HIV

รู้หรือไม่! HIV ไม่ใช่โรคเอดส์เสมอไป

Views

สภาพการโรคเอดส์ในบ้านเรายังถือว่าอยู่ในระยะเฝ้าระวัง เนื่องด้วยจำนวนผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์มีอัตราการเป็นเอดส์เพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้นโอกาสที่เด็กซึ่งคลอดจากมารดาที่เป็นเอดส์อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว บางประเทศในแถบตะวันตกที่มีอัตราการเป็นเอดส์สูง เนื่องจากโรคนี้พบได้บ่อยกว่าในบ้านเรา และในประเทศสหรัฐอเมริกาเองนั้นโรคเอดส์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับที่ 9 ของเด็กอายุ 1-4 ปี

โดยความเป็นจริงแล้วคนที่เป็นโรคเอดส์จะมีเชื้อไวรัส HIV อยู่ในตัว แต่ทั้งนี้คนที่มีเชื้อ HIV นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคเอดส์เสมอไป คือติดเชื้อ HIV แต่ยังไม่มีอาการ สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ แข็งแรงเหมือนคนปกติ แต่ทั้งนี้หากผู้มีเชื้อไม่ได้รับการรักษาหรือภูมิคุ้มกันต่ำลงเรื่อยๆ จนร่างกายอ่อนแอจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคขึ้นถึงจะเรียกว่าเป็น เอดส์ โดยเชื้อ HIV นั้นติดต่อได้ 3 ช่องทางใหญ่ๆ คือ ทางเพศสัมพันธ์ เลือด และ จากแม่สู่ลูก

ส่วนกรณีที่ติดจากแม่สู่ลูกนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตอนช่วงแรกเกิดแต่จะยังไม่มีอาการ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาก็อาจจะเป็นได้ในอนาคต ตอนช่วงอายุประมาณ 1 ขวบไปแล้ว โดยสาเหตุอาจเกิดจากการกลืนเลือดแม่ตอนคลอด หรือการกินนมแม่ ทั้งนี้หากติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก เด็กที่คลอดออกมาจะมีลักษณะตัวเล็ก อาจมีพัฒนาการน้อยกว่าปกติ แต่ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน

ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศไทยมีการรณรงค์ในเรื่องของการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก คือ หากคุณแม่ท่านใดไปฝากครรภ์แล้วคุณหมอตรวจพบการติดเชื้อก็จะมีแนวทางการป้องกัน ซึ่งตอนนี้มีน้อยมากกว่า 2% ตรงตามเป้าของ WHO หรือองค์การอนามัยโลก ซึ่งหมายความว่า คู่สามีภรรยาที่มีเชื้อ HIV สามารถมีลูกได้ รวมถึงกรณีที่คุณพ่อมีเชื้อเช่นเดียวกัน โดยจะใช้วิธีการนำน้ำเชื้อของพ่อไปแยกออกจากเชื้อ HIV แล้วฉีดเข้าไปในตัวของแม่ โดยเด็กส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อมักจะเกิดจากแม่ที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองมีเชื้อ หรือไม่ได้ไปฝากครรภ์จึงไม่ได้รับการตรวจจับเชื้อ โดยเด็กจะมีอาการ เช่น เลี้ยงไม่โต ติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น ถ่ายเหลวเรื้อรัง ปอดบวมที่รักษายาก ติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งเด็กที่ติดเชื้อแล้วจำเป็นต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต ขณะที่ลูกซึ่งมีแม่ติดเชื้อ HIV แพทย์แนะนำไม่ให้กินนมแม่ และจะมียาป้องกันเป็นยาสูตรคล้ายกับของคุณแม่ แต่จะมีจำนวนน้อยกว่าโดยจะกินประมาณ 1 เดือน ก่อนจะนัดเข้ามาตรวจว่าตัวเด็กติดเชื้อหรือไม่

ขอขอบคุณ:rama.mahidol.ac.th

Leave a Reply