งูสวัด

งูสวัด ไวรัสแฝงร่าง

Views

โรคภัยไข้เจ็บในยุคปัจจุบันนั้นเกิดได้ง่าย แม้ว่าวิทยาศาสตร์และการแพทย์จะเจริญขึ้นมาก แต่วิถีการดำรงชีวิตแบบคนยุคใหม่ก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ทั้งจากอาหารการกิน อากาศ ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งก็มีทั้งโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายเราเอง และโรคที่เกิดจากการได้รับเชื้อโรคมาจากภายนอก แล้วร่างกายก็เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นมาเลย แต่ก็มีโรคบางประเภทที่เชื้อโรคนั้นแฝงอยู่ในตัวเรา อาจจะอยู่มานานนับสิบๆปีโดยที่เราไม่เคยรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ จนกระทั่งร่างกายอ่อนแอลงเมื่อไหร่ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น เชื้อโรคร้ายก็จะสำแดงเดชทำให้เราป่วยไข้โดยไม่คาดคิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของโรคประเภทนี้ก็คือ โรคงูสวัด (Herpes Zoster) ซึ่งท่านผู้อ่านคงคุ้นชื่อกันดีอยู่แล้ว แต่ก็เชื่อว่ามีไม่น้อยที่ยังไม่ค่อยรู้ที่มาที่ไปของโรคนี้กันสักเท่าไหร่

และในวันนี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จะพาท่านไปรู้ลึกถึงเรื่องราวของโรคงูสวัดที่ไม่ใช่แค่โรคใกล้ตัว แต่ทว่ามันแฝงเร้นอยู่ในตัวของพวกเรากันเลยครับ

โรคงูสวัดนั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “วาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus, VZV)” เจ้าไวรัสชนิดนี้ก็คือไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสนั่นเองครับ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางการหายใจ หรือการสัมผัสตุ่มน้ำใสของผู้ที่เป็นโรค เมื่อเราได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส แต่เมื่อหายจากอีสุกอีใสแล้ว ก็ใช่ว่าเจ้าเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ จะล้มหายตายจากไปจากร่างกายของเรา แต่มันจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายโดยที่เราไม่มีอาการผิดปกติหรือเจ็บป่วยแต่อย่างใดเลย เชื้อไวรัสอาจจะอยู่อย่างสงบนิ่งเป็นเวลานานหลายสิบปี จนกระทั่งเมื่อร่างกายอาจอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ไวรัสที่แฝงอยู่ก็จะแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้นและกระจายออกมาในปมประสาททำให้ประสาทอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาท และเกิดตุ่มใสเรียงเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท มีอาการปวดแสบปวดร้อนซึ่งนั่นก็คือโรคที่เราเรียกกันว่างูสวัดนั่นเอง

ใครบ้างที่เสี่ยงต่องูสวัด?

จากสถิติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยโรคงูสวัดกว่า 1 ล้านรายต่อปี และร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคงูสวัดมีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป เพราะเชื้อหลบซ่อนในร่างกายเราหลายสิบปี และมักเกิดโรคตอนร่างกายอ่อนแอ โรคงูสวัดจึงมักเกิดในผู้สูงอายุ

ทำไมผู้สูงอายุจึงเสี่ยงสูงต่อโรคงูสวัด?

เพราะผู้สูงอายุในปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 95 เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาแล้ว ทำให้มีเชื้อหลบซ่อนในร่างกายเราหลายสิบปี และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะลดลง และทำให้เชื้อไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย แสดงอาการและก่อให้เกิดโรคงูสวัดออกมา

