกอบด้วยเม็ดเลือดเป็นส่วนใหญ่ จึงมีสีออกแดงๆ ใน 3 วันแรก ช่วงวันที่ 4-10 สีแดงจะค่อยๆ จางลง เพราะเศษเลือดจะน้อยลงไปตามลำดับ หลังจากวันที่ 10 ไปจนถึงน้ำคาวปลาหมด จะเป็นลักษณะใสขึ้นและมีสีเหลืองจางๆ บนขาวๆ ไปอีกระยะหนึ่ง

หากไม่เป็นไปตามนี้ เช่น ยังมีสีแดงมากๆ ยังมีเลือดสดๆ อยู่ อาจเป็นภาวะของการตกเลือดหลังคลอด

ส่วนกลิ่นก็จะคาวนิดหน่อย แต่ถ้าเหม็นมากผิดปกติ ประกอบกับลักษณะของสีที่ผิดปกติ เช่น แดงมากๆ คือ ตกเลือด หากมีสีเขียว สีเหลือง มีกลิ่นเหม็นรุนแรง นั่นหมายถึงการติดเชื้อ เพราะฉะนั้นหากมีเลือดออก หรือเกิดการติดเชื้อต้องไปพบคุณหมอทันที

8.คุณแม่หลังคลอดไม่ควรอาบน้ำโดยการนอนแช่ในอ่าง


จริง เพราะการอาบน้ำที่แนะนำในช่วงหลังคลอด คืออาบน้ำวันละ 2 เวลา ทำความสะอาดบริเวณฝีเย็บทุกครั้งที่มีการอุจจาระหรือปัสสาวะ ถ้าเป็นแผลบริเวณผ่าตัดคลอดก็ต้องล้างแผลตามกำหนด หรืออาจใช้วัสดุกันน้ำปิดไว้ที่แผล

เหตุที่ไม่ควรนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ เพราะมดลูกที่อยู่ข้างในช่องท้อง ต่อกับภายนอกผ่านทางปากมดลูก โดยปกติแล้วปากมดลูกจะปิดสนิทซึ่งจะเป็นตัวยับยั้งไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปทำอันตรายในร่างกายได้

แต่หลังคลอดปากมดลูกจะเปิดเพื่อระบายน้ำคาวปลาออก เพราะฉะนั้นก็จะมีเชื้อโรคบางส่วนเข้าไปเจริญเติบโตได้เช่นกัน ดังนั้น หากนอนแช่น้ำ หากในอ่างอาบน้ำก็มีคราบแบคทีเรียเกาะอยู่ ก็จะยิ่งทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยโดยการนำอุปกรณ์ไปเพาะเชื้อทั้งบริเวณในโพรงมดลูกและในช่องคลอด ในช่วงที่มีน้ำคาวปลา ไม่ว่าจะเพาะตรงไหน จะพบแบคทีเรียเสมอ ซึ่งก็หมายความว่าน้ำคาวปลาทั่วๆ ไปย่อมมีความสกปรกอยู่

เพราะฉะนั้นถ้าเราไปแช่น้ำ นอกจากพวกแบคทีเรียที่จะไหลเข้าไปในโพรงมดลูก ความสกปรกที่ไหลออกมาจากน้ำคาวปลาก็จะลอยอยู่ในน้ำ ก็ยิ่งไปปนเปื้อนตามผิวหนังได้ทั่วร่างกาย หากแบคทีเรียไปเกาะที่หัวนม เวลาให้นมลูกก็อาจติดเชื้อได้อีกด้วย

9.หลังคลอดคุณแม่ไม่ควรเคลื่อนไหวมาก เพราะอาจทำให้แผลอักเสบได้


ไม่จริง เพราะการเคลื่อนไหวจะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณแผล และทำให้การติดของแผลดีขึ้น เพราะเลือดจะพาเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นตัวกัดกินเชื้อโรคมาที่แผลด้วย ถ้ามีเม็ดเลือดขาวเยอะก็จะทำให้ป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อได้ดีขึ้น คุณแม่จึงควรเคลื่อนไหวให้ได้มากเท่าที่สามารถทำได้

10.คุณแม่หลังคลอดที่ให้นม ห้ามกินยาคุมกำเนิด


จริง โดยปกติแล้วการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรแลคตินเพื่อสร้างน้ำนม และสร้างออกซีโตซินเพื่อหลั่งน้ำนมในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เมื่อฮอร์โมนสูงก็จะไปยับยั้งการตกไข่ เมื่อยังไม่มีการตกไข่ ก็จะไม่มีการตั้งครรภ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเท่ากับเป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ และส่งผลให้ประจำเดือนรอบแรกหลังคลอดจะมาช้ากว่าเดิม อย่างไรก็ดีทางการแพทย์พบว่ายังมีอัตราการตั้งครรภ์ที่ 8% ในคุณแม่ที่ให้นมบุตรโดยไม่ได้คุมกำเนิดวิธีอื่น

