รู้ทัน-โรค

โลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคทางพันธุกรรมที่ไม่ควรมองข้าม

Views

รู้หรือไม่?

  • ในประเทศไทยมีผู้เป็นโรคธาลัสซีเมีย ประมาณเกือบ 500,000 คน
  • คนไทยเป็นพาหะธาลัสซีเมียกว่า 18 ล้านคน

โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดจางชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ทำให้มีอาการซีดเรื้อรัง เป็นอีกโรคที่พบมากในประเทศไทยและทั่วโลก โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม คนที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะได้รับยีนผิดปกติมาจากพ่อและแม่ ส่วนคนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียจะได้รับยีนผิดปกติมาจากพ่อหรือจากแม่คนใดคนหนึ่ง โดยคนที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียจะมีสุขภาพดีเหมือนบุคคลทั่วไป แต่สามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติให้ลูกได้

ธาลัสซีเมีย ไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว

โรคธาลัสซีเมียแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

  • แอลฟ่า-ธาลัสซีเมีย เป็นพาหะที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าอีกชนิดหนึ่ง โดยสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระดูกโดยตรง และอาจส่งผลให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอดได้
  • เบต้า-ธาลัสซีเมีย พาหะตัวนี้จะไม่ค่อยรุนแรง แค่ทำให้มีอาการตัวเหลืองซีดเท่านั้น เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของฮีโมโกลบิน

ความรุนแรงของโรคธาลัสซีเมีย

แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. โรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรงมากที่สุด ผู้ป่วยจะเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือหลังคลอด ซึ่งระหว่างตั้งครรภ์ มารดาอาจมี ความดันโลหิตสูง ตัวบวม และครรภ์เป็นพิษได้
  2. โรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการซีดภายใน 2 ปีแรกหลังเกิด ตาเหลือง ตัวเหลือง ตับม้ามโต หน้าตาไม่เหมือนพ่อแม่ (Thalassemic Facies) และเติบโตไม่สมวัย
  3. โรคธาลัสซีเมียที่มีอาการน้อยถึงไม่มีอาการ ส่วนหนึ่งจะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเวลามีไข้สูงติดเชื้อรุนแรง จะเกิดภาวะซีดลงอย่างรวดเร็วและมีดีซ่านร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย

โรคธาลัสซีเมียสามารถตรวจพบได้ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือด โดยแพทย์จะตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ร่วมกับการตรวจเลือดด้วยวิธีพิเศษ คือ การตรวจ Hb typing และการตรวจวิเคราะห์ DNA       

เป็นแล้ว ก็รักษาได้นะ

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังต่อไปนี้

  • ดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง
  • รับประทานยา folic acid ตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะร่างกายของผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะมีการสร้างเลือดมากกว่าบุคคลทั่วไป จึงมีความต้องการ folic acid ที่มากกว่า
  • การให้เลือด เพื่อลดอาการซีดและเหนื่อย โดยแบ่งออกเป็น
  • การให้เลือดเพื่อระงับการสร้างเลือดที่ผิดปกติ (High transfusion) นิยมใช้ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยใหม่ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง เจริญเติบโตได้อย่างสมวัย การดูดซึมธาตุเหล็กจากทางเดินอาหารจะลดลง ม้ามจะไม่โต และป้องกันกระดูกใบหน้าไม่ให้เปลี่ยนแปลง แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะมีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายมาก จึงจำเป็นต้องได้ยาขับเหล็กร่วมด้วย
  • การให้เลือดแบบประคับประคอง (Low transfusion) โดยจะให้เลือดต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียเนื่องจากซีดลงจากภาวะเดิม ซึ่งมักเกิดขึ้นภายหลังภาวะไข้ติดเชื้อ
  • ตรวจประเมินหาภาวะ เหล็กเกินเป็นประจำ

ผู้ป่วยธาลัสซีเมียจะมีธาตุเหล็กสะสมจากเลือดที่ให้ (1 ml ของเม็ดเลือดแดง มีธาตุเหล็ก 1.16 mg)  และจากการดูดซึมธาตุเหล็กที่มากกว่าปกติจากทางเดินอาหาร ซึ่งเหล็กที่สะสมนี้อาจจะไปทำลายหัวใจ ทำให้หัวใจล้มเหลวได้ ทำลายตับ ทำให้ตับแข็งได้ และทำลายตับอ่อน ทำให้เป็นเบาหวานได้ จึงต้องมีการตรวจประเมินหาภาวะเหล็กเกินเป็นประจำ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การตรวจวัดปริมาณเฟอริตินในเลือด (serum ferritin)
  • การวัดโดยใช้เครื่อง MRI เพื่อประเมินภาวะเหล็กเกินในหัวใจและตับ
  • การตรวจปริมาณเหล็กในตับ (liver iron concentration, LIC) โดยใช้เข็มสุ่มตัดเนื้อเยื่อ (liver biopsy)

ใครบ้างที่ต้องใช้ยาขับเหล็ก?

  • ระดับ serum ferritin มากกว่า 1,000 ng/ml
  • ผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่ได้รับเลือดเป็นประจำมา มากกว่า 1 ปี
  • ผู้ป่วยธาลัสซีเมียได้เลือดมาแล้วประมาณ 10-20 ครั้ง
  • รักษาด้วยการตัดม้าม โดยแพทย์จะพิจารณาใช้การรักษาวิธีนี้ต่อเมื่อ
  • ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ทางเลือกเพื่อผู้ป่วยธาลัสซีเมีย

เป็นวิธีเดียวในปัจจุบันที่จะสามารถรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายได้ 75-92% แต่ไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยทุกรายได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงอันตรายจากการรักษาและค่าใช้จ่ายสูงมาก ผู้ป่วยที่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีนี้คือ ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง และมีพี่น้องบิดามารดาเดียวกัน หรือมีผู้บริจาคที่มี HLA หรือการตรวจเนื้อเยื่อตรงกับผู้ป่วย โดยโอกาสที่พี่น้องบิดามารดาเดียวกันจะตรงกันกับผู้ป่วย คือ 1 ใน 4 สำหรับผู้บริจาคมีโอกาสตรงกันกับผู้ป่วย 1 ใน 10,000 ถึง 1 ใน 100,000

ข้อควรรู้ สำหรับผู้เป็นพาหะธาลัสซีเมีย

  • ผู้เป็นพาหะสามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปสู่บุตรได้ จึงควรวางแผนก่อนการมีบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย และควรพาคู่สมรสไปตรวจเลือดก่อนมีบุตร
  • ถ้าคู่สามีภรรยาเป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิดเดียวกัน มีโอกาสที่ลูกจะเป็นโรคธาลัสซีเมีย 25% ดังนั้นเมื่อตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอด หรือ คู่สามีภรรยาจะเลือกใช้วิธีผสมเทียมเข้ามาช่วยในการมีบุตร
  • ผู้เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ควรแนะนำให้ญาติพี่น้องไปตรวจเลือดด้วย

ที่มา :ศูนย์มะเร็งและโรคเลือด โรงพยาบาลพญาไท

ข้อมูลจาก : https://www.phyathai.com

Leave a Reply