รู้ทัน-โรค

โรคภูมิแพ้ (Allergy) เมื่อร่างกายถูกบางสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ จนรบกวนชีวิตประจำวันของเรา

Views

เรื่องควรรู้

  • โรคภูมิแพ้มีต้นเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมีสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้แตกต่างกันไป เช่น อาหารบางชนิด อากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ฝุ่นและควัน แมลงบางชนิด
  • ช่วงอายุที่มักจะเกิดอาการของโรคภูมิแพ้มากที่สุดก็คือ เด็กอายุประมาณ 5-15 ปี
  • คุณสามารถพบเจอสารก่อภูมิแพ้ได้ทุกที่แม้แต่ในบ้านของตนเอง
  • โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ส่งต่อหากันได้ทางพันธุกรรม
  • คุณสามารถตรวจหาว่า ตนเองมีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ใดบ้างเพื่อให้รู้เท่าทันเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง และเพื่อหลีกเลี่ยงต่อความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งในปัจจุบัน ความชุกของโรคนี้ได้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน โดยมีจำนวน 2-8% เป็นผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และจากสถิติทั่วโลกพบว่า เด็กแรกเกิดที่มีอายุเพียง 4 ชั่วโมงก็เป็นโรคภูมิแพ้ได้แล้ว

ความหมายของโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ (Allergy) หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “โรคแพ้”  หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ร่างกายมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นบางอย่าง หรือที่เรียกได้อีกชื่อว่า “สารก่อภูมิแพ้ (Allergan)” จนร่างกายเกิดปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกัน และหลั่งสารเคมีออกมาเพื่อเป็นการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ

ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว สารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวอาจไม่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้กับกลุ่มคนทั่วๆ ไป แต่จะเกิดกับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ เท่านั้น

โรคภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัน แต่ที่สังเกตได้อย่างชัดเจน จะเป็นกลุ่มเด็กช่วงอายุประมาณ 5-15 ปี เนื่องจากช่วงอายุดังกล่าว เป็นช่วงอายุที่โรคจะแสดงอาการออกมามากหลังจากได้รับการกระตุ้นจากสารก่อภูมอมานานเพียงพอแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มคนบางส่วนที่เพิ่งเริ่มเป็นโรคภูมิแพ้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วเช่นกัน

ความหมายของสารก่อภูมิแพ้

สารก่อภูมิแพ้ หมายถึง สารที่กระตุ้นทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นมา ซึ่งสารดังกล่าว อาจเป็นสารที่ร่างกายได้รับจากการฉีด รับประทาน หายใจ สัมผัส หรืออาจเกิดจากการถูกกัดต่อยก็ได้

สารก่อภูมิแพ้เป็นสารที่คุณสามารถพบเจอได้ทุกที่ แม้แต่ในบ้านของตนเอง เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนหรือรังแคของสัตว์เลี้ยง เชื้อรา ควันบุหรี่ อาหารที่รับประทาน และยังรวมไปถึงสิ่งแสดล้อมรอบๆ บ้านด้วย เช่น เกสรหญ้า เกสรดอกไม้ ควัน หรือฝุ่นต่างๆ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้สามารถแบ่งสาเหตุออกเป็นหลักๆ ได้ 3 สาเหตุ ได้แก่

1. สาเหตุจากเดิม

สาเหตุจากเดิมที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้จะหมายถึงระบบภูมิคุ้มกันที่มีแต่เดิมจากร่างกายผู้ป่วย หรือหมายถึงพันธุกรรมโรคภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยได้รับมาจากคนในครอบครัวนั่นเอง

เพราะโรคภูมิแพ้ไม่ใช่โรคติดต่อแต่อย่างใด แต่สามารถถ่ายทอดหากันได้ทางพันธุกรรมจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ไปสู่รุ่นลูกหลาน คุณอาจสังเกตเห็นจากคนรอบตัวว่า หากใครมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ โอกาสที่คนๆ นั้นจะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยจะมีสูงกว่าปกติ

2. สาเหตุโดยตรง

เป็นสาเหตุที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของผู้ป่วย รวมถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ผู้ป่วยต้องเผชิญในทุกๆ วัน และอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้น เช่น ฝุ่น ควัน ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ ละอองน้ำฝน เชื้อราหรือเชื้อโรคในอากาศ สารเคมีจากโรงงาน การอยู่ในที่แออัดร่วมกับผู้อื่น

3. สาเหตุเสริม

เป็นสาเหตุที่ผู้ป่วยอาจบังเอิญได้รับมา และก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้น เช่น