ดังนั้น ถ้าหากให้นมไปนานๆ ฮอร์โมนของการให้นมจะเริ่มลดลง รังไข่เริ่มมีการผลิตไข่ทำให้เริ่มมีประจำเดือนมา ในกรณีนี้ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุม จะมีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มเป็น 36% เลยทีเดียว

ดังนั้น คุณแม่ให้นมจึงต้องคุมกำเนิด แต่ต้องไม่ใช่วิธีกินยา เพราะการกินยาคุมกำเนิดจะทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะไปยับยั้งการสร้างน้ำนม ทำให้น้ำนมแห้ง หากคุณแม่ต้องการให้นมแม่ให้นานที่สุด จะต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ไม่ว่าจะเป็นฉีดยา ใช้ถุงยางอนามัย ใส่ห่วงอนามัย หรือใช้ยาฝังใต้ท้องแขนก็ได้ค่ะ

11.หลังคลอดจะมีประจำเดือนครั้งแรกมากหรือน้อยกว่าที่เคย ถือว่าปกติ


จริง เพราะหลังคลอดประจำเดือนจะมาเมื่อรังไข่เริ่มทำงาน มีการตกไข่ครั้งแรก มีการสร้างเยื่อบุที่โพรงมดลูกและลอกเป็นประจำเดือน ซึ่งรังไข่ของแต่ละคนจะกลับมาฟื้นตัวเร็วช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คุณแม่ให้นมได้นานแค่ไหน มีปริมาณการสร้างน้ำนมแค่ไหน ถ้ามีการสร้างน้ำนมเยอะ รังไข่ทำงานช้าลง ผลิตฮอร์โมนได้ต่ำลง ประจำเดือนก็จะมาน้อยและมาช้า

ส่วนแม่บางคนหยุดนมแล้ว หยุดนมเร็ว หรือให้นมแต่น้ำนมไม่ค่อยออก หรือน้ำนมใกล้หมด รังไข่ทำงานได้ดี ฮอร์โมนของรังไข่สูง เยื่อบุก็จะหนามากทำให้มีประจำเดือนมามาก

ขนาดของมดลูกก็มีผลต่อปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกมา โดยทั่วไปหลังคลอดมดลูกจะมีขนาดปกติและเข้าอู่เรียบร้อย ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ แม่บางคนมีประจำเดือนเร็วตอนที่มดลูกยังมีขนาดใหญ่ ก็จะมีพื้นที่ในการผลิตเลือดได้เยอะ ปริมาณเลือดจึงเยอะกว่าคนที่เริ่มมีประจำเดือนในช่วงหลังๆ ซึ่งมีขนาดมดลูกเล็กลงแล้ว และสร้างเลือดได้น้อยกว่า ทำให้มีประจำเดือนในปริมาณน้อยกว่า

12.ถ้ามีอาการท้องผูกหลังคลอดไม่ควรกินยาระบาย


ไม่จริง เพราะในช่วงหลังคลอด ปัญหาที่พบคือลำไส้เคลื่อนไหวตัวช้า ทำงานได้ไม่ค่อยดี มดลูกมีขนาดใหญ่ ไปกดทับทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ไม่ค่อยดี ความปวดที่มดลูกหรือแผลฝีเย็บก็จะทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวตัวได้น้อย พอเคลื่อนไหวตัวได้น้อยก็จะทำให้ท้องผูกมากขึ้น ยิ่งถ้าปวดแผลฝีเย็บมาก ก็จะพลอยไม่อยากเบ่งอุจจาระ ไม่ยอมเข้าห้องน้ำนานๆ จะทำให้ท้องผูก

ดังนั้น คุณแม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่หลังคลอดใหม่ๆ เพราะจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวและช่วยลดอาการท้องผูก กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำมากๆ ก็จะช่วยลดอาการท้องผูกได้

แต่ถ้าคุณแม่กินได้ปกติแล้ว เคลื่อนไหวได้ดีแล้วยังมีท้องผูกอยู่ การกินยาระบายหรือใช้ยาระบายชนิดเหน็บทวารก็จะเป็นตัวช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ ลดความรู้สึกอึดอัดท้อง แต่การใช้ยาระบายต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมอ

หมั่นดูแลร่างกายและจิตใจเลือกปฏิบัติในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวแม่และลูกน้อยจริงๆ ก็จะช่วยให้แม่หลังคลอดมีความสุขและฟื้นตัวได้เร็วแล้วล่ะค่ะ

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นพ.พูนศักดิ์ สุชนวณิช

ข้อมูลจาก : https://rakluke.com

Leave a Reply