มะเร็งต่อมลูกหมาก

ชายไทยเสี่ยง “มะเร็งต่อมลูกหมาก” จาก “ฟาสต์ฟู้ด”

Views

สถิติพบว่า ผู้ชายไทยอายุ 50 ปีขึ้นไปเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงมาจากอาหารการกิน โดยเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีส่วนประกอบของเนย นม ชีสมาก

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ชายไทยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น โดยมีอุบัติการณ์อยู่ที่ 2.5-3 รายต่อแสนประชากร จากเดิมเป็นมะเร็งชายไทยอันดัน 7-8 ปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 4 ของโรคมะเร็งทั่วไปในชายไทย โดยปัจจัยหนึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารที่มีนม เนย ชีสต์เพิ่มมากขึ้น


ปัจจัยเสี่ยง มะเร็งต่อมลูกหมาก

  • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีพ่อหรือพี่ชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเป็นสูงกว่าคนทั่วไป 3 เท่า

  • อายุที่เพิ่มขึ้น อายุที่เสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าวัยอื่นๆ คืออายุมากกว่า 50 ปี

  • น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อ้วนลงพุง

  • พฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่เน้นไขมันสูง เนื้อแดง มากเกินไป และรับประทานผักผลไม้น้อย


สัญญาณอันตราย “มะเร็งต่อมลูกหมาก”

ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่หมด กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ ปวดเวลาปัสสาวะหรือมีเลือดปนออกมา รวมทั้ง ไม่มีแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดหลัง ปวดกระดูก น้ำหนักลด หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัย


ตรวจพบก่อน รักษาให้หายได้ก่อน

 

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หากตรวจพบในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ และการคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยมะเร็งตั้งแต่เริ่มแรกมีผลให้อัตราการเสียชีวิตลดลง 21% และสามารถลดมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามขณะวินิจฉัยได้


วิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  1. ระยะที่ 1-2 มะเร็งยังไม่แพร่กระจายสามารถรัษาให้หายขาดได้ ด้วยการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด การฝังแร่รังสี

  2. ระยะที่ 3-4 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ตับ ไต ปอดและต่อมน้ำเหลือง อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางรายถึงขั้นเป็นอัมพาต ทำการรักษาได้เพียงลดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมียาบางชนิดช่วยฉีดประคับประคอง


วิธีลดความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดอาหารมัน ควบคุมคอเลสเตอรอล

  2. กินอาหารไทยที่อุดมด้วยพืช ผัก ผลไม้ที่มีไลโคปีน เช่น แตงโม มะเขือเทศสุก ผักตระกูลกะหล่ำ ผลิตภัณฑ์จากเต้าหู้และถั่วเหลือง ซึ่งจะสามารถช่วยยับยั้งโอกาสป่วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากได้

  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์

  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอราว 6-8 ชั่วโมงต่อคืน