  • ได้รับควันท่อไอเสีย หรือควันบุหรี่
  • กลิ่นฉุนจากน้ำหอมหรือจากสารเคมี
  • อากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน
  • ร่างกายที่อ่อนเพลียหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • สารปรุงแต่งจากอาหาร
  • โรคติดเชื้อที่ผู้ป่วยบังเอิญเป็นในขณะนั้น เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ โรคไข้หวัด

ประเภทของโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะและระบบในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร โดยจะแบ่งออกได้หลักๆ 5 ระบบ ได้แก่

  1. โรคภูมิแพ้ตา หรือเรียกได้อีกชื่อว่า “โรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivtis)
  2. โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ (Asthma) หรือโรคหืด
  3. โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allgergic Skin Disease) หรือ “โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis)” เช่น โรคลมพิษ
  4. โรคแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis) หรือโรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ เป็นประเภทของโรคภูมิแพ้ที่มักพบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
  5. โรคภูมิแพ้ทางเดินอาหาร (Food Allergy) หรือโรคแพ้อาหาร

อาการของโรคภูมิแพ้

อาการของโรคภูมิแพ้มักจะมีความแตกต่างกันไปตามระบบของร่างกายที่เกิดอาการแพ้ เช่น

  • โรคภูมิแพ้ตา: ผู้ป่วยจะมีอาการคันระคายเคืองตา น้ำตาไหล และตาชื้นมากขึ้น ต้องขยี้ตาตลอดเวลา ตาขาวเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดง และอาจมีอาการตาไวต่อการรับแสงมากกว่าปกติ
  • โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ: ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกหรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะช่วงกลางคืนหรือขณะออกกำลังกาย และอาจมีเสียงวี้ดในขณะหายใจ
  • โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง: ผู้ป่วยจะมีอาการคัน มีผื่นหรือผดขึ้นตามตัว มีสะเก็ดน้ำเหลืองๆ ที่แห้งกรังปกคลุมตามผิวหนัง หรือตามผิวหนังอาจมีตุ่มบวม รู้สึกคัน และผิวหนังนูนขึ้นเป็นปื้นนูนสีแดง ในเด็กเล็กมักจะเป็นตามแก้ม ก้น ข้อเข่า ข้อศอก ส่วนเด็กโต มักจะเป็นตามข้อพับในร่างกาย
  • โรคภูมิแพ้อากาศ: นอกเหนือจากอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หูอื้อ ปวดหัว รู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่ายกว่าเดิม กลิ่นปากแรงขึ้นและไอเรื้อรัง
  • โรคภูมิแพ้ทางเดินอาหาร: ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปากบวม ท้องอืด อาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและผิวหนังเข้ามาร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก หอบหืด มีผื่นขึ้น คอบวม

นอกจากนี้ ยังมีอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ซึ่งเป็นอาการภูมิแพ้ที่จะเกิดขึ้นกะทันหันภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้ และอาการของผู้ป่วยจะร้ายแรงกว่าอาการของโรคภูมิแพ้ทั่วไปหลายเท่า โดยผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตได้หากไม่รีบปฐมพยาบาลให้ทันเวลา 

การตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้

หลังจากที่แพทย์ได้ซักประวัติสุขภาพ สอบถามว่าคุณมีคนในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ด้วยหรือไม่ รวมถึงตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้ว แพทย์อาจมีการตรวจหรือทดสอบอาการของคุณ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคด้วยวิธีต่อไปนี้

1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) เป็นการทดสอบโดยนำน้ำยาที่มีส่วนประกอบของสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่นในบ้าน เกสรหญ้า วัชพืช มาทดสอบที่ผิวหนังผู้ป่วย เพื่อให้ทราบว่าแพ้สารชนิดใดบ้าง วิธีทดสอบแบบนี้จะมีข้อดีที่ความรวดเร็ว ทดสอบง่าย ราคาไม่แพง และทราบผลได้ทันที

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังสามารถทำได้ 2 วิธีคือ

  • วิธีสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) โดยแพทย์จะหยดน้ำยาลงไปแล้วใช้เข็มสะกิดเปิดผิวหนังชั้นบนบริเวณที่หยดน้ำยาลงไปออก หากผู้ป่วยแพ้สารดังกล่าวก็จะเกิดรอยนูนและเป็นผื่นแดง
  • วิธีฉีดเข้าผิวหนัง แพทย์จะฉีดน้ำยาทำให้เกิดรอยนูนเป็นจุดเล็กๆ และจะวัดผลใน 20 นาทีหลังจากฉีด โดยดูจากรอยนูนที่ขยายใหญ่ขึ้น วิธีทดสอบแบบนี้จะมีความยากกว่า เสียเวลานานกว่า เจ็บกว่า ต้องใช้อุปกรณ์มากกว่า และอาจเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายได้