วิธีสังเกตอาการว่าเราเป็นโรคงูสวัดเข้าแล้วนั้น เริ่มจากรู้สึกปวดแสบ ปวดร้อนตามผิวหนังเหมือนถูกไฟลวก อาจมีอาการคันร่วมด้วย หลังจากนั้น 2-3 วันก็จะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแสบ ปวดร้อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส โดยผื่นมักจะขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท ดูคล้ายรอยงูเลื้อย มักเกิดผื่นตามขวางลำตัว บริเวณชายโครง ใบหน้า แขน ซึ่งผื่นนี้จะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ แต่เมื่อผื่นหายแล้วก็อาจจะยังมีอาการแทรกซ้อนที่เรียกว่า “อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรัง (Post Herpetic Neuralgia, PHN)” ซึ่งอาจจะปวดทรมานกันแบบยาวๆ 3-12 เดือนเลยล่ะครับ ซึ่งในบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย อาการปวดเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนมักพบในผู้สูงอายุ โดยพบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมากกว่า 70% ของผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป จะเห็นได้ว่ายิ่งอายุมากก็ยิ่งภาวะแทรกซ้อนมาก และอาการปวดเรื้อรังก็จะเป็นนาน เพราะผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันต่ำลงการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรคยิ่งมีมากขึ้น อย่างเช่นอาการปวดเรื้อรังจะทำให้ผู้สูงอายุมีอาการปวดลึกๆ ปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแปลบๆ เสียวๆเหมือนถูกมีดแทง อาจจะปวดแม้ถูกสัมผัสเพียงเบาๆ และปวดมากในเวลากลางคืนหรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง บางรายอาจจะปวดมากจนทนไม่ได้ ขยับตัวไม่ได้ และถ้าเป็นงูสวัดที่ใบหน้าก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

ตามมาได้ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียที่ตา ทำให้ตาอักเสบ หรือเป็นแผลที่กระจกตา หรือภาวะแทรกซ้อนทางหู และหากพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง (แต่พบได้น้อยราย) เช่น ปอดอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจทำให้ถึงกับเสียชีวิตเลยทีเดียว

ทีนี้ก็มาถึงความเชื่อแต่โบราณที่ว่ากันว่า ถ้าเป็นงูสวัดลุกลามจนพันรอบตัวเมื่อไหร่ล่ะก็ ผู้ที่เป็นมีอันต้องตายไร้ทางรอดแน่ๆ ความเชื่อนี้จริงเท็จ อย่างไร เราไปดูกันครับ

ความเชื่อนี้มาจากการที่โรคงูสวัดนั้นโดยปกติจะเป็นแค่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย เนื่องจากอาการของโรคนี้จะปรากฏตามแนวเส้นประสาท ซึ่งเส้นประสาทของคนเรานั้นแบ่งแยกเป็นด้านซ้าย-ด้านขวา และมาสิ้นสุดบริเวณกึ่งกลางลำตัว โรคงูสวัดในคนปกติจึงไม่สามารถลามข้ามเลยแนวเส้นประสาทไปอีกฝั่งหนึ่งของร่างกายได้ เว้นแต่ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ เช่น เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งได้รับยากดภูมิต้านทาน ผื่นงูสวัดอาจปรากฏขึ้นทั้งสองฝั่งของร่างกาย หรือรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดงูสวัดแบบแพร่กระจายซึ่งผื่นอาจลุกลามไปสู่สมองหรืออวัยวะภายในที่สำคัญ อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ สรุปว่าความเชื่อเรื่องงูสวัดพันรอบตัวแล้วต้องตายนั้นไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้องนะครับ

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้ให้ความรู้ในหัวข้อ “ความจริงที่ควรรู้…งูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ” โดยคุณหมอได้กล่าวว่า

“อาการปวดแทรกซ้อนและปวดเรื้อรังจากโรคงูสวัด สร้างผลกระทบแก่ผู้ป่วยมาก เพราะบางคนเจ็บปวดมากจนเกิดอาการเหน็บชา ไม่สามารถขยับร่างกายได้ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถไปทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ โดยยิ่งอายุมากอาการเหล่านี้ก็อาจรุนแรงมากตามไปด้วย และอาจเรื้อรังเป็นเวลาร่วมปี จึงส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน สูญเสียความมั่นใจ ไม่อยากเข้าสังคม ปลีกตัวจากสังคม เป็นต้น

มีงานวิจัยเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคงูสวัดกับโรคเรื้อรังอื่นๆ พบว่าผู้ป่วยโรคงูสวัดมีสุขภาพโดยรวมแข็งแรงกว่าผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง แต่กลับมีการควบคุมการทำงานของร่างกายและสุขภาพจิตต่ำกว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ นั่นแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคงูสวัดต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บปวดมาก จนส่งผลต่อด้านอื่นๆด้วย…”

ตามที่คุณหมอกล่าวมานั้นนับว่างูสวัดเป็นโรคที่น่ากลัวโรคหนึ่งเลยทีเดียว สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดมีแนวทางการรักษาและปฏิบัติตัวดังนี้ครับ

ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันปกติอาจรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้ปวด หรือยากันชัก อาจต้องใช้ยาต้านไวรัสภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยให้รอยของโรคทางผิวหนังหายได้เร็วขึ้นและลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือรับประทานร่วมด้วย

สำหรับแผลผื่นและตุ่มใสให้ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ครั้งละประมาณ 10 นาที 3-4 ครั้งต่อวัน จะช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น ควรตัดเล็บให้สั้น ไม่ควรแกะเกาบริเวณผื่นและตุ่มน้ำ อาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ถ้ามีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก ไม่ควรพ่น หรือทายาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรลงไปบริเวณตุ่มน้ำ อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้แผลหายช้าและกลายเป็นแผลเป็นได้

แนวทางการป้องกันจากโรคอันแสนทรมาน สำหรับท่านที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว และยังไม่เคยเป็นโรคงูสวัด ก็คือต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบตามหลักโภชนาการ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหรือไม่เคยติดเชื้อดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยงูสวัด และควรแยกสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม และที่นอนของผู้ป่วยในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจายจะสามารถแพร่เชื้อได้ทางการหายใจ ดังนั้น ควรแยกผู้ป่วยไม่ให้ใกล้ชิดกับผู้ไม่เคยเป็นโรค เด็กเล็ก และสตรีมีครรภ์ สำหรับท่านผู้สูงวัย อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดก็จะช่วยป้องกันได้มากขึ้น

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดนั้นถือว่าเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทยเรา เพิ่งมีการใช้กันเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมานี้เอง แต่ในต่างประเทศนั้นมีการ ใช้กันมาประมาณ 10 ปีแล้ว ซึ่งนอกจากช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคงูสวัดแล้ว ในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วถ้ายังเกิดเป็นโรคงูสวัดขึ้นมา ก็จะช่วยลดความเจ็บปวดจากโรคงูสวัด และลดความรุนแรงของอาการปวดเรื้อรังเมื่อผื่นงูสวัดหายไปแล้วด้วย

วัคซีนดังกล่าวผลิตจากเชื้อที่มีชีวิต นำมาทำให้อ่อนฤทธิ์ โดยเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับที่ใช้ทำวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส แต่แตกต่างกันในขนาดความเข้มข้นและประสิทธิภาพ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสนั้นไม่สามารถใช้ป้องกันโรคงูสวัดได้ เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดนั้นมีความเข้มข้นสูงกว่าวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสอย่างน้อย 14 เท่า เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถึงระดับ T-Cell วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดนั้นจะฉีดให้กับผู้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยให้เพียงแค่ 1 เข็มเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพราะอาจมีผลข้างเคียงหรือมีอาการแพ้ในผู้ป่วย บางรายได้ครับ

ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ การจะปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บได้นั้นก็ย่อมต้องมาจากการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พยายามลดความ เสี่ยงจากการรับเชื้อโรค กินดื่มสิ่งที่สะอาดและมีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะพอควร หลีกเลี่ยงจากมลพิษและสิ่งบั่นทอนสุขภาพทั้งหลาย รักษาอารมณ์และจิตใจให้เป็นสุข ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท เท่านี้โรคภัยก็ไกลห่าง

ขอขอบคุณข้อมูล:thairath.co.th

Leave a Reply