สุขภาพคุณแม่และหญิงตั้งครรภ์เบาหวาน

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ผอมก็เป็นได้

Views

ความเสี่ยงของเบาหวานในผู้หญิงตั้งครรภ์

“เบาหวาน” เป็นโรคที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และ 2 ใน 5 ของผู้หญิงที่เป็นเบาหวาน อยู่ในวัยเจริญพันธ์ (ประมาณ 60 ล้านคนทั่วโลก) IDF สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติประมาณว่ามีจำนวนถึง 20.9 ล้านคน หรือ 16.2% ของหญิงตั้งครรภ์ ที่มีภาวะน้ำตาลสูงในเลือด โดย 85.1% วินิจฉัยเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) และ7.4% เป็นเบาหวานชนิดอื่นที่ตรวจพบตอนตั้งครรภ์ ส่งผลให้ 1 ใน 7 ทารก คลอดจากแม่ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ และหญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากขึ้นจะยิ่งเสี่ยงต่อน้ำตาลสูงในเลือดมากขึ้น

เบาหวาน…สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 9

โรคเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก โดยคิดเป็นอัตรา 2.1 ล้านคนต่อปี พฤติกรรมการบริโภคทำให้ ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาหารและโภชนาการที่ไม่ดี การไม่ทำกิจกรรมการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนก่อให้เกิดอันตราย

เบาหวานขณะตั้งครรภ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

  • เป็นเบาหวานอยู่แล้วก่อนการตั้งครรภ์
  • เพิ่งเป็นเบาหวานในขณะกำลังตั้งครรภ์ และมักจะพบในคุณแม่ตั้งครรภ์โดยมักพบหลังการตั้งครรภ์ได้ 22 -28 สัปดาห์ 

ผู้หญิงทุก 2 ใน 5 คนที่เป็นเบาหวานอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ หญิงที่เป็นเบาหวานประสบปัญหามีบุตรยากอาจเกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ทำให้อัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพของมารดาและทารกเพิ่มขึ้น เด็กที่เกิดมา 1 ใน 7 คน เกิดผลกระทบจากแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

นอกจากนี้แล้วคนที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเกิดภัยคุกคามที่รุนแรงต่อสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูงแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอด ซึ่งหญิงที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในอนาคต 8.4% (ใน 8 ปี) เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เป็นเบาหวาน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดเบาหวานในอนาคตของหญิงที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์

  • มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน
  • อ้วนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
  • น้ำตาลก่อนอาหารเช้าสูง
  • คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • มีประวัติเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์มาก่อน
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป (ในปัจจุบันอายุที่เริ่มพบโรคจะน้อยลง เช่น พบได้ตั้งแต่อายุ 30 กว่าปี)

ดังนั้น หากเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ควรลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ข้างต้น เช่น ลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด
แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไหม

คุณแม่ที่เป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์จะมีอาการคล้ายกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน คือ หิวบ่อย, กินเก่ง, กระหายน้ำบ่อย, ปัสสาวะบ่อย (อาจลุกขึ้นมาปัสสาวะในเวลากลางคืน) มีอาการอ่อนเพลียมากกว่าปกติ เมื่อไปฝากครรภ์แพทย์จะตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ โดยค่าปกติ คือ น้ำตาลในเลือดเมื่อ อดอาหารน้อยกว่า 95 mg/dl, ค่าน้ำตาลในเลือดหลังกินกลูโคส 1 ชั่วโมง น้อยกว่า 180 mg/dl และมีค่าน้ำตาลในเลือดหลังกินกลูโคส 2 ชั่วโมง น้อยกว่า 155 mg/dl ถ้าค่าที่ตรวจได้แม้เพียงค่าใดค่าหนึ่งเท่ากับหรือสูงกว่าค่าปกติ ให้วินิจฉัยว่า “เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์”หากไม่ได้รับการรักษาและควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ คุณแม่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามที่กล่าวมาได้

แล้วจะต้องปฏิบัติตัวยังไงหากมีอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด
  • ต้องควบคุมอาหารให้ถูกสัดส่วนและถูกเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก รับประทานอาหาร 3 – 5 มื้อ แต่ที่สำคัญก็คือปริมาณของอาหารในแต่ละวันจะต้องควบคุมให้ได้อย่างเหมาะสม ดังนี้
  • ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ชนิดของการออกกำลังกายไม่ควรเป็นชนิดที่หนักเพราะจะเสี่ยงต่อลูกน้อยในครรภ์ ที่แนะนำ คือ การเดินหรือการวิ่งเหยาะ ๆ, การว่ายน้ำ, เต้นรำ, หรือการออกกำลังกายร่างกายส่วนบน ให้ได้วันละ 30 นาที แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
  • ต้องมารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด ในระหว่างการฝากครรภ์ แพทย์อาจนัดมาตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติเพื่อประเมินภาวะสุขภาพของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ รวมทั้งตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลเพื่อแพทย์จะได้ประเมินและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมต่อไป
  • ยาที่ใช้รักษาเบาหวานจะต้องใช้แบบชนิดฉีด ในบางรายจะต้องฉีดวันละหลายครั้ง
  • ในกรณีที่มีความผิดปกติ เช่น คุณแม่มีอาการอ่อนเพลีย, น้ำหนักตัวขึ้นมากจนเกินไป, ท้องไม่โตขึ้น, ลูกดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้น, มีอาการของครรภ์เป็นพิษ, มีความผิดปกติอื่น ๆ (เช่น เบาหวานขึ้นตา) ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

หลังจากคลอดแล้วจะเป็นเบาหวานจะหายหรือไม่

หลังคลอดบุตร อาการเบาหวานจะหายไป หากตั้งครรภ์อีกโอกาสจะเป็นเบาหวาน มากกว่า 30% หลังคลอด 6 สัปดาห์ควรเจาะหาระดับน้ำตาล ถ้าปกติให้เจาะเลือดทุกปี เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นเบาหวานชนิดที่สอง ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต ดังนี้

  • ลดน้ำหนัก ซึงจะป้องเบาหวานชนิดที่สองได้
  • รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ เพิ่มผัก ผลไม้ ลดอาหารไขมันโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว
  • การออกกำลังกาย

นพ.รัฐพงศ์ จิวะรังสินี
อายุรศาสตร์, อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม
คลินิกเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลพญาไท 3

ขอขอบคุณhttps://www.phyathai.com/news