2. ทดสอบโดยการตรวจเลือด (Blood Test Allergy) เป็นวิธีทดสอบภูมิแพ้ซึ่งสามารถตรวจในผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถทดสอบภูมิแพ้โดยวิธีสะกิดผิวหนังได้ และยังเป็นวิธีที่สามารถเห็นค่าการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ได้โดยตรงด้วย แต่ผลตรวจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5-7 วัน และมีราคาค่อนข้างแพง

การรักษาโรคภูมิแพ้

วิธีรักษาโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ ทำให้ร่างกายของตนเองแข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ไม่ยาก นั่นก็คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอ ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไป

นอกจากนี้ หากคุณได้รับยาจากแพทย์หลังจากได้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้แล้ว ให้ใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครียด ไม่ว่าจะเป็นยารับประทานหรือยาพ่นจมูก

และอีกสิ่งที่สำคัญมากในการรักษาภูมิแพ้ก็คือ ให้คุณหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ให้ห่างจากตัว เพื่อบรรเทาอาการเกิดโรคไม่ให้เกิดขึ้นบ่อยจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

การป้องกันโรคภูมิแพ้

ถึงแม้คุณจะไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายอ่อนแอลงจนเสียงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ในภายหลัง การควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้อยู่ในสภาพที่สะอาด และไม่เป็นแหล่งรวมของสารก่อภูมิแพ้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น

  • รักษาอุณหภูมิของร่างกายให้ให้อบอุ่นอยู่เสมอ อย่าอยู่ในที่เย็นจัดหรือร้อนจัดเกินไป รวมถึงอย่าสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น
  • หมั่นทำความสะอาดบ้านให้สะอาดเพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องประอากาศ บริเวณที่มักเป็นที่รวมตัวของฝุ่นและสิ่งสกปรก และควรใช้เครื่องดูดฝุ่นแทนไม้กวาด เพราะจะไม่ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายไปในอากาศ
  • สวมผ้าปิดปาก และจมูกเมื่ออยู่ในที่แออัด หรือในที่ที่มีมลพิษทางอากาศ
  • ตากเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ไว้ในที่แดดจัดๆ ทุกครั้ง เพราะแสงแดดช่วยฆ่าไรฝุ่นได้
  • กำจัดแมลงสาบ มด แมลงที่เสี่ยงจะกัดต่อย และทำให้เกิดแผลหรือโรคภูมิแพ้ได้
  • หากมีสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้าน ให้คุณพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดยาป้องกันโรค และให้บำรุงขนเพื่อไม่ให้ขนสัตว์ร่วงจนกลายเป็นสิ่งสกปรกในบ้านรวมถึงเก็บสิ่งขับถ่ายให้เป็นที่ทางและอย่าหมักหมม เพราะจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค และส่งกลิ่นเหม็น
  • เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เป็นเมนูประหลาด มีส่วนประกอบที่อาจเสี่ยงให้เกิดอาการแพ้อาหาร หรือระคายเคืองกระเพาะอาหาร และให้ระมัดระวังอาหารที่มักเสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้
  • หากพบว่าตนเองมีอาการที่คล้ายกับโรคภูมิแพ้ แต่ได้รับจากสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่เคยแพ้มาก่อน ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อหาทางรักษา และป้องกันไม่ให้อาการภูมิแพ้ลุกลามมากกว่าเดิม
  • ตัดหญ้าหรือวัชพืชเพื่อป้องกันละอองที่อาจทำให้เกิดภูมิแพ้
  • ดูดฝุ่นทำความสะอาดรถยนตร์ของคุณอยู่เสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • หมั่นหากิจกรรมคลายเครียดให้กับตนเอง และไม่หักโหมทำงานจนดึกดื่น เพราะร่างกายที่อ่อนเพลีย และเหนื่อยล้า จะเสี่ยงต่อเป็นโรคภูมิแพ้ได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้

การป้องกันตนเองให้ห่างไกลโรคภูมิแพ้มีหลักการที่ไม่ซับซ้อน หากคุณรู้ว่าตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้อะไร ก็ให้อยู่ห่างสารก่อภูมิแพ้นั้น เมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอาการแพ้สารบางอย่างที่ไม่เคยรู้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการให้แน่ใจ เพียงเท่านี้ โอกาสที่คุณจะเป็นโรคภูมิแพ้ก็จะมีน้อยลง

ข้อมูลจาก https://www.honestdocs.co

Leave a Reply