โรคไต

โรคไตในเด็ก อันตรายรุนแรงที่ป้องกันได้จากการทานอาหาร

Views

หากพูดถึงโรคไต หลายๆ คนอาจคิดว่าเป็นโรคของผู้ใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็กที่ทานประเภทฟาสต์ฟู้ด ซึ่งมีแป้ง ไขมัน น้ำตาลและเกลือมาก ผลมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมนี้ จนเกิดเป็นปัญหาโรคแทรกซ้อนตามมา และทำให้พบผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปีและเพิ่มสูงมากขึ้นจนน่ากลัว

สาเหตุของโรคไตในเด็ก

เด็กเล็ก 0-5 ปี มักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างของไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะปัสสาวะไหลย้อน ภาวะเนื้อไตผิดปกติแต่กำเนิดซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นต้น

เด็กโต 5 ปีขึ้นไป มักเกิดจาก ภาวะไตอักเสบ อาจเกิดภายหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง หรือเกิดจาก โรคเอสแอลอี (SLE) หรือกลุ่มอาการเนโฟรติก (nephrotic syndrome) โดยมีสาเหตุที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวาน และความดันสูงเหมือนกับผู้ใหญ่ เนื่องจาก ภาวะเด็กอ้วน ซึ่งทำให้เกิดโรคดังกล่าวตามมา เพราะรูปแบบการทานอาหารที่หวานจัดและเค็มจัดเกินไป รวมทั้งขาดการออกกำลังกาย

สัญญาณเตือนของโรคไต

  • ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น เป็นฟอง สีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ
  • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ออกกระปริบกระปรอย
  • อาการบวมหน้า หนังตา ขาหรือบวมทั่วตัว
  • อาการอื่นๆ เช่น ซีด เหนื่อยง่าย หรือตัวเล็ก

การป้องกันโรคไตในเด็ก

1. ลดการบริโภคโซเดียมลง

การลดบริโภคโซเดียมลงมาต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างน้อย 10% ให้ลูกหลีกเลี่ยงการทานขนมถุงต่างๆ เพราะนอกจากจะมีโซเดียมสูงแล้วยังมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำอีกด้วย

2. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

ดูแลเรื่องโภชนาการโดยลดการบริโภคเกลือและต้องดื่มน้ำให้พอเพียง เมื่อรู้ว่าวันไหนลูกทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อขับโซเดียมในร่างกายออกมาค่ะ

3. ชวนลูกไปออกกำลังกาย

การรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไปและการไม่ออกกำลังกาย ส่งผลเสียต่อการทำงานของไตในเด็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้ออกไปเล่นตามวัย หรือชวนกันไปออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่ดีกันทั้งครอบครัว

4. ลดอาหารบางชนิดในกลุ่มเด็กที่มีอาการไตวายเรื้อรัง

สำหรับในกลุ่มไตวายเรื้อรัง ต้องปรับลดโปรตีน โปแตสเซียม และฟอสเฟต จากนมวัว ผัก ผลไม้ มันฝรั่ง และน้ำอัดลม

5. ให้ลูกคุ้นชินกับรสชาติอาหารที่รสไม่จัด

สร้างความคุ้นชินของรสชาติอาหารให้กับลูก โดยการทำอาหารหรอเลือกอาหารที่ลดเค็มจัด หวานจัดลงทีละน้อย จนกว่าร่างกายของเด็กจะคุ้นชินกับรสชาติ เพื่อต่อไปจะได้ไม่ติดรสชาติเค็มหรือรสหวานเกินไปจนทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคไต

โรคไตในเด็ก ถ้าหากไม่รีบทำการรักษาหรือป้องกันแต่เนิ่นๆ ก็อาจนำไปสู่สภาวะไตวายระยะสุดท้ายได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจโภชนาการและดูแลพฤติกรรมการทานอาหารของเด็กๆ หมั่นพาลูกไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้การตรวจสุขภาพก็เป็นสิ่งจำเป็นค่ะ

ที่มา – rakluke

ข้อมูลจาก https://www.parentsone.com


Leave a Reply