มะเร็งปากมดลูกรู้ทัน-โรค

เมื่อเป็นมะเร็งปากมดลูก ไม่ต้องตกใจโปรดสนใจทางนี้

Views

            การจะสรุปว่าท่านเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก โดยทั่วไปจะต้องมีการตรวจเนื้อทางพยาธิวิทยา ซึ่งมักจะได้จากการขลิบเนื้อจากบริเวณปากมดลูกไปตรวจ หรือจากการตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย หลังจากนั้น แพทย์จะตรวจเพื่อจัดแบ่งระยะของโรค เพื่อวางแผนในการรักษาที่เหมาะสมที่สุดต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปต้องอาศัยการตรวจร่างกาย การตรวจภายใน และการตรวจทางทวารหนัก อาจจะต้องอาศัยการตรวจโดยการส่องกล้องดูในกระเพาะปัสสาวะ และทางทวารหนัก และการตรวจเอ็กซ์เรย์ปอด ร่วมกับการตรวจดูทางเดินปัสสาวะ โดยการฉีดสารทึบรังสีและเอ็กซ์เรย์ดู เมื่อทราบระยะของโรคแล้ว แพทย์จึงจะเริ่มให้การรักษา

การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 มีการรักษาที่เป็นมาตรฐานอยู่ 2 วิธี

  1.   การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นการตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคน คือการตัดมดลูกออกแบบกว้างขวาง หมายความว่า จะตัดเนื้อเยื่อรอบตัวมดลูกออกด้วย ส่วนการจะตัดรังไข่ออกหรือไม่นั้น อาจจะพิจารณาจากอายุผู้ป่วยว่ายังจำเป็นต้องการฮอร์โมนจากรังไข่หรือไม่ การผ่าตัดนี้รวมถึงการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกด้วย เนื่องจากการผ่าตัดนี้เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจำเป็นต้องคาสายปัสสาวะไว้หลายวันหลังจากผ่าตัดจึงจะถอดสายปัสสาวะออกได้ การผ่าตัดรักษามักจะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ ประมาณมากกว่า 80%

โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะกลัวความเจ็บปวด ซึ่งปัจจุบันการแพทย์เจริญมาก มีวิธีทางการแพทย์และรวมทั้งมียาที่ช่วยให้ผู้ป่วยแทบไม่มีอาการเจ็บปวดระหว่างและหลังการผ่าตัดเลย และอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยกลัวคือความเสี่ยงของการผ่าตัด ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยให้ความปลอดภัยของการผ่าตัดรักษาสูงมากเกือบ 100% จึงไม่น่าจะต้องเป็นห่วงเกินไป ผู้ป่วยบางคนเข้าใจผิดว่าการผ่าตัดทำให้มะเร็งกระจาย ซึ่งไม่เป็นความจริง การได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความสูญเสียร้ายแรง แม้กระทั่งการสูญเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น

  1.   การรักษาโดยรังสีรักษา ซึ่งปัจจุบันนิยมให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น การรักษาวิธีนี้ได้ผลการหายใกล้เคียงกับการรักษาด้วยการผ่าตัด รังสีรักษาประกอบด้วย การฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อครอบคลุมส่วนที่โรคอาจจะกระจายออกไป และการใส่แร่ซึ่งเน้นการทำลายมะเร็งที่บริเวณปากมดลูก รังสีรักษาไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แพทย์มักแนะนำให้รับการรักษาวิธีนี้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการรักษาโดยการผ่าตัดสูง หรือผู้ป่วยที่อายุมาก ๆ

การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 – 4

การรักษามาตรฐาน คือ การรักษาโดยรังสีรักษา ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าในปัจจุบันแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ช่วยให้อัตราการหายจากโรคสูงขึ้น

หลังจากการรักษาแล้วแพทย์จะนัดตรวจติดตามผลเป็นระยะ ๆ อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี โดยใน 2 ปีแรกจะนัดตรวจประมาณ 3 – 4 เดือนครั้ง หลังจากนั้นจะนัดตรวจ 6 เดือนครั้ง โปรดร่วมมือมาตรวจตามนัด

โปรดจำไว้ว่ามะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่รักษาให้หายขาดได้สูง อย่าหลงผิดไปรักษาผิดทาง เช่น การไปรักษาโดยยาสมุนไพร หรือกลัวการรักษาจนเกินเหตุ ทำให้โรคเป็นมากขึ้น จนโอกาสหายจากโรคน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะย้ำเตือนคือ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองเป็นระยะ ๆ และปัจจุบันนี้มีวัคซีนซึ่งช่วยป้องกันได้อย่างน้อย 70% จึงช่วยให้การป้องกันโรคนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ขอบคุณที่มา

รศ.นพ.ชัยยศ  ธีรผกาวงศ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ 
– นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล