โรคหัวใจ

6 อาการเสี่ยงโรคหัวใจ

27245454 - young man with strong chest pain, horizontal
Views

  อาการที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจ โดยแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่โรคหัวใจก็ได้ เช่น อาการเหงื่อออกปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งหากไม่พบอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยมักไม่ใช่โรคหัวใจ อาจเป็นภาวะปกติที่เกิดในคนทั่วไปได้

                   นพ.ไพโรจน์ ฉัตรานุกูลชัย ศูนย์โรคหัวใจ  รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า คำว่า “โรคหัวใจ” คือคำกว้างๆ ที่หมาย ความครอบคลุมโรค และอาการหลากหลายเกี่ยวกับการทำงานหัวใจที่ผิดปกติ โดยสามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 2.หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ 3.ลิ้นหัวใจผิดปกติ และ 4.เยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติ

          6 อาการเสี่ยงโรคหัวใจ คือ 1.การที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน การสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมทางครอบครัว 2.อาการแน่นหน้าอก คนไข้จะรู้สึกเหมือนมีคนมานั่งทับหน้าอกเรา มาเหยียบหน้าอกเรา มีอาการร้าวขึ้นกรามด้านซ้าย ร้าวไปถึงท้องแขนด้านซ้ายหรือร้าวลงมาบริเวณท้อง ร่วมกับอาการเหงื่อแตกใจสั่นร่วมด้วย 3.มีอาการหน้ามืด เป็นลมหมดสติ มีอาการวูบไม่รู้สึกตัวกะทันหัน 4.มีอาการใจสั่น ใจเต้นเร็วและรัวกะทันหัน 5.มีอาการเหนื่อย ไม่สามารถนอนราบได้ นอนกลางคืนแล้วต้องตื่นมานั่งหอบ เดินใกล้ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องระวังอาจจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว 6.อาการขาบวม บริเวณหน้าแข้งหรือบริเวณปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง หากใช้นิ้วมือกดลงไปจะพบว่าเนื้อบุ๋มลงไปและเมื่อยกนิ้วขึ้นมาเนื้อก็ยังไม่คืนตัวร่วมกับมีอาการเหนื่อย นอนราบไม่ได้ มีอาการแน่นท้องมากขึ้น ถ้ามีอาการดังกล่าวควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยด่วน

          อาการที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจ โดยแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่โรคหัวใจก็ได้ เช่น อาการเหงื่อออกปลายมือ ปลายเท้า ซึ่งหากไม่พบอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยมักไม่ใช่โรคหัวใจ อาจเป็นภาวะปกติที่เกิดในคนทั่วไปได้ อาการเจ็บแปล๊บหน้าอกขึ้นมา คนไข้อาจจะรู้สึกว่ามีอาการกดเจ็บบริเวณหน้าอก หรือเมื่อหายใจเข้าลึกๆ แล้วเจ็บหน้าอก อาการเช่นนี้ไม่ใช่อาการของภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจจะเป็นอาการของกล้ามเนื้อทรวงอก หรือกล้ามเนื้อซี่โครงผิดปกติ หรืออาจจะเป็นอาการของเยื่อหุ้มปอดผิดปกติ ซึ่งต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้วินิจฉัยผลได้เที่ยงตรง

          สำหรับการรักษาโรคหัวใจที่ดีที่สุดคือ การป้องกันก่อนการเกิดโรค โดยการออกกำลังกาย (อ.ออกกำลังกาย) ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ (อ.อ้วน) การควบคุมอาหาร ไม่รับประทานรสจัดหรือมันจนเกินไป (อ.อาหาร) ทำอารมณ์ให้แจ่มใส (อ.อารมณ์) อยู่ในสภาวะแวดล้อมอากาศที่ดี (อ.อากาศ) ร่วมกับหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ  เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราห่างไกล “โรคหัวใจ” ได้

ขอขอบคุณ https://www.thaihealth.or.th

Leave a Reply