งูสวัดสุขภาพผู้สูงอายุ

โรคงูสวัดกับผู้สูงอายุ

Views

โรคงูสวัด (Herpes Zoster, Shingles) คืออะไร
 

โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ทำให้มีอาการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดแสบร้อน และมีผื่นขึ้นตามแนวเส้นประสาท บริเวณที่พบได้บ่อยคือ แนวบั้นเอวหรือแนวชายโครง บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้าหรือแขนขาก็ได้

โรคงูสวัดรุนแรงมากขนาดไหน
 

ผู้สูงอายุจะมีการแพร่กระจายของโรคและความรุนแรงของโรคมากขึ้นตามอายุ  โดยกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปที่เป็นงูสวัด จะมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (Post-Herpetic Neuralgia) ซึ่งอาการจะเป็นยาวหลายเดือนหรืออาจเป็นปีได้ อาการปวดจะเป็นมาก จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทานอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ จนทำให้เกิดความเครียด และในผู้ป่วยบางรายถึงกับฆ่าตัวตายเพราะอาการปวด

ใครมีความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัด
 

ทุกคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคงูสวัด และยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสเป็นได้มาก เนื่องจากภูมิต้านทานของร่างกายที่ลดลง  โดยอุบัติการณ์การเกิดงูสวัดจะพบประมาณร้อยละ 30  ในประชากรทั่วไป และจะเพิ่มถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุถึง 85 ปี

จะป้องกันการเกิดงูสวัดได้อย่างไร
 

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งผู้สูงอายุทุกคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปควรได้รับวัคซีนทุกคนถ้าไม่มีข้อห้าม รวมไปถึงคนที่เคยเป็นงูสวัดมาแล้วก็ยังควรจะได้รับวัคซีน เพราะวัคซีนจะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำและลดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอาการปวดตามแนวเส้นประสาทที่พบตามมาได้บ่อยๆ

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
 

อาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงที่พบได้ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน คือมีอาการบวมแดง และคันในตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ไม่ต่างกับการฉีดวัคซีนตัวอื่น  ซึ่งอาการนี้จะพบได้ ใน 1-2 วันแรกหลังฉีดและจะหายไปได้เอง  และผลข้างเคียงอืนที่พบได้คืออาการปวดศีรษะ ซึ่งพบแค่ ประมาณ 1 ใน 70 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน

ขอขอบคุณ https://www.bangkokhospital.com

บทความโดย พญ.พัณณิดา วัฒณพนม
ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์

Leave a Reply